ประยุทธ์หวังดันจีดีพี 4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และปีหน้า
2021.03.26
กรุงเทพฯ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโดดขึ้นถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ในสองปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 แม้ว่าธนาคารโลกคาดว่า ประเทศไทยจะมีคนยากจนเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งล้านคน ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ
รายงานเศรษฐกิจโลกอัพเดท ปี 2564 ของธนาคารโลกที่ชื่อ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน” ฉบับนี้ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวที่ไม่เต็มกำลัง รวมทั้งคาดว่า ยังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีผลผลิตมวลรวมอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิดในปี 2562 ซึ่งในปี 2563 เศรษฐกิจได้หดตัว 6.1 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางมรสุมโควิด เป็นการหดตัวที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ครั้งวิกฤติการต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผูสื่อข่าวหลังจากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวันนี้ว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโดดขึ้นให้ได้ 4 เปอร์เซ็นต์ ในสองปีนี้
“ขณะเดียวกันเราก็ไปเสริมธุรกิจใหม่ของเรา ในเรื่องของการที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของเรา ไม่งั้นมันก็เป็นอยู่แบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกันในเรื่องของการลงทุนใหม่ ลงทุนในประเทศ การออมเงิน เพิ่มขึ้นหลายแสนล้าน ไม่ใช่ไม่มีสตางค์ คนมีสตางค์ก็มีแต่ต้องเอามาช่วยกันใช้จ่าย ช่วยกันลงทุนบ้างรัฐบาลก็มีเงินจำกัดอยู่แค่นี้แหละ เงินงบประมาณแผ่นดิน กับเงินในส่วนของรัฐวิสาหกิจก็เร่งลงทุนไป” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
“เราถึงคาดการณ์ว่าช่วยกันแบบนี้ ทุกภาคส่วน หอการค้าอุตสาหกรรมรัฐบาล ธุรกิจเอกชน ร่วมมือกันในทุกมิติ เราน่าจะดันจีดีพีเราขึ้นถึงสี่เปอร์เซ็นได้ ในปีนี้และปีหน้า เราตั้งเป้าหมายนี้ไว้ เราต้องทำลายอุปสรรคตรงนี้ให้ได้ ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทางรัฐบาลได้เร่งฉีดวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองเดือนแรกของการเริ่มฉีดวัคซีน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนเพียงแค่หนึ่งล้านโดสเท่านั้น เมื่อหลังเดือนเมษายนไปแล้ว จึงจะได้มากขึ้น
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า การที่รัฐบาลไม่เปิดกว้างในการค้าการท่องเที่ยว เพื่อแลกกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ได้มีผลกระทบด้านลบที่สำคัญต่อกลุ่มคนที่ยากจนอยู่แล้ว และกลุ่มแรงงานนอกระบบ
ธนาคารโลกคาด การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะเด้งกลับอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ปีนี้
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลาสองปีข้างหน้านี้ แต่ยังมีแนวโน้มของความไม่แน่นอน โดยระบุว่าผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคน โดยในปี 2564 นี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเด้งกลับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ และจะเพิ่มขิ้นเป็น 4.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2565 ซึ่งจะเท่ากับจีดีพีก่อนการเกิดโรคระบาดโควิดในปี 2563
ทั้งนี้ หากอนุมานได้ว่ารัฐบาลยังควบคุมการระบาดไว้ได้และมีการฉีดวัคซีนได้ตามแผนการณ์ที่วางไว้ คาดว่ากิจการต่างๆ จะกลับมาเป็นปกติในปี 2564 นี้ โดยในบริบทนี้ การเดินทางในประเทศค่อยๆ กลับสู่สภาวะเหมือนกับตอนก่อนมีโรคระบาด ในขณะที่รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากภายนอกจะค่อย ๆ เพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของการซื้อสินค้าและการเข้ามาท่องเที่ยวของต่างชาติ จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในปี 2564 หากอนุมานได้ว่าจะมีการทยอยเปิดพรมแดน
ธนาคารโลก เปิดเผยในรายงานตามติดเศรษฐกิจของภูมิภาคฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา) ว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ต่างมีการฟื้นตัวได้อย่างไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเพียงประเทศจีนและเวียดนามเท่านั้น ที่มีการฟื้นตัวเป็นรูปตัววี และขณะนี้มีผลผลิตสูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 แล้ว
โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น เศรษฐกิจได้หดตัว 6.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2563 เพราะโควิด ซึ่งเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ครั้งวิกฤติการต้มยำกุ้ง และคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวที่ไม่เต็มกำลัง รวมทั้งคาดว่ายังมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีผลผลิตมวลรวมอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดของโควิดในปี 2563 ที่ 4.7 เปอร์เซ็นต์
รายงาน การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน ฉบับดังกล่าว ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่น ๆ ในภูมิภาค ผลผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดราวร้อยละ 5 โดยเฉลี่ย ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ความสามารถในการคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และศักยภาพของรัฐบาล ในการให้ความสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการเงิน
ในปี 2563 ความยากจนในภูมิภาคไม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ประมาณ 32 ล้านคนในภูมิภาคไม่สามารถออกจากความยากจนได้ (ระดับเส้นความยากจนอยู่ที่รายได้ $5.50/วัน หรือประมาณ 165 บาทต่อวัน) เนื่องจากการแพร่ระบาด
“การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้การลดความยากจนต้องหยุดชะงักไป และความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น” วิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว
“ขณะที่เริ่มมีการฟื้นตัวในปี 2564 ประเทศต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเปราะบาง และดูแลให้เกิดการฟื้นฟูที่ครอบคลุม คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และพร้อมรับมือและปรับตัวกับอุปสรรคใหม่ที่เข้ามา” วิคตอเรีย ควาควา กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากการแพร่ระบาด การล็อกดาวน์ ตลอดจนการเข้าถึงความช่วยเหลือทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม ในบางประเทศ เด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนล่างสุด สองส่วนในห้าส่วนของการกระจายรายได้ มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้น้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่อยู่ในส่วนสูงสุด หนึ่งในห้า ถึงร้อยละ 20 ผู้หญิงต้องเผชิญความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ถึงร้อยละ 25 จากสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามในลาว และร้อยละ 83 ในอินโดนีเซียระบุว่า ความรุนแรงจากคนใกล้ชิดมีสภาพเลวร้ายลง เนื่องจากโควิด-19
การเติบโตของภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 1.2 ในปี 2563 เป็น 7.6 ในปี 2564 แต่ก็มีแนวโน้มที่การฟื้นตัวจะดำเนินไปด้วยความเร็วที่แตกต่างกันสามระดับ จีนและเวียดนามคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นไปอีกในปี 2564 คือ ร้อยละ 8.1 และ 6.6 ตามลำดับ จากร้อยละ 2.3 และ 2.9 ในปี 2563 เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคที่บอบช้ำจากวิกฤตมากกว่า จะเติบโตประมาณร้อยละ 4.6 โดยเฉลี่ย ซึ่งช้ากว่าอัตราการเติบโตก่อนวิกฤตเล็กน้อย การฟื้นตัวคาดว่าจะใช้เวลานานในประเทศหมู่เกาะที่พึ่งการท่องเที่ยว
รายงานยังเสนอให้มีการดำเนินการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด พยุงเศรษฐกิจ และช่วยให้เกิดการฟื้นตัวโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และระบุว่าปริมาณและการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบันจะทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ภายในสิ้นปี 2564 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะครอบคลุมได้เพียงร้อยละ 55 ของประชากรเท่านั้น
หลายประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การให้ความช่วยเหลือบรรเทาไม่พอกับรายได้ที่สูญเสียไป การกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้ช่วยเยียวยาอุปสงค์หรือความต้องการที่ขาดหายไปได้อย่างเต็มที่ และการลงทุนภาครัฐไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง ร้อยละ 7 ของ GDP และมาตรการ “สีเขียว” (มาตรการบรรเทาสภาพภูมิอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อม) ถูกแซงหน้าโดยกิจกรรม “สีน้ำตาล” ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมาตรการฟื้นฟูของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค มีเพียงหนึ่งในสี่เท่านั้น ที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าวนี้