คนไทยเจ็บตายในศึกฮามาสโจมตีอิสราเอล

กต. รายงานเบื้องต้นแรงงานไทยตายหนึ่ง เจ็บ 8 ถูกลักพาตัว 11 คน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.10.08
กรุงเทพฯ
คนไทยเจ็บตายในศึกฮามาสโจมตีอิสราเอล จรวดนำวิถีต่อต้านจรวดแบบ Iron Dome พุ่งเข้าสกัดจรวดที่ฝ่ายฮามาสยิงมาจากฉนวนกาซา เพื่อโจมตีเมือง Sderot ในดินแดนอิสราเอล วันที่ 8 ตุลาคม 2566
โรเนน วูลัน/รอยเตอร์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในวันอาทิตย์นี้ว่า มีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน บาดเจ็บ 8 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ในสถานการณ์การสู้รบที่ประเทศอิสราเอล ขณะที่แรงงานในพื้นที่เปิดเผยว่าสถานการณ์สู้รบยังดำเนินต่อเนื่อง 

นายปานปรีย์ แถลงข่าวในเวลา 12.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ถึงสถานการณ์ของแรงงานไทยในอิสราเอล โดยระบุว่า ปัจจุบันยังมีการสู้รบ ซึ่งแรงงานไทยยังคงต้องหลบภัยในหลุมหลบภัยเป็นระยะ 

“ตามที่สถานทูตกับฝ่ายแรงงานประจำสถานทูตประสานกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน รอการช่วยเหลือจากกองทัพ 3 คน และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโซโรกา (Soroka) แล้ว 5 คน เสียชีวิต 1 คน ถูกจับกุมไป 11 คน ซึ่งสถานทูตก็พยายามติดต่อกับทางการอิสราเอลเพื่อประสานยืนยันข้อมูล ซึ่งในชั้นนี้ฝ่ายอิสราเอลยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงยังไม่สามารถที่จะยืนยันตัวเลขหรือข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นทางการได้” นายปานปรีย์ กล่าว 

“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองทัพอากาศ เตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องบินเพื่อเตรียมการอพยพลำเลียงพี่น้องคนไทยจากอิสราเอลเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยโดยเร็วที่สุด ซึ่งตอนนี้ อากาศยานที่อิสราเอลยังไม่ได้เปิด ยังปิดอยู่ ประเทศอื่น ๆ ก็ยังไม่ได้ทำการอพยพ รัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติความรุนแรง รวมทั้งปล่อยตัวพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในทันที” นายปานปรีย์ กล่าวเพิ่มเติม 

โดยเมื่อวันเสาร์วานนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ทาง X ประณามการกระทำของกลุ่มฮามาส

"ผมขอประณามการโจมตีอิสราเอล การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล เหตุการณ์นี้ไม่สมควรเกิดขึ้น และผมขอร่วมกับประชาคมโลกประณามการกระทำดังกล่าว"

ส่วน น.ส. พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เปิดเผยสถานการณ์ว่า สถานทูตไทยในเทลอาวีฟได้ติดตามสถานการณ์เพื่อหาทางช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างใกล้ชิด 

“คนที่ถูกจับเป็นตัวประกันไม่ใช่มีเฉพาะแรงงานไทย มีแม้กระทั่งคนอิสราเอลเอง และรวมถึงแรงงานในชาติอื่น ๆ ด้วย แรงงานไทยไม่ใช่กลุ่มที่ทางฝ่ายฮามาสจะทำร้าย เพียงแต่ว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเลยถูกจับเป็นตัวประกัน” น.ส. พรรณนภา ในการแถลงข่าวทางออนไลน์ 

ด้านพี่สาวของแรงงานไทยที่ถูกลักพาตัวรายหนึ่งกล่าวว่า น้องชายของตนซึ่งอยู่ในย่านคิบบุทเรอิม ทางทิศตะวันออกของฉนวนกาซา ขาดหายการติดต่อไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ 

“เขาตัดสัญญาณโทรศัพท์ ก็เลยไม่รู้สถานการณ์... น้อง ๆ ที่อยู่อิสราเอลบอกว่ายังไม่มีความคืบหน้าของคนที่ถูกจับอะไรเลย ส่วนแรงงานที่อยู่ในภาคกลางของอิสราเอล นายจ้างก็ให้ไปทำงานปกติ” น.ส. รศิกาญจน์ ภานุอริยะพัฒน์ พี่สาวของหนึ่งในแรงงานรายดังกล่าว กล่าวกับเบนาร์นิวส์

rockets 1007.jpg

ภาพแคปเจอร์จากวิดีโอคลิปโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นจรวดพุ่งอยู่เหนือน่านฟ้าใกล้ที่พักแรงงานไทยในเมืองซีกิม ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา วันที่ 7 ตุลาคม 2566 (เฟซบุ๊ก Wutthichal Panisen)

การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยฮามาสอ้างว่า ใช้จรวดกว่า 5 พันลูก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธได้บุกเข้าไปยังชายแดนโจมตีและจับประชาชนเป็นตัวประกัน 

หลังถูกโจมตี นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศว่า อิสราเอลเข้าสู่สงครามโดยพร้อมตอบโต้กลุ่มฮามาสที่ปกครองพื้นที่ฉนวนกาซาอยู่ โดยระบุว่า “ฮามาสต้องชดใช้ด้วยราคาที่ไม่เคยพบมาก่อน” ใช้ปฏิบัติการดาบเหล็ก (Swords of Iron) โจมตีกลับทางอากาศ และภาคพื้นดิน การตอบโต้ดังกล่าวทำให้สถานการณ์สู้รบยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 

“ตอนนี้ก็ยังยิงกันเรื่อย ๆ ครับ มีเฮลิคอปเตอร์บินอยู่ตลอดเวลาเลย” นายวุฒิชัย ปานิเสน แรงงานไทยในเมืองซีกิม ประเทศอิสราเอล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอาทิตย์นี้ 

หลังจากอิสราเอลได้ส่งเครื่องบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์อาปาเช เข้าโจมตีเป้าหมายในฉนวนกาซา ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้หลายร้อยคน โดยเป็นฝ่ายปาเลสไตน์ราว 300 คน และในฝั่งอิสราเอลประมาณ 350 คน 

สถิติของกระทรวงแรงงานฯ ถึงเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า มีแรงงานคนไทยทำงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ไปทำงานใกล้ฉนวนกาซา 4,533 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน 

เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน

ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปได้ถึงได้หลายทศวรรษ โดยที่หลังจากอังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว  

ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นใน ปี ค.ศ. 1948  เหตุนี้ ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวักตกของแม่น้ำจอร์แดน   

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง