ขบวนนักศึกษาแห่งชาติยัน ไม่คิดแบ่งแยกดินแดน

มารียัม อัฮหมัด
2023.06.13
ปัตตานี
ขบวนนักศึกษาแห่งชาติยัน ไม่คิดแบ่งแยกดินแดน ประชาชนยืนสังเกตการณ์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบศพของผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ หลังการยิงปะทะกับทหารพราน ในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2559
เอเอฟพี

ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar bangsa) ยืนยันการทำประชามติจำลอง “คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” เมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน และเชื่อว่าการให้คนปาตานีกำหนดชะตากรรมตนเอง คือทางออกของปัญหาชายแดนใต้

ด้าน พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้จัดทำประชามติจำลองดังกล่าว เพราะเชื่อว่า เข้าข่ายผิดกฎหมาย

สืบเนื่องจากวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 มีงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ซึ่งเชิญตัวแทนว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหว เข้าร่วมเสวนาจำนวนหลายสิบคน ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

โดยในงานนั้นมีการให้ผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามว่า “คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” ซึ่งต่อมากิจกรรมนี้ถูกวิจารณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตว่า อาจเข้าข่ายแบ่งแยกดินแดน

นายฮุซเซ็น บือแน เลขาธิการ ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เขตยะลา เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงประเด็นดังกล่าวว่า กิจกรรมในงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) เมื่อพุธที่แล้ว เป็นกิจกรรมที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี

“สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารจริง ๆ ก็คือ คุณเห็นด้วยหรือเปล่า กับการที่จะให้ประชาชนได้มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ได้ออกมาทำประชามติ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ถามว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่า คุณต้องการเอกราช สิ่งที่เราทำยังอยู่ภายใต้กฎหมาย เราเชื่อว่า ถ้าสิทธิเสรีภาพในการพูดคุยยังผิดกฎหมาย ตัวกฎหมายต่างหากที่ผิดปกติ” นายฮุซเซ็น กล่าว

ด้าน นายอักรอม วาบา รองประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ชี้ว่า “เราต้องยอมรับว่า คนที่นี่บางกลุ่มไม่ได้ต้องการเอกราช บางกลุ่มคนที่ถืออาวุธก็บอกว่า คนที่นี่ต้องการเอกราช พอมันเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมีกระบวนการอย่างหนึ่งที่จะต้องพิสูจน์ว่า จริง ๆ แล้วคนที่นี่ต้องการอะไร ซึ่งเป็นขบวนการที่เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา”

นายอักรอม ระบุว่า การตีความของสื่อมวลชน หรือคนบางกลุ่มในสังคมทำให้กิจกรรมของพวกเขาถูกเข้าใจผิดว่า ต้องการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงมีพรรคการเมืองบางพรรคอยู่เบื้องหลัง ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง และทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีบุคคลต้องสงสัยตามไปที่บ้านพักของสมาชิกขบวนฯ บางคน

“ล่าสุดก็มีนอกเครื่องแบบไปถ่ายรูปหน้าบ้านสมาชิกของพวกเราด้วย มันไม่สมควรมาก ๆ เพราะมันเป็นสิทธิของนักศึกษา ประชาชน ในการแสดงออก พูดคุย มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย” นายอักรอม กล่าว

ในประเด็นเดียวกัน พล.ท. ศานติ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่า เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยอาจดำเนินการกับพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

“เห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย ฝากพี่น้องประชาชนช่วยทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล แนะนำบุตรหลานของท่านที่อยู่ในประเทศไทยว่า การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดนและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ และที่สำคัญเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกส่วนด้วยดีมาเสมอ” ​พล.ท. ศานติ กล่าว

ในวันเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ประเด็นนี้ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายความมั่นคงกำลังดำเนินการติดตามอยู่ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องการที่สุดคือ ไม่ต้องการให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กลับมารุนแรงอีกครั้ง

นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก จากกลุ่ม The Patani ในฐานะผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเมื่อวันพุธที่แล้ว ชี้ว่า กิจกรรมของขบวนฯ เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้

“สิ่งที่เราเห็นขบวนนักศึกษาแห่งชาติทำ คือ การนำข้อถกเถียงที่มีในสังคมปาตานีมานานมาคุย เป็นเรื่องธรรมดามาก เช่นเดียวกับประเด็นเรื่อง ม. 112  ผมเข้าใจว่าที่ขบวนอยากจะทำคือ หากวันนึงรัฐไทยเติบโตมีประชาธิปไตยเพียงพอ รัฐไทยก็จะเปลี่ยนกฎหมายไปสู่การให้สิทธิให้คนท้องถิ่นกำหนดอนาคตของตัวเอง ไม่ได้แปลว่า เขาจะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ” นายอาเต็ฟ กล่าว

ด้าน น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ แสดงความเห็นต่อท่าทีของฝ่ายความมั่นคงว่า เป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากนักศึกษา และอาจใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย

“ถ้าใช้กฎหมายดำเนินคดีก็อาจเรียกว่า กฎหมายปิดปาก (SLAPP) เป็นการตีความกฎหมายของคนอ่านหนังสือไม่แตก เป็นการทำงานกระบวนการสันติภาพ แต่ไม่เข้าใจกระบวนการสันติภาพที่ตัวเอง (คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปประชุมร่วมมาตลอด 2 ปี หรือเป้าหมายของเขา (ทหาร) อาจจะอยากล้มนักการเมืองที่จะมายุบ กอ.รมน.” น.ส. อัญชนา กล่าว

สำหรับเรื่องนี้ นายปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ประเด็นนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

“พอพูดเรื่องแบ่งแยกดินแดน เราจะเห็นความโกรธ ความไม่พอใจมากมายเต็มไปหมด ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ก็ควรทำความเข้าใจกับสังคมต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจน ขณะที่ ฝ่ายความมั่นคงก็ควรใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะ การสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษา คือการพูดคุยอย่างสันติวิธีของเยาวชนในพื้นที่ทางวิชาการ” นายปิยพงษ์ กล่าว

ในวันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 3 เดือน ยกเว้น อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง อ.มายอ อ.ไม้แก่น และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อ.เบตง และ อ.กาบัง จ.ยะลา) โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2566

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง