ครม. อนุมัติมาตรการช่วยค่าครองชีพช่วงรัสเซีย-ยูเครนสู้รบ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.03.22
กรุงเทพฯ
ครม. อนุมัติมาตรการช่วยค่าครองชีพช่วงรัสเซีย-ยูเครนสู้รบ พ่อค้าทำอาหารขายข้างทาง ในย่านเยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 17 มีนาคม 2565
รอยเตอร์

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในวันอังคารนี้ ให้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน หลังจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคผันผวนอย่างรุนแรง ส่วนประชาชนขอให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบในยูเครนอย่างใกล้ชิด จึงได้มีมาตรการ 10 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

“ได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย อาจจะไม่จบลงโดยเร็ว ผมจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างน้อย 10 มาตรการ” พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ

มาตรการที่ ครม. อนุมัติ ประกอบด้วย 1. เพิ่มเงินช่วยเหลือจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน เพื่อซื้อแก๊สหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน 2. ลดราคาแก๊สหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน 3. ลดค่าน้ำมันเดือนละ 250 บาทให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน 4. คงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

5. ให้ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อแก๊สได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม 6. ลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน 7. ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 8. เดือนเมษายน-มิถุนายน จะคุมราคาแก๊สหุงต้มโดยใช้กองทุนน้ำมัน 9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์ และ 10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 1.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 9 เปอร์เซ็นต์ และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

หลังจากที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สหรัฐอเมริกาและประเทศกลุ่มยุโรป ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในหลายรูปแบบ รวมถึงการยกเลิกการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก มีกำลังผลิตประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและประเทศไทย รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายอย่างปรับตัวสูงขึ้น นำมาสู่การเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา

นายวินัย (สงวนนามสกุล) อายุ 59 ปี อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ย่านดอนเมือง กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน รายได้จากการรับจ้างได้น้อยลงกว่าเดิม นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ราคาน้ำมันกลับแพงขึ้น ทำให้ได้รับผลกระทบต่อรายได้อย่างหนัก

“ตั้งแต่ต้นปีขึ้นมาหลายบาทแล้ว จะเลิกวิ่งไปทำอย่างอื่นก็ยาก อยากให้รัฐบาลทำยังไงก็ช่วยลดราคาน้ำมันได้ไหม เพราะปัจจุบัน ข้าวก็แพง น้ำมันก็แพง ประชาชนจะตายเอา” นายวินัย กล่าว

ราคาขายปลีกเบนซินและเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 46.76 และ 39.08 บาทต่อลิตรตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 43.56 และ 35.48 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัสเซียเริ่มโจมตียูเครน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตรตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ธนาคารรัฐพักหนี้ลูกค้า

ด้าน น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบให้มีมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร สำหรับลูกหนี้ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้น 9,282.92 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี

“พักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน และให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ตามระยะเวลาที่ตกลง แต่ไม่เกิน 15 ปี เมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนเสร็จสิ้นแล้ว เงินต้นร้อยละ 50 ที่พักไว้ และดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการยกให้เกษตรกรทั้งหมด โดยสถาบันเจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยเงินต้นจากรัฐบาล สำหรับการชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นไปตามมติ ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มกับสถาบันการเงินอื่นใดอีก” น.ส. ไตรศุลี กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง