เรืองไกรร้อง กกต. ตรวจสอบพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี

นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2023.05.10
กรุงเทพฯ
เรืองไกรร้อง กกต. ตรวจสอบพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล อยู่บนรถลงพื้นที่ช่วยลูกพรรคหาเสียง ในเขต 10 ดอนเมือง และเขต 11 สายไหม ตลอดสองข้างทางที่รถผ่านมีประชาชนให้การต้อนรับ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

อีกเพียงไม่กี่วันก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคก้าวไกล มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อมวลชน ซึ่งอาจทำให้นายพิธาที่กระแสความนิยมยังคงแรงขึ้นอันดับหนึ่งจากโพลหลายสำนักถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซ้ำรอยหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกกีดกันจนสิ้นสมาชิกภาพทางการเมืองเมื่อหลายปีก่อน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันพุธนี้ ให้ตรวจสอบกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสื่อมวลชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนยื่นคำร้องต่อ กกต. เพราะเห็นความผิดปกติ แต่ไม่ได้หวังให้เกิดผลถึงการยุบพรรคก้าวไกล

“พบข้อมูลของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน เอกสารที่พบเป็นเอกสาร ณ 7 เมษา 66 เมื่อพบแล้วเนี่ย ผมก็ต้องขอรายชื่อผู้ถือหุ้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจสอบว่าก่อนหน้านี้เคยถือหรือไม่ บริษัทที่ถือเป็นสื่อหรือไม่ ก็ชัดเจน บริษัท ไอทีวี ทำกิจการด้านสื่อ”​ นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรยังระบุว่า เอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด 42,000 หุ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่ระบุว่า ผู้ถือหุ้นได้สอบถามผู้บริษัทว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารได้ตอบว่าเป็นบริษัทสื่อ ตนเองจึงมาร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่ากรณีนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ซึ่งระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องไม่ถือครองหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน หรือไม่

ด้าน นายพิธา ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ตนเองไม่ได้ถือครองหุ้นดังกล่าว

“ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก. (ผู้จัดการ)มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ปปช. ไปนานแล้ว ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต. ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้” นายพิธา ทวีตในบ่ายวันอังคารนี้

นายพิธา เป็นบุตรชายของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ นักธุรกิจ และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อนายพงษ์ศักดิ์เสียชีวิตใน ปี 2549 นายพิธาจึงต้องเป็นผู้ดูแลธุรกิจ และหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่บิดาเคยครอบครอง โดยในจำนวนนั้นมีหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน อยู่ด้วย

ในเรื่องนี้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นายพิธามีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญในการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

“นายพิธา คือหนึ่งในทายาทโดยธรรม หุ้นนั้นตกเป็นของนายพิธา และทายาทอื่นด้วยทันทีที่บิดาเสียชีวิต… บริษัท ITV แจ้งว่ายังประกอบกิจการอยู่และมีรายงานแสดงผลของกิจการไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไรก็ตาม ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอื่นได้ว่านายพิธา เป็นผู้ถือหุ้น ITV ที่เป็นสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย ระบุ

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนาม บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา โดยมีรายการส่วนใหญ่เป็นรายการข่าวและสารคดี ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ

นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “บริษัท ไอทีวี หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่านายธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่า นิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่นายธนาธรจะได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ก็ตาม

กรณีของนายพิธา เคยมีคดีที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นแต่ศาลไม่ตัดสิทธิ์ผู้ถูกร้อง กล่าวคือ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิพากษาว่า การที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 2 จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ถือหุ้น 200 หุ้น ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) ที่มีบริษัทลูกประกอบธุรกิจสื่อมวลชน สามารถลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ได้ มิได้มีคุณสมบัติขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)

“จำนวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอํานาจสั่งการให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ดําเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น”​ ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง