เลือกตั้ง 66 : การต่อสู้ของพรรคร่วมอุดมการณ์ตัดคะแนนกันเอง
2023.05.03
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ว่าการแย่งคะแนนระหว่างพรรคอุดมการณ์เดียวกัน ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคฝ่ายค้าน อาจทำให้พรรคเหล่านั้นกลายเป็นผู้แพ้ทั้งหมดได้ ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นี้
ภาพการห้ำหั่นกันเองของพรรคที่ประชาชนมองว่า มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านที่สื่อมักเรียกว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” หรือพรรคร่วมรัฐบาลที่มักถูกเรียกว่า “พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงการชิงดีชิงเด่น เพื่อชิงคะแนนเสียงกันและกัน และเหมือนว่ายิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไหร่ การต่อสู้ก็ยิ่งเข้มข้นเท่านั้น แต่นักวิชาการชี้ว่า สิ่งที่เกือบทุกพรรคต้องการเหมือนกัน คือ พรรคของตนจะได้คะแนนเสียงมากพอ และ ส.ว. จะไม่แทรกแซงการเลือกนายกรัฐมนตรี
ในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภาพที่ชัดเจนของ “การแข่งขันกัน” เผยให้สาธารณชนเห็นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 เมื่อกองอำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้ส่งข้อความถึงผู้ลงสมัคร ส.ส. ของพรรค ระบุว่า “คะแนนก้าวไกลพุ่งขึ้นมาเรื่อย ๆ หลายเขตจำนวนไม่น้อยจ่อเข้าที่สองเกือบทุกเขต ถ้าพวกท่านยังขยันไม่พอ และไม่เข้าหาประชาชน เราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ตามที่ต้องการ”
ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เพื่อไทยที่มีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมาตลอด เริ่มสะทกสะท้านกับกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคก้าวไกล ขณะที่ก้าวไกลก็แสดงออกในการปราศรัยหลายครั้งว่า พวกเขาเห็นเพื่อไทยเป็นคู่แข่ง และต้องการที่จะช่วงชิงคะแนนเสียงจากเพื่อไทยด้วยเช่นกัน
“เวลาพรรคก้าวไกลออกแบบนโยบายการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต พวกเขาก็บอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเพ้อฝันไม่มีทางเกิดได้จริงในประเทศไทย เวลานักการเมืองมีอุดมการณ์ตรงไปตรงมา เขาก็บอกนักการเมืองแบบนี้อ่อนด้อยประสบการณ์” ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล กล่าวบนเวทีปราศรัยในวันที่ 22 เมษายน 2566
แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อพรรค แต่คอการเมืองและนักการเมืองต่างรู้ว่า “เขา” ที่ปิยบุตรกล่าวบนเวทีหมายถึงได้แค่พรรคเดียว คือ “เพื่อไทย” ซึ่งวันถัดมา ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เขียนข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวคล้ายจะตอบโต้คำปราศรัยของปิยบุตร
“ประชาชนต้องการพรรคการเมืองที่มีวุฒิภาวะ มีความสามารถที่จะทำงานกับผู้อื่น ๆ ได้ มีความสามารถที่จะทำงานเป็น ทำได้จริง มีประสิทธิภาพที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหาและชีวิตประชาชนได้ในวันนี้ มิใช่ความสามารถที่ไกลเกินเอื้อม ไม่ใช่ฝันถึงดวงดาว แต่ไปได้ไกลแค่ต้นมะพร้าว…” ภูมิธรรม อดีตคนเดือนตุลา และหนึ่งในกุนซือของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ
“ในฐานะคนที่ทำการเมืองกับเพื่อไทยมาแต่เริ่มก่อตั้งพรรค เราทำมาก่อนแล้วทุกเรื่อง ไม่ว่าสมรสเท่าเทียม ไม่ว่าสุราพื้นบ้าน ไม่ว่ากระจายอำนาจ ไม่ว่าจะแก้ไขโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแก้ไขรัฐราชการให้เป็นรัฐประชาชน” ภูมิธรรม ทวีต ในวันที่ 23 เมษายน 2566 มุ่งตรงไปที่แนวทางและนโยบายหลักของก้าวไกล
เมื่อดูที่ผลการสำรวจความนิยม ก็สะท้อนความเข้มข้นเช่นกัน โดยนิด้าโพลเผยผลสำรวจ ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2566 ระบุว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ก้าวไกล ได้รับเสียงโหวต 35.44 เปอร์เซ็นต์ แซงแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ที่ได้ 29.20 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งครั้งแรก และคะแนนนิยมปาร์ตี้ลิสต์พรรค แม้เพื่อไทยจะได้ 37.92 เปอร์เซ็นต์ครองอันดับหนึ่ง แต่ก้าวไกลก็ไล่บี้ที่ 35.36 เปอร์เซ็นต์ ครองอันดับสอง
โดย ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า ระบุว่า “กระแสของก้าวไกลมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นอีก ขณะที่เพื่อไทยมีแนวโน้มลดลง”
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ เตะตะกร้อกับเยาวชนระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงภายในสวนลุมพินี กรุงเทพฯ วันที่ 20 เมษายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
พรรคร่วมรัฐบาลก็ซัดกันเอง
ไม่ใช่แค่ฝั่งฝ่ายค้านที่เปิดสงครามแย่งชิงคะแนนเสียง แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนเช่นกันว่า พวกเขาพร้อมสู้ทุกทาง เมื่อวันเลือกตั้งงวดเข้ามาเรื่อย ๆ
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย เปิดศึกด้วยการพาดพิง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในการปราศรัยที่กรุงเทพฯ
“เลือกคราวที่แล้ว ได้เพราะอยากจะได้นายกฯ ที่มาดูแลความสงบ วันนี้ความสงบมันมีอยู่แล้วครับ สิ่งที่ไม่มีก็คือ ตังค์ในกระเป๋า ตังค์ในกระเป๋าจะให้นายกฯ คนเดิมมาบริหาร แกบริหารไม่เป็นหรอกครับ 8 ปีแล้วครับลุง” ศุภชัย กล่าว
ขณะที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็โจมตีรัฐบาลปัจจุบัน ในเรื่องค่าไฟฟ้า และพลังงาน ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 ระหว่างการปราศรัย
“ค่าเชื้อเพลิงแพง ก๊าซหุงต้มแพง และค่าไฟฟ้าก็โคตรแพง ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาใหญ่จริง ๆ ที่เราเห็นแล้วต้องรีบแก้ไข” นายชัยวุฒิ กล่าว
แม้ไม่ได้ถูกระบุชื่อตรง ๆ แต่ พล.อ. ประยุทธ์ เองรับรู้ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมีอารมณ์จนนำเรื่องดังกล่าวมาพูดกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล
“ไม่ควรจะมาโจมตีกันเองมากนัก ผมว่านะ จะบอกว่าไปทำอะไรเมื่อตัวเองเป็นรัฐบาลก็พูดอย่างนั้นดีกว่า... ฉะนั้นมาติติงกันเองก็อย่าลืมว่าอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน 4 ปี ทุกอย่างโยนผม อย่าลืมว่าผมประชุมมาใน ครม. ผมก็ฟังความคิดเห็นทุกคน ทุกรัฐมนตรี… ถ้ามันจะดีมันก็ดีด้วยกัน ถ้าผิดพลาดมันก็ผิดพลาดด้วยกัน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในปลายเดือนเมษายน 2566
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน พล.อ. ประยุทธ์ และรวมไทยสร้างชาติ ยังได้รับคะแนนนิยมมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยตัวบุคคลโพลให้ 14.84 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคะแนนนิยมพรรค 12.84 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจของนิด้าโพลปลายเดือนเมษายน 2566
เมื่อมอง หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จากประชาธิปัตย์ 1.68 เปอร์เซ็นต์, อนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ ภูมิใจไทย อยู่ที่ 1.36 เปอร์เซ็นต์ ส่วน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพลังประชารัฐไม่ติดอยู่ในการจัดอันดับ ส่วนความนิยมพรรค ประชาธิปัตย์ 3.32 เปอร์เซ็นต์ ภูมิใจไทย 2.36 เปอร์เซ็นต์ และพลังประชารัฐ 1.28 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โบกมือให้กับมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในงานปราศรัยใหญ่ที่สนามธันเดอร์โดม เมืองทองธานี นนทบุรี พร้อมด้วย ชัยเกษม นิติสิริ (ซ้ายมือ) และเศรษฐา ทวีสิน วันที่ 5 เมษายน 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
การแย่งคะแนนเข้มข้นขึ้น อาจทำให้แพ้ทั้งคู่
ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิชาการมองว่าสุดท้ายแม้จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการหาเสียง แต่หลังเลือกตั้งพรรคที่เคยเป็นคู่แข่งกัน ก็อาจจับมือร่วมรัฐบาลกันได้ และฉากทัศน์ในการร่วมรัฐบาลก็มีได้หลายแบบ
“ก้าวไกลวางเงื่อนไขร่วมรัฐบาลเยอะที่สุด ทั้งไม่เอาลุงตู่ (ประยุทธ์), ลุงป้อม (ประวิตร) เพราะอาจคิดว่ายอมเป็นฝ่ายค้านได้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็จะไม่ได้แสดงผลงาน ฉะนั้นฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ที่สุด หากก้าวไกลอยากเป็นรัฐบาล คือ เพื่อไทยได้คะแนนเยอะ แต่ก้าวไกลเองก็ต้องได้คะแนนเยอะด้วย แล้วค่อยจับมือกัน” ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“เชื่อว่าการโจมตีพรรคคู่แข่งช่วงโค้งสุดท้ายมีแน่ แต่อาจไม่ใช่การโจมตีข้ามฝั่ง เพราะการแบ่งเขตมีคะแนนก้ำกึ่งมาก โดยเฉพาะเขตเมือง คนก็ไม่ได้ผูกพันกับผู้สมัคร จะอิงกับพรรคมากกว่าตัวบุคคล ทำให้เพื่อไทยเองกังวล” ดร. ณัฐกร กล่าว
ด้าน อาจารย์ธัชชนก สัตยวินิจ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่าการแย่งคะแนนระหว่างพรรคอุดมการณ์เดียวกัน อาจทำให้พรรคเหล่านั้นกลายเป็นผู้แพ้ทั้งหมดได้
“เรื่อง ส.ส. แบ่งเขต การแพ้ทั้งคู่เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่เราคงเห็นไม่เยอะมาก แต่มันจะปรากฎให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป พรรคใหญ่ ๆ เจ้าของพื้นที่เริ่มจะเสียคะแนนดั้งเดิมให้กับพรรคใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ และพรรคเล็ก ๆ ก็จะสอดแทรกขึ้นมา” อาจารย์ธัชชนก กล่าว
“เชื่อว่าถ้าพรรครัฐบาลมีพลังประชารัฐ หรือรวมไทยสร้างชาติรวมอยู่ ก้าวไกลจะยอมเป็นฝ่ายค้าน เพราะเป็นพรรคเดียวที่ประกาศชัดเจนก่อนเลือกตั้ง แต่คงยากที่จะเห็นพรรคเพื่อไทยฟันธงว่า จะร่วมกับใคร ไม่ร่วมกับใคร ความไหลลื่นของเพื่อไทยนี่เองที่อาจทำให้เราพอจะสันนิษฐานได้ว่า เพื่อไทยจะไม่ยอมเป็นฝ่ายค้านอีกแล้ว” อาจารย์ธัชชนก กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ดร. ณัฐกร ชี้ว่า ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการหาเสียง มีประเด็นหนึ่งที่เกือบทุกพรรคเห็นตรงกันคือ ทุกพรรคไม่อยากให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ เพราะอยากได้ ส.ส. มากพอ และเลือกนายกฯ ที่ตนต้องการ
“จากการดูดีเบตช่วงเลือกตั้ง มีสิ่งเดียวที่ทุกพรรคเห็นตรงกันคือ การปิดสวิทช์ ส.ว. แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ตาม” ดร. ณัฐกร ระบุ