รัฐบาลให้คำมั่น 50 ล้านคน ได้ใช้หมื่นดิจิทัลก่อนสิ้นปี 67

เผยที่มา ใช้งบปี 67-68 รวม 4.50 แสนล้านบาท จ่ายผ่านแอพ “ทางรัฐ”
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.24
กรุงเทพฯ
รัฐบาลให้คำมั่น 50 ล้านคน ได้ใช้หมื่นดิจิทัลก่อนสิ้นปี 67 ชายรายหนึ่งขณะซื้ออาหารในตลาดสด ในกรุงเทพฯ วันที่ 2 ตุลาคม 2566 กลุ่มคนรายได้น้อยถือเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หลักจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

รัฐบาลแถลงในวันพุธนี้ว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทจะมีการจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคนก่อนสิ้นปี 2567 โดยจะใช้เงินจากงบประมาณของปี 2567-2568 รวมกัน 4.50 แสนล้านบาท โดยตั้งแอปพลิเคชันใหม่ “ทางรัฐ” สำหรับการใช้จ่าย 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยการแถลงเกี่ยวกับโครงการนี้ ครั้งที่หนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาลโดยระบุว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการซบเซามากว่า 10 ปี 

“วันนี้เกิดปัญหาขึ้นในระบบเศรษฐกิจ คือ ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูง ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มเกิดอาการ กำลังจะไปหาขนาดกลาง กำลังซื้อไม่มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแน่นอน แต่มันไม่เกิดขึ้นในวันเดียวหรือสองเดือน โครงการนี้ไม่ใช่โครงการแจกเงินธรรมดา เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ” นายพิชัย กล่าว

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนครั้งแรกในการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค 

ต่อมามีการเปิดเผยว่า จะสามารถเริ่มโครงการได้ในช่วงต้นปี 2567 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ กระทั่งมีการแถลงเลื่อนการดำเนินโครงการออกไปในปลายปี 2567 กระทั่งรัฐบาลได้แถลงข่าวเรื่องโครงการนี้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันพุธนี้ 

นายพิชัย ระบุว่า รัฐบาลหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก ได้แก่ 1. กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนกับร้านขนาดเล็ก บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 2. กระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าขนาดเล็กกับร้านขนาดใหญ่ 3. กระตุ้นการใช้จ่ายระหว่างร้านขนาดใหญ่ด้วยกัน สร้างโอกาสในการลงทุน และ 4. กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทวีคูณ ฟื้นฟูภาคการผลิต และสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ 

ใครจะได้ 1 หมื่นบาทดิจิทัล

ในการแถลงวันพุธนี้ รัฐบาลระบุว่า กำหนดให้ประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียน ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 และจะเริ่มจ่ายเงินภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยจ่ายครั้งเดียวต่อบุคคลให้กับผู้ถือสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน

ผู้ที่มีสิทธิรับเงินจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 8.40 แสนบาทในปีภาษี 2566 มีเงินฝากในธนาคารไม่เกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ และไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิในโครงการต่าง ๆ ของรัฐ 

“ขอให้มีความมั่นใจว่า เรามีแหล่งเงินเพียงพอสำหรับการดำเนินการโครงการชัดเจนทุกประการ มีประชาชนที่มีสิทธิ 50.7 ล้านคน แต่จากการประมาณการณ์จะมีคนเข้าร่วมโครงการ 45 ล้านคน จึงมีการเตรียมงบประมาณรอไว้ทั้งสิ้น 4.50 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ การบริหารจัดการการคลังของปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 2.85 แสนล้านบาท” นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะต้องลงทะเบียน และยืนยันด้วยตัวเองผ่านช่องทางที่รัฐจะกำหนดในวันที่ 16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567 ขณะที่ร้านค้าหากจะร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งรัฐบาลจะแจ้งเงื่อนไขของร้านค้าที่ร่วมโครงการในอนาคต 

240724-th-digital-wallet-scheme1.jpg
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 10 เมษายน 2567 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

เบื้องต้น ร้านค้าที่จะร่วมโครงการต้องเป็นร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น โดยประชาชนต้องซื้อสินค้าภายในอำเภอตามทะเบียนบ้าน และต้องซื้อแบบต่อหน้าเท่านั้นไม่สามารถซื้อออนไลน์ได้ 

เงื่อนไขในการใช้เงินดิจิตอล 1 หมื่นบาท อาทิ ไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ เป็นต้น ทั้งยังไม่สามารถเบิกถอนเป็นเงินสดได้

กระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนยังไม่ชัด

เมื่อสื่อมวลชนถาม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังว่า รัฐบาลได้ประเมินว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร นายเผ่าภูมิไม่สามารถระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ 

“เนื่องจากโครงการนี้ไม่เหมือนโครงการที่ผ่านมา ไม่สามารถอ้างอิงทางวิชาการ ที่จะบอกว่ามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่อย่างแน่ชัดได้ ในการประเมินของสำนักต่าง ๆ จึงใช้กรอบกว้าง ๆ โดยไม่มองเงื่อนไขอะไร กระทรวงการคลังเคยประเมินไว้มีตัวเลขอยู่ที่ (GDP เติบโต) 1.2-1.8% แต่ดิจิทัลวอลเล็ตเงื่อนไขอะไรต่าง ๆ ไม่เหมือนเดิมเลยต้องดูเรื่องการหมุนของเศรษฐกิจ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

หลังจากรัฐบาลแถลงข่าว น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะฝ่ายค้านได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า มีข้อกังวลหลายประเด็นเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเรื่องการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ 

“ในกรรมาธิการ หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการส่งผลต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาแล้ว กระทรวงการคลังได้มีการปรับเป้าหมายจากเดิมที่ 1.2-1.8% ของ GDP เหลือ 0.9% ส่วนสภาพัฒน์บอกว่าจะทำให้ GDP ของปี 67 โตอีก 0.3% ปี 68 อีก 0.3% ส่วนแบงค์ชาติบอกปี 67 โต 0.3% ปี 68 โต 0.2% ทั้งสามสำนักออกมาตรงกันว่า ยังไงก็กระตุ้นไม่ถึง % ของ GDP แน่นอน” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว

น.ส. ศิริกัญญา ระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาเรื่องกฎหมายของการนำใช้งบประมาณในโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล 

“เรื่องระบบจ่ายเงินมันซับซ้อนมาก ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่ทันแจกภายในไตรมาสสี่ ถ้าระบบยังไม่เรียบร้อยจนถึงวันนี้ ประชาชนจะมีความปลอดภัยไหม เงินดิจิทัลจ่ายไปแล้ว จะปรากฏในกระเป๋าของอีกคนใช่หรือไม่ ไม่ปรากฏเงินหล่นเงินหายระหว่างทาง” น.ส. ศิริกัญญา กล่าวเพิ่มเติม

ต่อประเด็นเดียวกัน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลคาด จะช่วยดึงความนิยมให้กับรัฐบาลมาก แต่ก็มีประเด็นที่น่ากังวลอยู่เช่นกัน 

"โครงการนี้มีข้อดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ก็มีข้อน่ากังวลเรื่องความยั่งยืน ภาระทางการคลัง และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง เชื่อว่า ความสำเร็จของโครงการนี้จะเสริมความนิยมและความชอบธรรมให้รัฐบาลมาก ๆ แต่ถ้ามันไม่เวิร์ค ก็อาจนำไปสู่วิกฤตศรัทธาและแรงกดดันทางการเมือง” ดร. เอียชา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ดร. เอียชา ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวคือ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ 

“รัฐบาลควรเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะไม่สำเร็จในทันที แต่ก็อยากเห็นสัญญาณเรื่องนี้ในรัฐบาลพลเรือน แต่สิ่งที่ยังคลุมเครือและเห็นการตอบคำถามที่ชัดเจนจากทีมเศรษฐกิจ คือ งบประมาณท้องถิ่น ความไม่ชัดเจนนี้ในระยะยาวอาจสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ” ดร. เอียชา กล่าวเพิ่มเติม

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง