ตำรวจสอบสวนกลางจับเจ้าพ่อน้ำมันเถื่อน “เสี่ยโจ้ ปัตตานี” ข้อหาฟอกเงิน
2021.11.05
กรุงเทพฯ และปัตตานี

ในวันศุกร์นี้ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงข่าวการจับกุมนายสหชัย เจียรเสริมสิน ฉายา “เสี่ยโจ้ ปัตตานี” ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นคดีที่มีมูลฐานความผิดจากการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน เมื่อ 9 ปีก่อน ได้ที่ย่านห้วยขวาง เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในภาคใต้ ระบุว่า ผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่ทำธุรกิจมืดรายใหญ่ที่เป็นภัยแทรกซ้อนต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้
พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวในการแถลงข่าวว่า นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ “เสี่ยโจ้ ปัตตานี” อายุ 53 ปี เป็นผู้กว้างขวางในวงการทำธุรกิจมืดมาเป็นเวลานาน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาร่วมกันนำพาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังไม่ได้เสียภาษีเข้ามาในราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2555 ตามคดีหมายเลข 1686/2555 ซึ่งเป็นการสืบสวนขยายผลหลังจากที่เจ้าหน้าที่ชุดปราบน้ำมันเถื่อนได้จับกุมเรือลักลอบขายน้ำมันโดยผิดกฎหมายในน่านน้ำจังหวัดสงขลา
ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่สามารถยึดของกลางได้เป็นน้ำมันเถื่อนจำนวนสองพันลิตร พร้อมด้วยเงินสด 48 ล้านบาท และจากการค้นบ้านเสี่ยโจ้ พบเอกสารการขายน้ำมันเถื่อน 400-500 ล้านลิตร ต่อมาปี 2558 พนักงานสอบสวนได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการค้าน้ำมันเถื่อนเป็นความผิดมูลฐานเลยดำเนินคดีข้อหาฟอกเงินเพิ่มเติมอีกหนึ่งคดี
“ทั้งสองคดีถูกดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ มาออกหมายจับได้ในปี 2564 และจับกุมตัวได้เมื่อคืนนี้” พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวเพิ่มเติม
ในวันนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับเสี่ยโจ้ได้จับตามหมายจับ ก็ต้องนำตัวส่งให้กับอัยการจังหวัดสงขลาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการว่าจะมีดุลยพินิจในการควบคุมตัวหรือปล่อยตัวหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวกับเบนาร์นิวส์
พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวต่อด้วยว่า นายสหชัย ยังมีคดีอีกคดีหนึ่งที่เชื่อว่ายังไม่เสร็จสิ้น เป็นคดีเกี่ยวกับการปลอมการตรวจลงตราสำหรับใช้ในการเดินทางระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 ที่เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนต่อความมั่นคง กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า นำกำลังเข้าตรวจค้น หจก.สินทรัพย์ทวีค้าไม้ ของนายสหชัย พบหลักฐานแผ่นตรวจลงตราเข้าเมืองปลอมเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายไม้
พล.ต.ท. จิรภพ กล่าวต่อด้วยว่า ผู้ต้องหาเคยถูกดำเนินคดีมาหลายเรื่องจากการที่เขาเป็นขาใหญ่ในวงการ เจ้าหน้าที่ได้พยายามสืบสวนติดตามตัวเสี่ยโจ้มาโดยตลอด และตัวผู้ต้องหาเองก็ได้เดินทางไปต่างประเทศ และเข้าออกประเทศไทยอยู่ตลอดเวลาทำให้หาตัวได้ยาก จนกระทั่งมาสืบทราบและจับกุมตัวได้ในคืนที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบในตัวเสี่ยโจ้ พบว่าใช้หนังสือเดินทางประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นหนังสือเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะดำเนินคดีอีกหนึ่งคดี
นอกจากคดีค้าน้ำมันเถื่อน คดีฟอกเงิน คดีปลอมดวงตราฯ แล้ว ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้าของเถื่อน ในปัตตานี เมื่อปี 2546 แต่ศาลยกฟ้อง รวมทั้งยังมีคดีที่ยังไม่ตัดสิน ได้แก่ คดีทำการประมงโดนไม่มีใบอนุญาต เป็นคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
รายงานท้องถิ่นระบุว่า เสี่ยโจ้มีความสัมพันธ์กับเครือข่ายเจ้าหน้าที่ โดยในครั้งการตรวจค้นบ้านเมื่อ ปี 2555 เจ้าหน้าที่พบรายการจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่หลายราย รวมถึงอดีตผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และได้รับการช่วยเหลือให้หลบหนีคดีเข้าออกประเทศ
ข้อสงสัยเชื่อมโยงขบวนการก่อเหตรุนแรงในภาคใต้
ในวันเดียวกันนี้ พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนหน้า กล่าวว่า เสี่ยโจ้ จัดอยู่ในกลุ่มภัยแทรกซ้อนต่อสถานการณ์ความไม่สงบ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เรื่องเสี่ยโจ้ ว่าไปตามกระบวนการตามกฎหมายไป ในส่วนของภัยแทรกซ้อนถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้อยู่ ในการดำเนินการภัยแทรกซ้อน มีการดำเนินการอยู่ของเสี่ยโจ้เป็นเจ้าใหญ่” พล.ต. ปราโมทย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่กองข่าวภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชื่อว่าขบวนการนอกกฎหมายที่ทำธุรกิจมืด เช่น การค้าแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ การค้าสินค้าหนีภาษี น้ำมันหลีกเลี่ยงภาษี และยาเสพติด เป็นภัยแทรกซ้อนต่อสถานการณ์ชายแดนใต้ ซึ่งมีการสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบโดยทางใดทางหนึ่ง ที่รัฐถือเป็นนโยบายสำคัญในการจัดการกับแก้ปัญหาภัยแทรกซ้อนให้หมดไป
“เราเคยพบกรณีที่พ่อค้าสิ่งผิดกฎหมาย จ่ายเงินค่าคุ้มครองให้กับฝ่ายขบวนการ แล้วไปก่อเหตุรุนแรง และเบี่ยงเบนประเด็นไปเป็นเรื่องของการต่อสู้ ยิ่งมีเหตุรุนแรง ยิ่งสะดวกในการทำธุรกิจใต้ดิน” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับเบนาร์นิวส์ และระบุว่า การหาหลักฐานที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะเป็นเรื่องซับซ้อน และหลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน