ทหาร-ชาวบ้าน โดนระเบิดเจ็บ 10 ราย หน้าโรงเรียนบ้านเตาปูน ยะลา
2022.03.10
ปัตตานี

เจ้าหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดที่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนบ้านเตาปูน ในจังหวัดยะลา ในก่อนเวลาเที่ยงของวันพฤหัสบดีนี้ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย และชาวบ้านโดนลูกหลงได้บาดเจ็บอีก 6 ราย โดยทั้งหมดมีอาการบาดเจ็บไม่ถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต
พ.ต.อ. สายูตี กาเต๊ะ ผกก สภ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า จากการสอบสวนทราบว่า ในเวลาประมาณ 11.25 น. ได้เหตุเกิดระเบิดในขณะที่เจ้าหน้าที่สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 3006 จำนวน 8 นาย เดินทางโดยรถหุ้มเกราะเพื่อไปปฏิบัติภารกิจที่ด้านหลัง อบต.บันนังสตา และโดนวางระเบิดบริเวณด้านหน้าโรงเรียนบ้านเตาปูน หมู่ที่ 3 บ้านเงาะกาโป ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จังหวัดยะลา
“แต่เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้เกิดการระเบิดขึ้น และมีชาวบ้านขับรถผ่านทางมาถูกลูกหลงจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว” พ.ต.อ. สายูตี กล่าวและระบุ ทางเจ้าหน้าที่เชื่อว่าการระเบิดครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้
ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ซึ่งนับเป็นวันปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้ที่ถูกยิงหรือถูกวางระเบิดเสียชีวิตกว่า 7,300 คน จากสถิติที่รวบรวมไว้โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ โดยตลอดเวลากลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยตรง
อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นได้ขอเจรจากับฝ่ายทางการไทยโดยตรง ซึ่งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ได้พบปะเต็มคณะในเดือนมีนาคม 2563
ล่าสุด คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ได้พูดคุยกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นร่วมกันข้อหนึ่งคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่
ในวันพฤหัสบดีนี้ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าวว่า ฝ่ายไทยกำลังติดต่อกับผู้แทนบีอาร์เอ็นในการนัดวันพูดคุยครั้งหน้า
“เราจะพูดกันปลายเดือนมีนาคมนี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันชัดเจน กำลังหารือกันอยู่” พลเอก วัลลภ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ส่วนในเรื่องการลดความรุนแรงนั้น พลเอก วัลลภ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้เขาคงดำเนินการกันอยู่ แต่เรื่องระเบิดที่เกิดขึ้นในวันนี้ คงเป็นเพราะเพื่อการแสดงการมีตัวตน แต่ว่าจะไม่กระทบต่อการพูดคุยที่จะมีขึ้น”
ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความเห็นชอบให้ต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีกสามเดือน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
พลตรี พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันนี้ว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 1/2565 ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นชอบต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2565 นับเป็นการขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 67
พลตรี พัชร์ชศักดิ์ กล่าวในรายละเอียดว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการขอขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยยกเว้น อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน ในนราธิวาส, อำเภอไม้แก่น อำเภอแม่ลาน ในจังหวัดปัตตานี และ อำเภอเบตง อำเภอกาบัง ในจังหวัดยะลา
“เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่ 20 มีนาคม ถึง 19 มิถุนายน 65” พลตรี พัชร์ชศักดิ์ ระบุถึงเหตุผล
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ มาตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548
เจ้าหน้าที่นายเดียวกัน กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ในทันทีในกรณีที่ไม่อาจขอหมายจับจากศาลได้ทันการณ์ และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในที่อื่น เพื่อการสอบปากคำนอกจากสถานีตำรวจหรือเรือนจำได้เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งแตกต่างจากการจับกุมตัวตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องมีหมายจับจากศาลหรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องสงสัยในระหว่างการสอบสวน
อย่างไรก็ตาม ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงรายหนึ่ง กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแม้มีผลดีต่อเจ้าหน้าที่ แต่มีผลกระทบต่อประชาชน
“แต่อีกมุมหนึ่งกระบวนการใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและเสรีภาพของผู้ถูกบังคับใช้ด้วยเช่นกัน” นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยระบุถึงข้อกล่าวหาว่ามีการซ้อมทรมานในระหว่างการสอบสวน
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ให้ความช่วยเหลือในการไต่สวนสาเหตุการตายของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติภายในศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อปี 2562 และได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในเวลาหนึ่งเดือนต่อมา โดยศาลสงขลานัดฟังคำสั่งไต่สวนสาเหตุการตายในเดือนพฤษภาคม ปีนี้