ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.11.10
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ชูสามนิ้วให้กับผู้สนับสนุนระหว่างรอฟังคำวินิจฉัย ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ กรุงเทพฯ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
ศรุมณย์ นรฤทธิ์/เบนาร์นิวส์

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในวันพุธนี้ว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นแกนนำการชุมนุม และเครือข่าย ไม่กระทำการดังกล่าวในอนาคต

โดยในวันเดียวกันนี้ ได้มีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ต่อตัวแทนจากสมาชิกสหประชาชาติภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตัวแทนจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ได้เรียกร้องให้ไทยแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะไม่สอดคล้องกับหลักสากล หากอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ยืนยันว่า ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดอ่านคำวินิจฉัย โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟัง ทำให้ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในผู้ถูกร้อง และทนายความฝ่ายผู้ถูกร้อง ได้วอล์คเอ้าท์จากห้องพิจารณาคดี เพื่อประท้วงการที่ศาลไม่อนุญาตให้ฝ่ายผู้ถูกร้องชี้แจงหรือมีการไต่สวนพยาน

“ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองการให้พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาล่วงละเมิดไม่ได้นั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง” นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว

“การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ผู้ถูกร้องที่สอง ผู้ถูกร้องที่สาม เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม รวมทั้งกลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2” นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ในคดีนี้ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ให้วินิจฉัยการกระทำของนายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง (ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ตามลำดับ) และพวก ซึ่งชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่อมาอัยการสูงสุดได้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลได้รับคำร้องในวันที่ 16 กันยายน 2563 โดยให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงเป็นเอกสาร โดยมิได้มีการไต่สวนผู้ถูกร้อง

นายณฐพร ผู้ร้อง ระบุว่า “ตั้งใจจะให้(คำร้องนี้) เป็นบรรทัดฐานของสังคมว่า การชุมนุม การล้มล้างสถาบันฯ มีอยู่ มันไม่เกิดอะไรต่อประชาชนเลย ไม่มีสถาบัน ประชาชนความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีขึ้น ประเทศไทยมีสามเสาหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าใครล้มล้างไปเสาหนึ่ง ก็ถือเป็นการล้มล้าง”

นายณฐพร ยังระบุว่า จะได้นำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ไปประกอบการยื่นยุบพรรคก้าวไกล และดำเนินคดีกับบุคคลที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย

หลังฟังคำวินิจฉัย น.ส. ปนัสยา หนึ่งในผู้ถูกร้องได้อ่านแถลงการณ์ ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลเนื่องจากศาลไม่ได้ไต่สวนผู้ถูกร้อง หรือชี้แจงเพิ่มเติม

“ข้าพเจ้า ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ข้อเรียกร้องของพวกเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือเจตนาเป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เบื้องต้นข้าพเจ้าคงไม่เคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ... คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่อาจยอมรับได้” น.ส. ปนัสยา ระบุ

ในเรื่องนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า คำตัดสินในวันนี้ อาจนำไปสู่การฟ้องร้องในข้อหากบฎ ที่มีโทษหนักขึ้น

“หลังจากนี้อาจมีคนนำคำวินิจฉัยศาล รธน. ไปฟ้องคดีต่อศาลอาญา ความผิดมาตรา 113 ข้อหากบฏซึ่งมีโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต และเป็นไปได้ว่าอาจมีการต่อต้านคำวินิจฉัยศาล โดยอาจมีการจัดการชุมนุมอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การปราบปรามที่รุนแรงขึ้น” นางอังคณา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายของผู้ถูกร้องระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้  และเชื่อว่าการสั่งห้ามกระทำการเป็นคำวินิจฉัยเกินขอบเขตอำนาจศาล

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ในกรุงเทพฯ มีประชาชนจำนวนหนึ่งประท้วงขับไล่รัฐบาลโดยมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก คือ 1. นายกรัฐมนตรีต้องลาออก 2. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้ต่อมามีการประท้วงด้วยข้อเรียกร้องเดียวกันทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 3 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปราศรัยโดยนายอานนท์ และต่อมาที่   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563 น.ส. ปนัสยา ได้อ่านข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัยในวันนี้

ด้วยการเรียกร้องมีการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 156 คน (รวมทั้งเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี) ที่ถูกแจ้งข้อหา ม. 112 ใน 160 คดี ซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายอานนท์ แกนนำการประท้วงถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 มากที่สุด คือ 21 และ 14 คดีตามลำดับ ปัจจุบันทั้งคู่ รวมถึงแกนนำการชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี โดยไม่อนุญาตให้ได้รับการประกันตัว

ไทยยืนยันต่อประชาคมโลกจะปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในวันเดียวกันนี้ ผู้แทนไทยได้กล่าวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Report - UPR) ต่อตัวแทนจากสมาชิกสหประชาชาติภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ว่า ไทยจะดำเนินการพัฒนาประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชน

ขณะเดียวกัน ตัวแทนประเทศสมาชิกได้แสดงความยินดีที่ไทยได้เข้าร่วมรายงานในครั้งนี้ และชื่นชมกับความสำเร็จด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ แต่มีข้อเสนอแนะ เช่น ไทยควรผลักดันให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิต, บังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับให้สูญหาย, แก้กฎหมายเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อไม่ให้ขัดขวางการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคม, ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ได้เรียกร้องให้ไทย แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับหลักสากล

ในเรื่องนี้ นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ยืนยันว่า ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และหากผู้ใดละเมิดจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

“สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของไทยมีความสอดคล้องกับความมั่นคงของชาติ ในการบังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ หากพบว่ามีการละเมิดกฎหมายจริงก็ต้องมีดำเนินการ” นายณัฐวัฒน์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง