เจ้าหน้าที่ยิงตอบโต้ คนร้ายตาย 2 ราย ที่ปัตตานี หลังปิดล้อมนาน
2022.01.20
ปัตตานี

เหตุปะทะระหว่าง เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43, ทหาร และฝ่ายปกครอง กับกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 1 นาย ขณะที่ ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย ด้านญาติผู้เสียชีวิตเชื่อ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้ตายได้แบบมีชีวิต แต่จงใจวิสามัญฯ
พล.ต.ต. นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 06.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีกลุ่มผู้ต้องสงสัยก่อเหตุความรุนแรงเข้ามาหลบซ่อนในพื้นที่ เพื่อเตรียมการก่อความไม่สงบ จึงได้นำกำลัง เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเข้าปิดล้อม และเชิญหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมเจรจา เพื่อเกลี้ยกล่อมเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล จึงเกิดการปะทะ
“ผู้ก่อความไม่สงบหลบซ่อนในบ้านหลังที่ได้รับแจ้ง 2 คน จึงได้ทำการปิดล้อม คนร้ายกลับวิ่งฝ่าออกมาจากบ้าน และใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่เป็นระยะ และหลบหนีเข้าป่า เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องยิงตอบโต้ จากการปฏิบัติทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 นาย คือ ร.อ. สุริยะ บินญาวัง ถูกกระสุนปืนยิงทะลุสะโพกด้านซ้าย” พล.ต.ต. นรินทร์ กล่าว
“คนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 2 ราย คือ 1. นายรอซาลี เจะเลาะ อายุ 40 ปี มีหมายจับ ป. วิอาญา 11 หมาย และ 2. นายมารวาน มีทอ อายุ 27 ปี มีหมายจับ ป. วิอาญา 3 หมาย นอกจากนี้ยังตรวจยึดอาวุธปืนเอเค 47 และเอเค 102 ของคนร้ายได้รวม 2 กระบอก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำไปตรวจพิสูจน์หาที่มา และประวัติการก่อเหตุต่อไป” พล.ต.ต. นรินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.ต.นรินทร์ ระบุว่า สำหรับ ร.อ. สุริยะ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสายบุรี และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ปัจจุบัน มีิอาการปลอดภัยแล้ว
หลังเกิดเหตุ พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า เจ้าหน้าที่พยายามใช้การเจรจา และดำเนินการตามหลักกฎหมายแล้วแต่ไม่เป็นผล
“เราได้กำชับให้หน่วยใช้การเจรจาเป็นหลัก ทุกขั้นตอนต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด แต่กลุ่มคนร้ายกลับต่อสู้ เป็นผลให้ต้องยิงตอบโต้ ประวัติคนร้ายที่เสียชีวิตทั้ง 2 ราย พบเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ และระดับปฏิบัติการ ก่อเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะก่อเหตุสะเทือนขวัญฆ่า และเผาครอบครัวกิตติประภานันท์ เสียชีวิต 3 ราย เมื่อ 24 เมษายน 2564” พ.อ. เกียรติศักดิ์ กล่าว
พ.อ. เกียรติศักดิ์ ระบุว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ขอบคุณประชาชนที่ช่วยแจ้งเบาะแสผู้ก่อเหตุรุนแรง และขอความร่วมมือประชาชน อย่าให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิด ทั้งการให้ที่พักพิง เก็บซ่อนอาวุธ หรือจัดหาเสบียง เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน ญาติคนหนึ่งของผู้เสียชีวิต (สงวนชื่อและนามสกุล) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เกิดขึ้นว่าอาจเป็นการจงใจ
“หากเจ้าหน้าที่จะจับเป็นก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีนี้เห็นว่าตั้งใจวิสามัญให้เสียชีวิต พวกเราทำใจอยู่แล้ว เขาถูกกระทำมาตลอดจนต้องทำใจยอมรับกับความไม่เป็นธรรม เราได้ทำพิธีฝังศพนักรบของเราแล้ว เขาคือนักรบของพระเจ้า เขาจะได้รับการตอบรับจากพระเจ้า พิธีฝังศพของพวกเขาวันนี้มีชาวบ้านมาร่วมพิธีเยอะมาก ไม่รู้มาจากไหนบ้าง มีทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก” ญาติรายดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หารือร่วมคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยยกประเด็นการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะทำงานร่วมกัน และพึงพอใจกับผลการหารือ
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบที่เกิดเหตุ หลังจากเกิดคาร์บอมบ์ ด้านหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา วันที่ 17 มีนาคม 2564 (เอพี)
การส่งตัวนักโทษ ก่อปฏิกิริยาตอบรับที่ไม่ดี
ในวันที่สองของการพูดคุยสันติสุข เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบชาวไทย 3 คน ซึ่งต้องหมายจับในคดีความมั่นคงหลายหมายให้กับทางการไทย ในห้วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นเจรจากันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นการส่งตัวนักโทษคดีก่อความไม่สงบอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในรอบ 25 ปี
ผู้นำภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การส่งตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสามคน “ทำให้เกิดความสงสัยในบทบาทของมาเลเซียในฐานะตัวกลางที่มีความจริงใจ… บนโต๊ะเจรจา”
“ประเทศที่เสี่ยงในการเข้ามามีบทบาทที่ต้องมีความเป็นกลางและไม่มีส่วนร่วมใด ๆ” นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคม ตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์
เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ นาย ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย กล่าวว่า การส่งมอบผู้ต้องสงสัยกลุ่มกบฏ 3 คน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาสันติภาพ เขากล่าวว่าทหารจับกุมทั้งสามคนและส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินการและส่งกลับประเทศไทย
“ไม่ได้รับรู้ในเรื่องการจับกุมมาก่อน แต่เพิ่งได้ยินเรื่องนี้ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นไม่ได้ติดต่อเพื่อสอบถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่ได้ติดต่อมา” ราฮิม นูร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า “เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพูดคุยฯ และบทบาทของเรา ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก”
“นั่นก็เป็นเรื่องที่เราได้ยินมา มันอยู่ในขอบเขตอำนาจของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อย่ามาถามเกี่ยวกับงานของเขา และพวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องมาบอกเราเรื่องงานของเขา” ราฮิม นูร์ กล่าว
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อบีอาร์เอ็น เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งตัวนักโทษได้
นายอาเต็ฟ กล่าวว่าในขณะที่ไม่มีใครสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเจรจาสันติภาพและการส่งตัวนักโทษ “ก็ไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ช่วงเวลาของการส่งมอบตัว ไม่ได้ทำให้มาเลเซียดูดีเลย”
เพราะถ้ามีอะไรขึ้นมา มันจะทำลายความน่าเชื่อถือของมาเลเซียและบทบาทระหว่างประเทศ” เขากล่าว
“ข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรมของผู้ต้องสงสัยทั้งสาม ก็ยังไม่ชัดเจน… วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของฝ่ายความมั่นคงไทย ในพื้นที่ปาตานี (ชายแดนใต้) ก็เป็นที่ตระหนัก ในรายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรายงานข่าวในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ว่าจะมีการเจรจาของสองฝ่ายในเดือนมกราคม 2565 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุรุนแรงอย่างน้อย 15 ครั้ง แต่หลังจากการหารือ ไม่มีเหตุรุนแรง ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กระทั่งมีการปะทะในวันนี้ จากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับจากการปะทุครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม 2547 มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน
มุสลิซา มุสตาฟา ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน