รัฐบาลขยายอายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุมชายแดนใต้อีกสามเดือน

มารียัม อัฮหมัด
2021.09.14
ปัตตานี
รัฐบาลขยายอายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุมชายแดนใต้อีกสามเดือน เจ้าหน้าที่ตรวจจุดเกิดเหตุระเบิดที่หน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในจังหวัดยะลา ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย วันที่ 17 มีนาคม 2563
เอเอฟพี

คณะรัฐมนตรีมีมติในวันอังคารนี้ ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีกเป็นเวลาสามเดือน โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ขณะที่ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลิดรอนสิทธิของประชาชน 

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึง 19 ธันวาคม 2564 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้น อำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุคิริน จังหวัดยะลา ยกเว้น อำเภอเบตง และอำเภอกาบัง จังหวัดปัตตานี ยกเว้น อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และการขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 65 ตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 

ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ในทันทีในกรณีที่ไม่อาจขอหมายจับจากศาลได้ทันการณ์ และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้เป็นเวลา 30 วัน และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในสถานที่อื่น นอกจากสถานีตำรวจได้ ซึ่งแตกต่างจากการจับกุมตัวตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องมีหมายจับจากศาล หรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้กระทำผิดซึ่งหน้า แต่ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จากนั้นต้องขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องสงสัยในระหว่างการสอบสวน 

ด้าน นายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลดีต่อรัฐ แต่กระทบประชาชน 

“กระบวนการทางกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่บางอย่าง มีการบังคับใช้ที่ได้ผลน่าพอใจต่อผู้บังคับใช้ เช่น การที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็ว และง่ายต่อการปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ แต่อีกมุมหนึ่ง กระบวนการใช้กฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และเสรีภาพของผู้ถูกบังคับใช้ด้วยเช่นกัน” นายอนุกูล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

นายอนุกูล กล่าวว่า ในการควบคุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยยังไม่ได้แจ้งข้อหาใด ๆ เจ้าหน้าที่ (พนักงานสอบสวน) ไม่สามารถสืบพยานล่วงหน้าก่อนการฟ้องคดีต่อศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 237 ทวิ 

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีเหตุการณ์น้อยลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาขัดแย้ง และเป็นผลประโยชน์ต่อตัวรัฐทหารเองเท่านั้น เพราะมีผลกับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ สถานการณ์คล้ายกันกำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะสามเหลี่ยมดินแดง คือ รัฐใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ปิดปากคนที่ออกมาเรียกร้องหรือสะท้อนความไม่พอใจที่มีต่อรัฐ”​ น.ส. พรเพ็ญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการในพื้นที่รายหนึ่งชี้ว่า แม้เหตุความรุนแรงในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เสนอให้ขยายการประกาศฯ ออกไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ 

“เราจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษมาควบคุมพื้นที่ที่สำคัญ พื้นที่ยังไม่ปกติทั้งหมด สามจังหวัดยังมีกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงยังสำคัญกับพื้นที่” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวให้ข้อมูล โดยไม่ประสงค์ออกนาม 

ตั้งแต่ มกราคม 2547 ซึ่งนับเป็นการปะทุของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้ที่ถูกยิงหรือถูกวางระเบิดเสียชีวิตกว่า 7,000 คน หากนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563-30 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบอย่างน้อย 18 ราย 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง