ทานตะวันล้มหัวฟาดในห้องน้ำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.01.23
กรุงเทพ
ทานตะวันล้มหัวฟาดในห้องน้ำ ทานตะวัน “ตะวัน” ตัวตุลานนท์ (ขวา) และอรวรรณ “แบม” ภู่พงษ์ ราดสีแดงบนเสื้อผ้าและชูสามนิ้วเป็นการเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองในระหว่างการดำเนินคดี วันที่ 16 มกราคม 2566
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ทานตะวัน “ตะวัน” ตัวตุลานนท์ หมดสติล้มลงในห้องน้ำหลังจากที่เธอและอรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ได้อดอาหารและน้ำมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกฝากขังทั้งหมด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยในวันจันทร์นี้ 

ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ตะวันและแบม ซึ่งขอถอนประกันตัวเองเมื่อวันที่ 16 มกราคม นี้ ได้อดอาหารและน้ำประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา นับเป็นวันที่หก และมีอาการน่าเป็นห่วง 

“ตะวันอ่อนเพลียมากจนหมดสติในห้องน้ำ และล้มหัวฟาดพื้น แต่ปฏิเสธไม่ตรวจสแกนหาความผิดปกติด้วยเครื่องเอกซเรย์ ตะวันน้ำหนักลดไปเกือบ 5 ก.ก. ส่วนแบมน้ำหนักตัวลดไปกว่า 6 ก.ก. แล้ว ปากแห้งจนแตกและขาวซีด อิดโรย อาเจียน อ่อนเพลีย” ตอนหนึ่งของข้อความระบุถึงตะวันที่ล้มเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ 

ในวันจันทร์นี้ กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ทานตะวัน ลื่นล้มภายในห้องน้ำและศีรษะกระแทกผนัง จากการที่แพทย์ได้ตรวจร่างกายเบื้องต้นนั้น พบว่ามีอาการแดงบวมที่ศีรษะ และที่หน้าผากด้านขวา 

“ในช่วงเย็นของวันที่ 22 มกราคม 2566  น.ส.ทานตะวันฯ ลื่นล้มภายในห้องน้ำ ศีรษะกระแทกผนัง เมื่อเวลาประมาณ 16.10 น. ซึ่ง ณ เวลานั้น น.ส.ทานตะวันฯ อยู่ภายในห้องน้ำทำภารกิจส่วนตัวเพียงลำพัง แพทย์ได้ประเมินแล้ว มีความเห็นว่าควรดำเนินการตรวจด้วยวิธี X-Ray ศีรษะ และ เฝ้าระวังสังเกตอาการ 24 ชั่วโมง แต่ น.ส.ทานตะวันฯ ปฏิเสธการรักษาและการตรวจ X-Ray ศีรษะ โดยขณะนี้ผ่านมาแล้ว 24 ชั่วโมง ยังไม่พบอาการผิดปกติแต่อย่างใด พร้อมนี้ยังได้ยืนยันในการงดอาหารและน้ำต่อไป รวมถึงปฏิเสธการรับยาและสารน้ำทางหลอดเลือด” นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์กล่าว

กรมราชทัณฑ์ระบุว่า ในวันจันทร์นี้ ทั้ง 2 ราย มีอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดอันเกิดจากการอดอาหารต่อเนื่อง และหากมีความประสงค์จะขอกลับไปควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลางเหมือนเดิมนั้น ต้องได้รับการประเมิน โดยแพทย์แล้วว่ามีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง พร้อมที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติต่อไป 

ทั้งนี้ ทั้งสองคนปฏิเสธการขอรับการรักษาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะกลัวว่าทางโรงพยาบาลฯ จะรายงานอาการของพวกตนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ขอย้ายไปยังโรงพยาบาลอื่น แต่ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยืนยันถึงความมีมาตรฐานตามหลักกระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม และเสมอภาค ตามหลักสิทธิมนุษยชน 

ตะวัน ถูกควบคุมตัว และดำเนินคดี ม.112 และ ม.116 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ต่อมาได้ประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวโดยการอดอาหาร กระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม 2565 แต่มีเงื่อนไขให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) และใช้ชีวิตโดยไม่ถูกคุมขัง กระทั่งขอถอนประกันตัว ส่วนแบมเคยถูกฝากขังในข้อหาเดียวกันในเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว โดยทั้งสองมีส่วนร่วมในการทำแบบสำรวจความคิดเห็นว่าขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนหรือไม่ 

การอดอาหารประท้วงของ ตะวัน-แบม เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลมีคำสั่งถอนประกันตัว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท และ น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ นักกิจกรรมซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิด ม.112 และเคยได้รับการประกันตัว แต่ศาลอ้างว่าทั้งคู่ไปร่วมชุมนุมระหว่างการประชุม APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการผิดเงื่อนไขการประกันตัว 

ต่อมาวันที 16 มกราคม 2566 ตะวัน-แบม  ได้ยื่นขอถอนประกันตัวเองเพื่อกลับไปเข้าไปอยู่ในการควบคุมตัว เป็นการประท้วงกรณีที่เกิดขึ้นเก็ท-ใบปอ และนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัว โดยเรียกร้องให้ 1. รัฐปฏิรูปกระบวนการศาล 2. รัฐยุติการดำเนินคดีกับผู้แสดงออกทางการเมือง และ 3. พรรคการเมืองเสนอให้มีการยกเลิก ม.112 และ ม.116 ซึ่งคุกคามเสรีภาพประชาชน 

18 มกราคม 2566 ข้อเรียกร้องของทั้งคู่ไม่เป็นผล จึงยกระดับไปสู่การอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วง ทำให้ทั้งคู่มีสภาพร่างกายที่ทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 20 มกราคม 2566 ทั้งคู่ถูกนำตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

หลังจากนั้น นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า การถอนประกันตัวเป็นเจตนาของ ตะวัน-แบม เอง และยืนยันว่าศาลมีอิสระ และเป็นธรรม 

“จะเป็นคดีใดก็ตาม หรือไม่ว่าผู้ต้องหาจำเลยจะเป็นบุคคลใด ผู้พิพากษาพึงรักษาความยุติธรรมเสมอบนความถูกต้องตามหลักกฎหมายอันเป็นสากล พร้อมยึดถือหลักนิติธรรม เป็นอิสระปราศจากอำนาจแทรกแซงใด ๆ ... อำนวยความยุติธรรมโดยเสมอภาค เป็นธรรม และทั่วถึง” นายสรวิศ กล่าว 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการเรียกร้องขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 1,888 คน ในจำนวน 1,165 คดี  และจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 มีผู้ถูกควบคุมตัวจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแล้วอย่างน้อย 22 คน

 

YA_07120.JPG

กลุ่มผู้ประท้วงชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกฝากขังในคดีการเมือง วันที่ 23 มกราคม 2566 (สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์)

 

ประชาชนจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง 

ในวันเดียวกันนี้ กลุ่มทะลุฟ้า และประชาชนร่วมร้อยคนจัดกิจกรรม ยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกควบคุมตัวทุกคน 

“การเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน และควรเป็นสิทธิของสังคมสมัยใหม่ สังคมประชาธิปไตย ไม่ควรจะต้องมีใครเสียเลือดเสียเนื้อ เสียสละร่างกายตัวเองเพื่อสิทธิ” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง กล่าวกับสื่อมวลชน 

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ศาลจำเป็นต้องพิจารณากระบวนการประกันตัวของศาลใหม่ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

“ประเด็นที่ตะวัน แบม นักกิจกรรมเรียกร้องเป็นเรื่องที่ค้างคาในสังคมมานานแล้ว และกระทบต่อคนรุ่นพวกเขาโดยตรง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ต้องออกมาหาทางออกเรื่องนี้ ศาลเองต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการประกันตัวอย่างเป็นระบบ เมื่อประชาชนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว และนำไปสู่การสูญเสีย” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว 

ส่วนองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวทั้งสองโดยเร็วที่สุด

 

สุนทร จงเจริญ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง