การเมืองไทย : คำวินิจฉัยศาล รธน. อาจเปิดช่องดำเนินคดีกบฏ
2021.11.11
กรุงเทพ

นักสิทธิมนุษยชนและวงการการเมือง แสดงความกังวลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุมเท่ากับการล้มล้างการปกครอง จะเป็นการเปิดช่องในการแจ้งความในข้อหากบฏ ที่มีบทลงโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ขณะที่ในวันนี้ องค์กรนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยรวม 23 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า คำตัดสินดังกล่าวอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในข้อหากบฎ ซึ่งมีโทษหนักขึ้นกว่าความผิดฐานละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112) และ การยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116) ที่ใช้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้ว
“หลังจากนี้ อาจมีคนนำคำวินิจฉัยศาล รธน. ไปฟ้องคดีต่อศาลอาญา ความผิดมาตรา 113 ข้อหากบฏซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต และเป็นไปได้ว่าอาจมีการต่อต้านคำวินิจฉัยศาล โดยอาจมีการจัดการชุมนุมอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การปราบปรามที่รุนแรงขึ้น” นางอังคณา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ส่วนพรรคก้าวไกลที่ถูกมองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงนั้น ถูกจับตามองว่าจะถูกนำมาเชื่อมโยงและนำไปสู่การยุบพรรคด้วยหรือไม่ เพราะนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีความประสงค์ที่จะให้คำวินิจฉัยนี้ครอบคลุมกลุ่มที่สนับสนุนการประท้วงด้วย
“หลังจากนี้ รัฐบาลเองก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ตาม ตลอดจนกลุ่มการเมืองบางกลุ่มจะนำเอาคำวินิจฉัยนี้ไปเป็นฐานในการกล่าวหาโจมตีการแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน และประชาชนจำนวนมากแบบเหมารวมว่าเป็นขบวนการล้มล้างการปกครอง... อาจเกิดการขีดเส้นแบ่งทางการเมืองแบบสุดขั้ว รุนแรงมากขึ้น” นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุ
ด้าน นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวที่อาคารรัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้ว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้เพราะจะมีแต่ความแตกแยก
“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ผูกพันทุกองค์กร ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เสมือนเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นห่วงก็คือว่ามันจะนำไปสู่ความแตกแยกหรือไม่อย่างไร หรือจะมีเหตุบานปลายอะไรหรือเปล่า... นี่คือข้อห่วงใยของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับตัวน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา เราเป็นห่วงอนาคตเขามาก” นายชลน่าน กล่าว
ในมุมมองของนักวิชาการแล้ว น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าคำวินิจฉัยวานนี้จะนำไปสู่การชุมนุมใหญ่
“คำวินิจฉัยนี้จะสร้างความโกรธเคืองให้กับคนรุ่นใหม่เหมือนการราดน้ำมันลงบนกองเพลิง เพราะข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ให้ปฏิรูปการเมืองและสังคมไทย นอกจากจะไม่เคยถูกรับฟังอย่างให้เกียรติแล้วผู้ชุมนุมยังถูกเล่นงานด้วยกฎหมาย เชื่อว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะพบกับการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่ไม่พอใจคำตัดสินที่ไม่เคยมีมาตรฐาน” น.ส.นวพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยเชื่อว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง
“(การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม)คงเป็นเรื่องของตำรวจต้องดูกัน ก็ต้องทำตามศาลว่า ไม่รุนแรงหรอก เพราะศาลวินิจฉัยมาอย่างนั้นก็จบ เรื่องเจ้าหน้าที่ทำงาน เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ เรามอนิเตอร์ตลอดเวลาอยู่แล้ว” พล.อ. ประวิตร กล่าว
องค์กรนักศึกษา 23 องค์กรปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาล
ในวันเดียวกันนี้ องค์กรนักศึกษา 23 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย สภานักศึกษา องค์การนักศึกษา รวมถึงพรรคการเมืองนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และอีกหลายมหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมผ่านอินเตอร์เน็ต ปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวานนี้ โดยให้เหตุผลว่าศาลรัฐธรรมนูญงดการไต่สวนไม่เปิดโอกาสผู้ถูกร้องทั้งสามคนให้ข้อมูลฝ่ายตนเพื่อสู้คดี และเหตุผลอื่น ๆ
“การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการด้อยค่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาที่มีต่ออำนาจตุลาการ และวงการนิติศาสตร์ประเทศไทย” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
ในแถลงการณ์นี้มีข้อความโดยสรุปอีกว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และการชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้มิอาจยอมรับคำวินิจฉัยได้
การออกแถลงการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจาก กรณีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องว่า ข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในวันพุธนี้ว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม(ผู้ถูกร้อง) เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุม และเครือข่าย ไม่กระทำการดังกล่าวในอนาคต โดยคำวินิจฉัยดังกล่าว ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ในด้านลบจากคนรุ่นใหม่จำนวนมาก
ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการปราศรัย โดยนายอานนท์ และต่อมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563 น.ส. ปนัสยา ได้อ่านข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัยในวันพุธ
ด้วยการเรียกร้องที่มีการพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 157 คน ที่ถูกแจ้งข้อหา ม. 112 ใน 161 คดี ซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายอานนท์ แกนนำการประท้วงถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 มากที่สุด คือ 21 และ 14 คดีตามลำดับ ปัจจุบันทั้งคู่ รวมถึงแกนนำการชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี โดยไม่อนุญาตให้ได้รับการประกันตัว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน