ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต 6 มือบึ้มตลาดโต้รุ่งปัตตานี ปี 59

มารียัม อัฮหมัด
2021.03.04
ปัตตานี
ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต 6 มือบึ้มตลาดโต้รุ่งปัตตานี ปี 59 ชาวบ้านช่วยกันเก็บกวาดเศษเสี้ยวสิ่งแตกหัก จากแรงระเบิด ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม หน้าตลาดโต้รุ่ง ถ.พิพิธ เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี วันที่ 24 ตุลาคม ปี 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ช่วยโฆษก กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงข่าวว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ ศาลฎีกาได้พิพากษายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตจำเลย 6 ราย และจำคุกตลอดชีวิตจำเลยรายอื่น ๆ ซึ่งศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีลอบวางระเบิดร้านก๊วยเตี๋ยวนายเบิ้ม หน้าตลาดโต้รุ่งในอำเภอเมืองปัตตานี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2559 จนเป็นเหตุให้มีผู้หญิงเสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่ายี่สิบราย

โดยในวันนี้ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ ทองสองสี หัวหน้างานกิจการพลเรือน กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ช่วยโฆษก กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบ

“เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดปัตตานี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลอบวางระเบิด เขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อปี 2559 โดยลงโทษประหารชีวิต 6 คน จำคุกตลอดชีวิต 3 คน และจำคุก 36 ปี 8 เดือน 1 คน  ซึ่งยืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์” พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ ทองสองสี ผู้ช่วยโฆษก กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว

แหล่งข่าวที่ติดตามการตัดสินที่ให้ข้อมูลแก่เบนาร์นิวส์ โดยไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า ศาลจังหวัดปัตตานี ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1118/60 คดีหมายเลขแดง 1539/61 ตามที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยและพวกทั้งหมด 10 ราย โดยมีรายชื่อดังนี้ จำเลยที่ 1 นายมะซัน สาและ ถูกจับกุมวันที่่ 2 ธ.ค. 2559 จำเลยที่ 2 นายอับดุลเลาะ ฮะยีอูมาร์ จับกุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จำเลยที่ 3 นายอิบรอเฮง ยูโซะ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2559 จำเลยที่ 4 นายอัมรีย์ ลือเย๊าะ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 จำเลยที่ 5 นายสันติ จันทรกุล จับกุมเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2559 จำเลยที่ 6 นายอายุบ เปาะลี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 จำเลยที่ 7 นายฮามิด เจ๊ะมะ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2559  จำเลยที่ 8 นายอิสมะแอ ตุยง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559  จำเลยที่ 9 นายรูสรัน แวหะยี จับกุมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2559 และจำเลยที่ 10 นายนิรอนิง นอเดร์ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2559

“โดยศาลฎีกา เห็นว่าความผิดฐานซ่องโจรเป็นการร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ เพื่อก่อการร้าย โดยพยานสำคัญตาม โครงการคุ้มครองพยานให้การซัดทอดว่าจำเลยเป็นผู้ร่วมก่อเหตุจากหลายเหตุการณ์ จากนั้น ศาลฎีกา พิพากษารวมทุกฐานความผิด โดยสั่งประหารชีวิต จำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 8 และ 10 รวม 6 คน สั่งจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1, 2 และ 9 รวม 3 คน และสั่งจำคุก 36 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 7 รวม 1 คน” เนื้อความคำตัดสินระบุ

แหล่งข่าวรายเดียวกันกล่าวว่า นอกจากความผิดในเหตุระเบิดที่ปัตตานีแล้ว ในการพิพากษาคดีนี้ ศาลได้รวมความผิดของจำเลยทั้งสิบคน ที่ได้มีส่วนในการกระทำผิดในเหตุการณ์อื่น ๆ ไว้ด้วย คือ หนึ่ง เหตุระเบิด เรือ ธ.ศิริพงษ์ และเรือโชคพรชัย 3 ใน ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อ 18 มิ.ย. 2559 สอง เหตุระเบิดร้าน JP เฟอร์นิเจอร์ อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อ 19 มิ.ย. 2559 และสาม เหตุลอบวางระเบิดที่ร้านศรีปุตรี ข้างมัสยิดกลางเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2559 

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อทนายความในมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี ที่ว่าความในคดีนี้ได้ ส่วนทนายของมูลนิธิศูนย์ทนายฯ อีกรายกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการสรุปจำนวนคดีความมั่นคง นับตั้งแต่ ปี 2547 ว่ามีกี่คดีและมีการตัดสินในชั้นใดแล้วบ้าง

ด้าน พลตรี ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 และโฆษก กอ.รมน. ภาคที่ 4 กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ใช้วัตถุพยานจากที่เกิดเหตุ และพยานแวดล้อมจากประชาชนที่ให้ความร่วมมือ ทำให้มีการสั่งฟ้องมากขึ้น”

ในประเทศไทย ได้มีการประหารนักโทษรายแรกในรอบ 9 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 เป็นนักโทษเด็ดขาดชาย (ขอสงวนนาม) อายุ 26 ปี ซึ่งได้ทำร้ายร่างกาย ชายวัยรุ่นอายุ 17 ปี โดยใช้มีดแทงผู้ตายรวม 24 แผล และบังคับเอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์ เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย

รายงานของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 จนถึงวันนี้ มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 326 ราย โดยแบ่งเป็นการใช้อาวุธปืนยิง จำนวน 319 ราย โดยรายสุดท้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 หลังจากนั้น เป็นการประหารโดยการฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 จนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ก่อนที่จะประหารรายล่าสุดดังกล่าว

ย้อนรอยเหตุระเบิด

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในตอนค่ำของวันที่ 24 ตุลาคม ปี 2559 ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้ม หน้าตลาดโต้รุ่ง ถ.พิพิธ เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้นางสมพร ขุนทะกาพันธ์ อายุ 60 ปี เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 21 ราย รวมทั้งเด็กชาย-หญิง เพศละสามราย

ในวันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุผลการสอบสวนเบื้องต้น หลังการตรวจสอบพื้นที่ที่เกิดเหตุว่า “ก่อนเกิดเหตุคนร้ายจำนวน 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาจอดบริเวณหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวนายเบิ้มก่อน ทำทีว่ามาซื้ออาหารก่อนที่จะฉวยโอกาสนำระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เข้าไปซุกไว้กับกองเก็บของของทางร้าน ในช่วงที่มีคนกำลังจับจ่ายเป็นจำนวนมาก ก่อนจะเดินขึ้นรถจักรยานยนต์แล้วหลบหนีไป”

ด้านเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ชีพกู้ภัยสันติปัตตานี จ.ปัตตานี รายหนึ่งให้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวที่เกิดเหตุนั้น เคยถูกลอบวางระเบิดมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อ 3-4 ปีก่อน โดยคาดว่าคนร้ายจงใจก่อเหตุที่ร้านแห่งนี้ เพราะเป็นร้านที่มีลูกค้าหนาแน่นตลอดเวลา

สถานการณ์การก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ยิงและระเบิดแล้วกว่า 7,000 ราย ซึ่งปัจจุบัน ฝ่ายบีอาร์เอ็นและคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ระบุว่า ผู้แทนระดับเทคนิกของทั้งสองฝ่าย ยังคงมีการติดต่อผ่านทางออนไลน์ เพื่อเตรียมการสำหรับการพูดคุยเต็มคณะเมื่อสามารถพบปะโดยตรงได้ หลังโรคระบาดโควิดลดความรุนแรงลง จนสามารถเดินทางไปกัวลาลัมเปอร์ได้  

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง