UNODC: ยาเสพติดที่ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว

เพิ่มขึ้นมาก อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในทั่วโลก มันรวดเร็วมาก
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.02.04
กรุงเทพฯ
UNODC: ยาเสพติดที่ผลิตในสามเหลี่ยมทองคำ เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไทย (ในขณะนั้น) (ที่สองจากขวา) พร้อมเจ้าหน้าที่ ขณะตรวจเช็คยาเสพติด รวมทั้งเมทแอมเฟตามีน ระหว่างการแถลงข่าว ในกรุงเทพฯ วันที่ 11 พฤษภาคม 2561
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 12:25 PM EST 2021-02-05 

ในวันพฤหัสบดีนี้ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) ได้นำเสนอรายงานการลักลอบค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้กล่าวว่า ขบวนการผลิตยาเสพติดได้มีการใช้สารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดจากเดิมที่เป็นสารเอฟริดีน และซูโด-เอฟริดีน เป็นสารตัวอื่น โดยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดที่ผลิตในย่านสามเหลี่ยมทองคำได้เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว

โดยในวันนี้ นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนของยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้นำเสนอรายงานการลักลอบค้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อประโยชน์การปราบปรามสารตั้งต้นและยาเสพติดลุ่มแม่น้ำโขง ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ของไทย และต่างประเทศ โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

นายเจเรมี ดักลาส กล่าวว่า ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ยาเสพติดที่ผลิตในย่านสามเหลี่ยมทองคำได้เพิ่มขึ้นสี่เท่าตัว และมีการทำอาชญากรรมการผลิตยาเสพติดที่ซับซ้อนมากขึ้น

“ยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำเพิ่มขึ้นมาก อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในทั่วโลก มันรวดเร็วมาก” นายดักลาส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์  

“เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่า เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา นั่นหมายถึงว่า การทะลักของสารเคมีตั้งต้นเข้าไปยังสามเหลี่ยมทองคำด้วยเช่นกัน แต่ปัญหาก็คือ เรากลับไม่พบสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดที่เราเคยเจอ ได้แก่ ซูโด-เอฟริดีน และเอฟริดีน แต่เราพบสารอื่นแทน มีข้อบ่งชี้ว่า มีการกระทำอาชญากรรมที่มีความซับซ้อนในการแปรรูปสารเคมีในสามเหลี่ยมทองคำในขณะนี้” นายดักลาส กล่าว

ในเอกสารที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแจกจ่ายแก่สื่อมวลชน ระบุว่า ซูโด-เอฟริดีน และเอฟริดีน เป็นสารตั้งต้นพื้นฐานของยาบ้า แต่สารสามตัวที่พบว่ามีการนำมาใช้ทดแทน คือ Phenyl-2-Propanone, Caffeine และ Propionyl chloride

“โดยหลักพื้นฐาน หากคุณต้องการชะลอการไหล่บ่าของยาเสพติดเข้ามา คุณต้องชะลอการไหลเข้ามาของสารเคมีด้วย” นายดักลาส กล่าวเพิ่มเติม

นายเจเรมี ดักลาส ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า ทาง UNODC คาดหวังว่าทางประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มชาติลุ่มน้ำโขง รวมทั้งอินเดีย จีน และนานาชาติ จะได้ใช้เนื้อหาของการวิจัย ที่เป็นทั้งข้อเท็จจริงและข่าวกรองเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหา

“เราต้องนั่งลงแล้วคุยกันว่า เรามีวัตถุประสงค์อย่างไร แล้ววางแผนร่วมกับประชาคมนานาชาติว่า เราจะทำงานร่วมกันอย่างไร เพราะว่าเรามีทั้งชาติสมาชิกอาเซียน กลุ่มชาติลุ่มน้ำโขง รวมทั้งอินเดีย จีน และนานาชาติ” นายดักลาส กล่าว

ทั้งนี้ ในรายงานชื่อ “Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: Latest Developments and Challenges” ของ UNODC ที่เผยแพร่ในปี 2563 รายงานดังกล่าว ระบุว่า ประเทศย่านเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ สามารถจับกุมยาบ้าได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบปีต่อปี โดยในปี 2562 สามารถยึดยาบ้าได้ถึง 155 ตัน ยังไม่นับรวมตัวเลขที่ประเทศจีนยึดได้เฉลี่ยปีละ 30 ตัน ในห้วงเวลาห้าปีก่อน

รายงานยังระบุด้วยว่า ปริมาณยาบ้าที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้ราคายาเสพติดลดต่ำลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงตลาดยาบ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ในปี 2019

ด้าน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า รายงานระบุว่า มีการนำสารตั้งต้นสามชนิด คือ Phenyl-2-Propanone, Caffeine และ Propionyl chloride เข้ามาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำในปริมาณมากขึ้น

“วัตถุประสงค์คือ การจัดการเรื่องสารตั้งต้น เพราะสารตั้งต้นน้ำหนัก 1 ตัน สามารถผลิตยาบ้าได้ 10 ล้านเม็ด” นายสมศักดิ์ ระบุ

“แนวโน้มการจับกุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มนี้ เป็นข้อบ่งชี้ที่สําคัญที่แสดงให้เห็นว่าปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ เปลี่ยนจากยาเสพติดจากพืช เป็นยาเสพติดประเภทสังเคราะห์ หรือการใช้สารเคมี ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมในระบบระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

“ในปีที่ผ่านมาจากการประชุมร่วม รัฐมนตรีของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และได้ประกาศ “ปฏิบัติการร่วมสามเหลี่ยมทองคํา 1511” ที่มุ่งเน้นการยกระดับการป้องกันและสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์... โดยปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา สามารถจับยึดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67 และสามารถทําลายแหล่งผลิตยาเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง" รมว.ยุติธรรม เพิ่มเติม

นายเจเรมี ดักลาส กล่าวว่า การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ท้าทาย

“สิ่งที่ยากคือ เรื่องการเมือง ในอีกด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในเมียนมา ยังมีการแยกออกเป็นพื้นที่พิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพราะฉะนั้นเราต้องพูดถึงเรื่องการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย” นายเจเรมี ดักลาส กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหา

“มันจะเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับภูมิภาค ในการจัดการกับปัญหายาเสพติด และเราทุกคนต้องมาร่วมมือกัน เพราะนี่เป็นปัญหาระดับองค์กรอาชญากรรม” นายเจเรมี กล่าว

*ปรับปรุงข้อมูล : รายงานนี้ได้รับการอัพเดท ตามคำชี้แจงเพิ่มเติมจาก Jeremy Douglas ผู้แทนของยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง