แรงงานไทยกลุ่มแรกกลับจากอิสราเอลถึงไทยแล้ว 41 ราย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.10.12
กรุงเทพ
แรงงานไทยกลุ่มแรกกลับจากอิสราเอลถึงไทยแล้ว 41 ราย นายกรัชกร พุทธสอน (บนรถเข็น) แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ทักทายญาติที่มารอต้อนรับที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 12 ตุลาคม 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

แรงงานไทยกลุ่มแรกจากอิสราเอล เดินทางถึงประเทศไทยแล้วในวันพฤหัสบดีนี้ ท่ามกลางการต้อนรับของครอบครัว ขณะที่มีอีกกว่า 5 พันคนที่รอคอยการกลับบ้าน หลังจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกองกำลังฮามาสทวีความรุนแรงขึ้น

“ดีใจมาก ที่ทุกหน่วยช่วยให้ผู้ที่บาดเจ็บได้กลับมาไทยได้ชุดแรก” นายกรัชกร พุทธสอน แรงงานไทยซึ่งเดินทางกลับจากอิสราเอล กล่าวกับสื่อมวลชนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายกรัชกร เป็นหนึ่งใน 15 คน ที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือให้กลับประเทศ หลังจากกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มปฏิบัติการอัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยยิงจรวดกว่า 5 พันลูกใส่ชายแดนอิสราเอล และข้ามรั้วกั้นออกมาจากฉนวนกาซาเพื่อโจมตีเจ้าหน้าที่อิสราเอล และพลเรือนโดยไม่แยกแยะ ในตอนเช้าของเสาร์วันที่ 7 ตุลาคม 2566 

นายกรัชกร เปิดเผยว่า ตนเองและเพื่อนแรงงานรวม 8 คน ถูกโจมตีจากกลุ่มฮามาสระหว่างทำการเกษตรในนิคมเกษตรมากิม (Moshav Mavki'im) ทางตอนใต้ประเทศอิสราเอล โดยตนเองถูกยิงที่หัวเข่า และถูกพาตัวส่งโรงพยาบาลท้องถิ่น กระทั่งได้รับการส่งตัวกลับมายังประเทศไทย 

“ผมก็ให้นายจ้างขับรถพาพวกผมหนี หมอบอยู่ในตัวถังรถ ก็โดนยิงทะลุไปโดนขา ไปกัน 8 คน โดนยิงไป 4 คน วันนั้นไม่น่ามีชีวิตรอดถึงวันนี้ เพราะเขายิงแบบรัว ๆ เลย ไม่ได้ยิงทีละเม็ด ยิงมาเป็นชุดเลย” นายกรัชกร เล่าให้ฟัง 

231012-th-israel-thai-workers-evacuees.jpg

ชายไทยรายหนึ่งสวมกอดเด็กน้อย หลังจากเดินทางถึงสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ วันที่ 12 ตุลาคม 2566 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ในวันเดียวกัน นอกจากแรงงาน 15 คน ที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือกลับ ยังมีแรงงานอีก 26 คน ที่ออกค่าใช้จ่ายเดินทางกลับจากอิสราเอลด้วยตัวเอง ด้วยสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบิน LY 083 ซึ่งถึงประเทศไทยในเวลาประมาณ 11.30 น.

“ตอนเกิดเหตุ หน้าลูก หน้าเมีย หน้าครอบครัวลอยกลับมาก่อนเลย ไม่รู้ว่าจะเป็นตายร้ายดียังไง ผมอยู่เมืองที่อยู่ติดกับฉนวนกาซา แล้วเขาเอาผมมาส่งศูนย์อพยพ แล้วจะเอาผมไปทำงานอีกที่ เขาให้เราทำงาน ถ้าระเบิดลงก็ตาย ผมเอากระเป๋าใบเดียวแล้วก็ออกมาเลย ผมไม่ยินยอม เลยนั่งแท็กซี่ไปที่เทลอาวีฟ รอซื้อตั๋วเครื่องบินกลับ” นายบอย ซึ่งขอสงวนชื่อและนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว กล่าวกับสื่อมวลชน 

“ถ้าขอความช่วยเหลือจากทางการไทยไม่รู้จะได้รับความช่วยเหลือตอนไหน เพราะคนขอกลับ 5 พันกว่าคน อย่างเที่ยวบินนี้ รัฐนำกลับมาได้แค่ 15 คน ไม่รู้เมื่อไหร่จะครบ 5 พัน เราพอช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เลยซื้อตั๋วกลับมาเอง” นายบอย ชาวนครราชสีมา กล่าว 

จนถึงวันพฤหัสดีนี้ ทางการไทยรายงานว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการสู้รบ 21 คน ผู้บาดเจ็บ 14 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 16 คน มีผู้แจ้งความประสงค์ต้องการกลับมายังประเทศไทย 5.9 พันคน

231012-TH-return3.jpg

ทหารอิสราเอลมองออกมาจากรถถัง ขณะที่หน่วยปืนใหญ่รวมตัวกันใกล้ชายแดนอิสราเอลกับฉนวนกาซา ทางตอนใต้ของอิสราเอล วันที่ 12 ตุลาคม 2566 (โรนัน ซวูลัน/รอยเตอร์)

พยายามช่วยตัวประกันและนำศพกลับบ้าน 

ขณะที่การสู้รบดำเนินไปโดยฝ่ายอิสราเอลได้ตัดน้ำ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง และอาหาร ที่ส่งไปให้ชาวปาเลสไตน์กว่าสองล้านคนในดินแดนฉนวนกาซา ฝ่ายฮามาสออกมาขู่ว่า จะยิงตัวประกันหนึ่งคนเมื่อฝ่ายอิสราเอลโจมตีโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ขณะที่มีการประเมินว่ามีชาวต่างชาติ รวมทั้งไทย อเมริกัน และอื่น ๆ ตกเป็นตัวประกันนับร้อยคน   

ขณะไปต้อนรับผู้หนีภัยที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลพยายามประสานงานกับรัฐบาลอิสราเอลเพื่อการนำศพผู้เสียชีวิตกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา และพยายามเจรจาเพื่อนำแรงงานไทยที่เป็นตัวประกันกลับมาอย่างปลอดภัย 

“ตัวประกันมี 16 ท่าน เรื่องนี้กำลังประสานอยู่กับทั้งทางด้านข้างเคียง และรัฐบาลอิสราเอลที่จะดึงตัวประกันออกมาให้อยู่ในที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด เพื่อจะกลับประเทศไทยได้ ผมเชื่อว่ายังมีความปลอดภัย เพราะเราไม่ได้มีความขัดแย้งกับประเทศใด มองไม่เห็นประเด็นไหนที่เขาจะมาทำร้ายคนไทย” นายปานปรีย์ กล่าว 

เบื้องต้น รัฐบาลไทยจะได้ส่งตัวแรงงานไทยในอิสราเอล จำนวน 300 คน กลับมาพร้อมกับเครื่องบินของกองทัพอากาศ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 และเดินทางกลับมาโดยสายการบินพาณิชย์อีก 80 คน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 

“จำนวนผู้อยากกลับประเทศมากขึ้น ส่วนเครื่องบินที่เราจะไปรับ ทางกองทัพแม้จะบินเต็มที่ก็อาจจะไม่ทันความต้องการ นอกจากใช้เครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ คิดว่าเราคงจะมีแผนที่สอง คือ ใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศ บินลำเลียงคนไทยออกจากอิสราเอลจุดที่มันเสี่ยงมาไว้ที่ประเทศข้างเคียงก่อน ซึ่งก็คือ ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) จากนั้น เมื่อพ้นอันตรายแล้วก็ลำเลียงกลับบ้าน คือทางปฏิบัติใหม่ที่เราคิดว่าจะดำเนินการได้เลย” นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุ 

ด้านการเยียวยา กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศเพราะภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิต 40,000 บาท และค่าจัดการศพในต่างประเทศไม่เกิน 40,000 บาท รัฐบาลอิสราเอล จะจ่ายเงินให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บ 10-19 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ จะได้รับเงินเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย กรณีเสียชีวิต ภรรยาจะได้รับเงิน 34,560 บาทต่อเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรจะได้รับเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน จนกว่าจะอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ 

231012-TH-return-3.jpg

ชาวปาเลสไตน์ขณะย้ายหนีภัยจากที่พัก หลังอิสราเอลเปิดการโจมตีทางอากาศในค่ายผู้ลี้ภัยราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา วันที่ 12 ตุลาคม 2566 (ฮาเต็ม อาลี/เอพี)

การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้กว่าสองพันคน ทั้งจากฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ 

ปัจจุบัน มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 3 หมื่นราย โดยอยู่ในพื้นที่ใกล้ฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบประมาณ 5 พันราย 

เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน ส่วนใหญ่คนไทยที่อยู่ในอิสราเอลเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน 

ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปหลายทศวรรษ โดยหลังจากที่อังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว ในปี ค.ศ. 1947 องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติตอบสนองความต้องการของอังกฤษ ซึ่งได้เลือกดินแดนของปาเลสไตน์ มีการแบ่งออกเป็นรัฐอาหรับและรัฐยิว แล้วก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในปี ค.ศ. 1948 เหตุนี้ทำให้เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งยุติในปีถัดมา ดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ รัฐอิสราเอล (Israel หรือ Jewish State), ฉนวนกาซา (Gaza Strip) อยู่ติดกับอียิปต์ และเขตเวสต์แบงค์ (West Bank) หรือดินแดนทางทิศตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน   

นาวา สังข์ทอง ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง