ผู้เชี่ยวชาญ : เหตุรุนแรงต่อเนื่องในชายแดนใต้จะไม่กระทบการพูดคุย
2022.02.03
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์

การพูดคุยระหว่างฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นแบบตัวต่อตัวจะยังไม่สะดุดลง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หลังจากที่สองฝ่ายได้พบปะกัน เมื่อก่อนกลางเดือนที่แล้ว ผู้อำนวยความสะดวกและผู้เชี่ยวชาญ กล่าว
ในตอนเช้าของวันพฤหัสบดีนี้ (3 ก.พ. 65) เจ้าหน้าที่ได้ปิดล้อมกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่หลบซ่อนอยู่ในโรงเรียนตาดีกา ใกล้กับมัสยิดในพื้นที่บ้านโคกเค็ด หมู่ที่ 6 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา และเกิดการยิงปะทะเป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตรวม 3 ราย
“เจ้าหน้าที่จึงบังคับใช้กฎหมายติดตามควบคุมตัว และขณะที่วางกำลังปิดล้อมจะเข้าจุดเกิดเหตุ ได้เกิดการปะทะกัน เบื้องต้นทำให้คนร้ายเสียชีวิต 3 คน” พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวและระบุว่า เหตุเกิดหลังจาก มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาหลบซ่อนในพื้นที่
กองกำลังความมั่นคง ใช้รถกระบะจำนวน 10 คัน และรถหุ้มเกราะ 2 คัน ในการปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ปิดล้อมในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สาม ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม เป็นต้นมา ทำให้ฝ่ายขบวนการเสียชีวิต 7 คน ส่วนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บอย่างน้อยสองนาย
ด้าน นายอับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเจรจาจะไม่สะดุดลง
“ไม่ได้มีข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายว่า จะไม่มีเหตุรุนแรงในระหว่างช่วงการเจรจา เหตุการณ์ที่คล้ายกันจะเกิดขึ้นได้ จนกว่าจะมีการลงนามในสัญญา นั่นคือความเห็นส่วนตัวของผม รัฐบาลไทย และแม้แต่ฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถควบคุมคนในพื้นที่ของเขาได้ ผมไม่ทราบว่า เขาหมายถึงว่าจะไม่แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่” นายราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“เหตุเหล่านั้น จะไม่ส่งผลต่อการพูดคุย การเจรจาและการสนทนาจะดำเนินไปตามปกติ”
จริง ๆ แล้ว หลังเสร็จสิ้นการพูดคุยเมื่อวันที่ 11-12 เดือนมกราคมนี้ อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงข่าวในวันถัดมาว่า “เราไม่เคยประกาศว่า มันคือหยุดยิง เพียงแต่ว่าเราหยุดการโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ในระหว่างที่ดำเนินการพูดคุย แต่เราถูกโจมตี ทำให้เราต้องป้องกันตัวเอง”
มาเลเซียได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ในครั้งล่าสุด ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยสารัตถะจำนวน 3 เรื่อง คือ 1) การลดความรุนแรง 2) การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3) การแสวงหาทางออกทางการเมือง
วางระเบิดกว่า 20 ลูกในยะลาปลายเดือนมกราคม
เมื่อวันที่ 20 มกราคม และในการปิดล้อมในอำเภอสายบุรี ปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้ยิงฝ่ายผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 2 คน ส่วนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหนึ่งคน
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ยิงผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่บ้านบาโงระนะ จังหวัดนราธิวาส ในช่วงกลางวันของวันที่ 28 มกราคมนี้ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแบบตัวต่อตัวอีกครั้ง หลังที่ยุติไปเป็นเวลาเกือบสองปี เพราะการระบาดของโควิด-19
เทศบาลเมืองยะลาแถลงว่า ได้มีคนร้ายไม่ทราบฝ่ายวางระเบิดกว่า 20 แห่ง ในคืนวันที่ 28 และวันที่ 29 มกราคมนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า เกิดระเบิดอย่างน้อย 13 ครั้งในคืนวันศุกร์
“ยังไม่สามารถระบุได้ว่าขบวนการ BRN เป็นกลุ่มที่ลงมือทำหรือเปล่า เพราะเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการสืบสวน จากการคาดการณ์ในเบื้องต้น น่าจะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เคยก่อเหตุ ดูจากชนิดของระเบิดที่ใช้ก่อเหตุเป็นชนิดเดียวกัน วิธีการประกอบ ที่สำคัญเหตุที่เกิดขึ้นคนร้ายไม่ได้หวังสังหารใคร เป็นระเบิดกระป๋อง ทำขึ้นแค่หวังผลแค่ให้มีเสียงดัง” พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า
กลุ่มก่อความไม่สงบปาตานีมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 จนอ่อนแรงลงไปในช่วง พ.ศ. 2530 จนมีการปะทุครั้งใหม่อีกระลอกใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 และนับตั้งแต่วันนั้นมา มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,300 ราย ตามสถิติที่รวบรวมโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้
พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุรุนแรงก็พยายามที่จะสร้างสถานการณ์อยู่แล้ว เมื่อโอกาส มีทางหนีพร้อมเขาก็ทำ”
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่กระทบบรรยากาศการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้... การทำงานบางครั้งระหว่างทางอาจเจอปัญหานั้นก็ถือเป็นเพียงเครื่องพิสูจน์ที่จะนำไปสู้ความเข้าใจ จริงใจ ต่อกันได้” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
เหตุรุนแรง, การพูดคุย ดำเนินไปพร้อมกัน
อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านหนึ่งให้ทัศนะว่า “ทุกคนไม่ควรคาดหวังว่า จะไม่มีความรุนแรงในระหว่างการดำเนินการพูดคุย”
“กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักจะใช้ความรุนแรงเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างอำนาจการต่อรองบนโต๊ะเจรจา” ดร. รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในเรื่องการวางระเบิดต่อเนื่องที่ยะลา เมื่อปลายเดือนมกราคมนั้น ดร. รุ่งรวี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สองประการ คือ การแก้แค้นต่อการสังหารผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มขบวนการในนราธิวาส ในวันก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน
“รูปแบบการแก้แค้นไม่ได้ผิดแปลกออกไปจากเหตุแก้แค้นอื่น ๆ ในภาคใต้ เพียงแต่ว่าในก่อนหน้านั้น มักจะมีความรุนแรง ก่อความเสียหายมากกว่าการระเบิดที่ยะลาเมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจจะเป็นเพราะบีอาร์เอ็นต้องการรักษาความชอบธรรมในสายตาของประชาคมนานาชาติ เพราะฉะนั้นการวางระเบิดจึงไม่ได้เล็งผลเสียหาย แต่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง” ดร. รุ่งรวี กล่าว
“ประการที่สอง การวางระเบิดที่ยะลา อาจจะเป็นการแสดงพลังหรือการทดสอบเครือข่ายของกลุ่มนักรบเยาวชนรุ่นใหม่ หรือยูแว ก่อนหน้านี้ บีอาร์เอ็น เคยประสานการโจมตีพร้อม ๆ กัน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บีอาร์เอ็นอาจจะต้องการแสดงการมีตัวตนหรือศักยภาพทางทหาร”
ด้าน พลโท ธิรา แดหวา เลขาคณะประสานงานระดับพื้นที่ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในวันนี้ว่า ทางฝ่ายไทยได้ลดจำนวนจุดตรวจและจำนวนกำลังพลลงแล้ว อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการของฝ่ายไทย เพื่อลดความรุนแรง
“ในการบังคับใช้กฎหมายแบบอย่างที่เห็น เราใช้สันติวิธีก่อน ให้โอกาสมอบตัวนะ ให้คนไปคุย ส่วนจะกระทบการพูดคุยเพื่อสันติสุขด้วย ก็แล้วแต่มุมมอง” พล.ท. ธิรา กล่าว