กกต. แจงโควิดเป็นอุปสรรคขัดขวางการเลือกตั้ง อบจ.
2020.12.21
ปัตตานี และกรุงเทพฯ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยหลังการปิดหีบเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ว่า ภาพรวมการเลือกตั้ง อบจ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะประกาศผลอย่างเป็นทางการได้อย่างช้าที่สุดภายใน 60 วัน โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่อย่างรวดเร็ว ก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าที่ควร
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ นับเป็นการเลือกตั้งระดับจังหวัดเป็นครั้งแรก หลังจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2557
“ในภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ 76 จังหวัดทั่วประเทศ … มีการฉีกบัตรเลือกตั้ง อาจจะเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการบ้าง รวมทั้งสิ้น 8 เรื่อง 8 จังหวัด… เรื่องร้องเรียนทั้งหมด 140 เรื่อง… สมุทรสาคร แต่ละหน่วยอาจจะเบาบาง ภาพรวมทั่วประเทศ คือ 96,191 หน่วยปิดหีบเรียบร้อย ไม่มีรายงานปัญหาอะไร” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
“ในการเลือกตั้ง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน หลังจากการเลือกตั้ง ถ้าเหตุอันควรว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ให้ กกต. ทำการสืบสวนและไต่สวนให้แล้วเสร็จ ให้ประกาศผลเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น แล้วก็ประกาศผล ทั้งหมด ไม่เกิน 60 วัน กกต. ก็คงต้องประกาศผล” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวเพิ่มเติม
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน จากนราธิวาส, นายมุขตาร์ มะทะ จากยะลา และ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี จากปัตตานี ได้คะแนนสูงสุดจากการสรุปผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะที่คณะก้าวหน้าแพ้เลือกตั้งทั้งหมด 42 จังหวัด ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. ลง ด้านนักวิชาการชี้ ผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็สอบตกในการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นกัน
การเลือกตั้ง นายก อบจ. และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ถูกจัดขึ้นระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และหลังจากที่แต่ละหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนเสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 22.00 น. จากการสรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของจังหวัดนราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีต นายก อบจ. 3 สมัย ได้ 189,062 คะแนน เอาชนะ นายรำรี มามะ ผู้สมัครอิสระ ที่ได้ 147,756 คะแนน และ นายคอยรูซามัน มะ จากคณะก้าวหน้าที่ได้ 21,841 คะแนนไป
ในจังหวัดยะลา นายมุขตาร์ มะทะ อดีต นายก อบจ. ได้ 168,714 คะแนน เอาชนะ นายอับดุลลาเตะ ยากัด ที่ได้ 39,671 คะแนน ขณะที่จังหวัดปัตตานี นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี อดีต นายก อบจ. 3 สมัย ได้ 201,086 คะแนน เอาชนะ นายรุสดี สารอเฮง ที่ได้ 95,920 คะแนนไป ด้าน ผลการเลือกตั้ง ส.อบจ. ทั้งนราธิวาส ยะลา และปัตตานี จังหวัดละ 30 คน ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกของแต่ละเขตจำนวนมากเคยดำรงตำแหน่ง ส.อบจ. มาแล้ว โดยมีส่วนน้อยที่เป็น ส.อบจ. หน้าใหม่
สำหรับ นราธิวาส เขตการเลือกตั้ง 30 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 558,061 คน ผู้มาใช้สิทธิ 392,517 คน คิดเป็น 70.34 เปอร์เซ็นต์ ยะลาเขตการเลือกตั้ง 30 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 367,658 คน มาใช้สิทธิ 253,744 คน คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ และ ปัตตานีเขตการเลือกตั้ง 30 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 493,484 คน มาใช้สิทธิ จำนวน 350,761 คน คิดเป็น 71.08 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ทั่วประเทศแล้ว สำหรับคณะก้าวหน้าไม่ได้ตำแหน่ง นายก อบจ. เลยจากการส่งผู้สมัครใน 42 จังหวัด ด้าน ส.อบจ คณะก้าวหน้า ชนะการเลือก 55 เขต ใน 18 จังหวัด พรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มอิสระซึ่งเป็นเครือข่ายพรรคเพื่อไทยได้เก้าอี้ นายก อบจ. ในภาคเหนือ และอีสานจำนวนมาก สำหรับ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ นายก อบจ. ที่ได้รับเลือกส่วนมากมาจากกลุ่มอิสระ
ประชาชนเชื่อว่าเลือกตั้ง จชต. อาจมีการซื้อเสียง
นายฮาฟิส โต๊ะอีแม ชาวยะลา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ หลังการเลือกตั้ง อบจ. ว่า เชื่อว่าผลงานในอดีต และเม็ดเงินที่ใช้กับการเลือกตั้งมีส่วนสำคัญกับผลการเลือกตั้งในจังหวัด
“เป็นเรื่องปกติของบ้านเรา ผลงานที่ทำกับเงินต้องมาคู่กันชาวบ้านจึงจะเลือก แต่ถ้ามาเงินอย่างเดียวจำนวนมากกว่าอีกฝ่ายก็กาให้ทั้งนั้น และถ้าผลงานอย่างเดียวเพียวๆ ก็ไม่กาให้ สรุปคืออำนาจเงินทำให้ชาวบ้านเลือกตั้งทุกครั้ง ประกอบกับทราบมาว่ามีการเจรจากันด้วยทำให้คะแนนคนเก่าได้นำมาทุกจังหวัด และผลที่ออกกมาคนเก่าที่ได้ทั้งนั้น” นายฮาฟิส กล่าว
นายอีซอ มะแซ ชาวนราธิวาส เชื่อว่า ผลการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ จะไม่ช่วยให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทำได้ดีขึ้น
“ผลออกมาเป็นไปตามที่คิดไว้เลย สามจังหวัดได้คนเก่า เพราะเขามีการเจรจาบวกกับอำนาจเงินที่ทำให้คนออกมาเลือก ก็ไม่แปลกใจ เลือกมายังไงก็ต้องยอมรับสภาพต่อการแก้ปัญหาของผู้นำ เวลาเดือดร้อน ไม่มีการแก้ปัญหา หรือการช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ชาวบ้านก็ต้องย้อนกลับมามองที่เราเอง ตอนเลือกเราเลือกเพราะอะไร คนดีที่มาจากเงินย่อมแก้ปัญหาบ้านเมืองตามอำนาจเงินที่หมดไป” นายอีซอ กล่าว
นักวิชาการชี้ ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ สอบตก นายก อบจ. ไม่ต่างกับก้าวหน้า
ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ หลังการประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริการส่วนจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการว่า ในภาพรวมผลการเลือกตั้งยังสอดคล้องกับการเมืองระดับชาติผ่านการเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นความพ่ายแพ้ของคณะก้าวหน้า
“ผลของแต่ละภาคไม่เหมือนกัน แต่สังเกตุว่า หาก ส.ส. ส่วนใหญ่ในจังหวัดมาจากพรรคใด ก็มักจะได้ นายก อบจ.เป็นพรรคนั้น ยกเว้นในบางพื้นที่ เช่น ภาคใต้ ที่ปรากฏว่าผู้สมัครของเครือข่ายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สอบตกทั้งหมดในภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่การเลือกตั้ง ส.ส. เครือข่ายเหล่านี้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง” ดร.ณัฐกร เผยต่อเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“ถ้าเป้าหมายของคณะก้าวหน้าเป็นการเมืองท้องถิ่นจริงก็ถือว่าล้มเหลว แต่ผมไม่ได้คิดว่าเป็นเป้าหมายหลัก คณะฯ ต้องการรักษาฐานคะแนนของตนเอง และใช้ประเมินเพื่อเดินหน้าต่อในการเมืองระดับชาติ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์พิเศษ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ วันหยุดยาว โควิด แต่คณะฯ ก็ยัได้คะแนนที่ไม่ต่างกับที่เขาได้เมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่นับว่าเป็นการแพ้เสียทีเดียว แล้วยิ่งถ้าท้องถิ่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก แค่นี้ก็เป็นชัยชนะแล้ว เพราะถือว่าเสียงเขายังดี ฐานยังแน่น ขนาดว่าไม่รวมถึงเสียงอื่นๆ ในพื้นที่ ๆ คณะฯ ไม่ได้ส่งใครลง” ดร.ณัฐกร ระบุเพิ่มเติม
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ผลการเลือกตั้งยังไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่นมากนัก แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ที่ประชาชนมีสิทธิได้เลือกผู้บริหารของตนเอง
“การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นส่งเสริมให้คนมีโอกาสร่วมตัดสินใจในการใช้งบประมาณมากขึ้น การที่คณะก้าวหน้าลงมาทำการเมืองท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะพรรคการเมืองเดิมทำการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ แต่คณะก้าวหน้าพยายามเสนอการทำงานระบบตัวแทนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณของท้อนถิ่นยังถูกครอบงำโดยรัฐบาลกลาง ยังไม่ได้สะท้อนภาพการบริหารอย่างเป็นอิสระ” นายฐิติพล กล่าว
การเลือกตั้ง นายก อบจ. ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2555 ที่จังหวัดลำพูน และอำนาจเจริญ แต่ต่อมา การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก เนื่องจากในสมัย คสช. มีการออกคำสั่งให้ นายก อบจ. ที่หมดวาระลงใยขณะนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง นายก อบจ. 331 คน และ ส.อบจ. 8,070 คน โดยในทุกจังหวัด ยกเว้น กรุงเทพฯ จะมี นายก อบจ. จังหวัดละ 1 คน และ ส.อบจ. ตั้งแต่ 24-48 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั่วประเทศกว่า 46 ล้านคน
นายก อบจ. มีหน้าที่บริหาร ทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายงานผลการปฏิบัติงาน และการใช้จ่ายงบให้สภาท้องถิ่นทราบ ขณะที่ ส.อบจ. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกข้อบัญญัติที่ใช้ในท้องถิ่น การจัดการเรื่องต่างๆ การออกความเห็นชอบในนโยบาย และการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ทั้ง 2 ตำแหน่งมีวาระคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ นายก อบจ. จะได้รับเงินเดือน 75,530 บาท ขณะที่ ส.อบจ. จะได้รับเงินเดือนเดือนละ 19,440 บาท