แกนนำพูโลรับก่อเหตุระเบิด เรียกร้องคณะพูดคุยขยายกลุ่มเจรจา
2022.04.15
ปัตตานี

นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานขบวนการพูโล เปิดเผยว่า เหตุวางระเบิดที่สายบุรีที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย และเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 นาย ในวันศุกร์นี้ เป็นฝีมือของทางกลุ่มพูโลที่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เจรจากับฝ่ายผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่ใช่กลุ่มบีอาร์เอ็นเพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณตีสามของวันศุกร์นี้ ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่บ้านละหาร หมู่ที่ 8 ต.แป้น อ.สายบุรี จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย แล้วยังได้จุดระเบิดอีกหนึ่งลูก ในเวลาเก้าโมงเช้าอีกครั้ง ทำให้ทีมตำรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดได้รับบาดเจ็บ 3 นาย
“เหตุการณ์วันนี้ ต้องการจะบอกคณะพูดคุยฯ ว่า ต้องเจรจากับทุกกลุ่ม ปาตานีมันไม่ใช่ของบีอาร์เอ็นเท่านั้น” นายกัสตูรี มาห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ นายกัสตูรี กล่าวว่า การระเบิดครั้งนี้ ถือเป็นปีกหนึ่งของพูโลที่วางระเบิด โดยกลุ่มพูโลมีเครือข่ายกองกำลัง 5 ปีก ในสามจังหวัดชายแดนใต้
“พูโลมีหลายพวก มีเสือสองตัว, มีงู, มีเหยี่ยว, มีตะขาบ มีทั้งหมด 5 ปีก แต่ละปีกจะเเบ่งเขตรับผิดชอบ แต่ไม่สามารถเปิดข้อมูลได้ว่าปีกไหนดูแลเขตไหน” นายกัสตูรีกล่าว
เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและตัวแทนบีอาร์เอ็น ได้ร่วมการเจรจาเพื่อสันติสุข ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2565 และมีข้อตกลงว่าจะยุติการใช้ความรุนแรงชั่วคราว ในช่วง 40 วัน ของการถือศีลอด ซึ่งเรียกข้อตกลงนี้ว่า “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข”
เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามฝ่ายบีอาร์เอ็นในมาเลเซียในวันนี้ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตัวแทนบีอาร์เอ็น ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
ร่างของนายนาวี ประมนต์ ชาวบ้านที่โดนระเบิดเสียชีวิตถูกปล่อยอยู่บนถนน ในพื้นที่บ้านละหาร ต.แป้น อ.สายบุรี ปัตตานี ขณะที่ทีมเก็บกู้ระเบิดโดนวางระเบิดซ้ำ วันที่ 15 เมษายน 2565 (ภาพจากเจ้าหน้าที่ไทย)
พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในการแถลงข่าวช่วงบ่ายวันศุกร์นี้ว่า ผู้ก่อเหตุหมายทำร้ายประชาชนโดยตรง และล่อเจ้าหน้าที่สู่พื้นที่สังหาร
“นายนาวี ประมนต์ ได้ออกไปหาปลาที่บริเวณอ่างเก็บน้ำในหมู่บ้าน โดยระเบิดดังกล่าวคาดว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เตรียมไว้สำหรับลอบทำร้ายประชาชนที่ออกมาหาปลาในอ่างเก็บน้ำใกล้กับที่เกิดเหตุ เพื่อลวงให้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสอบและวางระเบิดซ้ำ” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
โดยในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบใบปลิวที่มีสัญลักษณ์รูปหัวเสือ และอักษร G5 ซึ่งหมายถึงขบวนการพูโล พร้อมมีข้อความภาษามลายูว่า “DAULAT TUANKU G5 ASKAR DI-RAJA PATANI” ซึ่งแปลว่า “กองทัพหลวงปาตานี”
เหตุระเบิดครั้งที่สอง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ประกอบด้วย 1. ด.ต. เกษม บัวเทศ อายุ 50 ปี และ 2. ด.ต. ทนงศักดิ์ เจ๊ะสา อายุ 40 ปี ทั้งคู่มีอาการสาหัส ถูกนำตัวไปรักษาที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ส่วน 3. ร.ต.อ. พนม ขวัญอ่อน อายุ 50 ปี ได้รับบาดเจ็บอาการไม่สาหัส ถูกนำตัวไปรักษาที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี โดยหน้าที่เก็บกู้ระเบิดแสวงเครื่องอีก 1 ลูก ที่ถูกซ่อนไว้ห่างจากจุดเกิดเหตุ 50 เมตรได้
ด้าน พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 และเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ คณะพูดคุยฯ ระบุว่า ในขั้นตอนแรกก็มีการพูดคุยกันและช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นคนกลุ่มไหนที่ก่อเหตุ
“ดูเหมือนภาพที่แสดงออกมาเป็นการกระทำของกลุ่มพูโล โดยมีเหตุผลสนับสนุนว่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติสุขที่จะก่อให้เกิดความสงบตามมา เพราะกลุ่มของตนไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยฯ... กระทบแต่ไม่กระเทือน ทุกฝ่ายต้องมุ่งมั่นช่วยกันสร้างสันติสุขด้วยความจริงใจอย่างอดทน” พล.ท. ธิรา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ภาพใบปลิวที่มีสัญลักษณ์รูปหัวเสือ และข้อความที่หมายถึงขบวนการพูโล และ “กองทัพหลวงปาตานี” (ภาพ เจ้าหน้าที่ไทย)
บีอาร์เอ็น พูโล และการพูดคุยพื่อสันติสุข
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2565 เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและตัวแทนบีอาร์เอ็น ได้ร่วมการเจรจา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และมีข้อตกลงว่าจะยุติการใช้ความรุนแรงชั่วคราว รวมทั้งรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วันของการถือศีลอด ซึ่งเรียกข้อตกลงนี้ว่า “ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข”
ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า มีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน เพื่อร่วมการถือศีลอดกับครอบครัวกว่า 200 คน และกลับมาแล้วอย่างน้อย 55 คน
ขบวนการพูโล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2511 โดย ตือ ตนกูบีรอ กอตอนีรอ เป็นทายาทของราชวงศ์ปาตานี แต่พูโลได้อ่อนแอลงในประมาณช่วงปี 2530 และแกนนำคนสำคัญ เช่น หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ และหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ถูกตัดสินจำคุกในปี 2541
นายกัสตูรี ได้นำกลุ่ม PULO-MKP ร่วมมือกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้อื่น ๆ เช่น บีอาร์เอ็น จีเอ็มไอพี และ บีไอพีพี เพื่อจัดตั้งองค์กรร่มมาราปาตานี เพื่อเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย โดยเปิดตัวเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2558 ในการพบปะแบบตัวต่อตัวของทั้งสองฝ่ายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ก่อนที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยึดการเจรจาไว้เป็นของตนกับฝ่ายไทย ในต้นปี พ.ศ. 2563
ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด มีความอ่อนไหวต่อการเจรรา
“ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะถ้าเกิดเหตุลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าคณะพูดคุยฯ จะต้องมีการพูดคุยหลาย ๆ ฝ่าย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ กระบวนการตรวจสอบจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งต้องใช้ความอดทน” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นายอับดุลเลาะ อีซอ พ่อค้าชาวจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวเรียกร้องให้ยุติการทำร้ายหรือสังหารประชาชน
“เหตุครั้งนี้โดนชาวบ้านนะ ไม่ดีเลย จะทำอะไรก็ทำไป แต่อย่าให้โดนชาวบ้าน ไม่ว่าจะพุทธหรือมุสลิม ไม่ว่าจะอ้างอะไรก็ไม่ใช่สาระเลย จะสู้กันก็ไม่ว่าแต่อย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่นี่ทำให้ชาวบ้านตายด้วย เขาผิดอะไร” นายอับดุลเลาะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
หลังจากการเจรจาของฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นครั้งล่าสุด ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นหลายครั้ง ซึ่งไม่มีผู้ประกาศความรับผิดชอบหรือมีข้อสรุป โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน มีเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี, วันที่ 7 เมษายน คนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.สายบุรี, วันที่ 8 เมษายน 2565 เกิดเหตุประทัดยักษ์ระเบิดที่ อ.รามัน จ.ยะลา, วันที่ 9 เมษายน มีเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และวันที่ 10 เมษายน มีเหตุคนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิต1 ราย ใน อ.เมือง จ.ปัตตานี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันตั้งแต่ปี 2556
มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน