ตำรวจทลายขบวนการขายปืนส่งลาว 'เบล 1,000 กระบอก'
2022.06.13
กรุงเทพฯ

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงผลการจับกุมเครือข่ายขบวนการปืนเถื่อน “เบล 1,000 กระบอก” รวม 16 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงชาวลาว 1 ราย และสามารถยึดปืนของกลางได้รวม 100 กระบอก และพบเงินหมุนเวียนกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งขบวนการนี้ซื้อปืนจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมายแล้วส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่อยมา และจากการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ปีที่แล้ว ในวันนี้ 13 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สนธิกำลัง กว่า 200 นาย ร่วม 'ปฏิบัติการทลายเครือข่ายค้าอาวุธ เบล 1,000 กระบอก' เข้าตรวจค้นทั้งหมด 21 จุด ทั่วประเทศ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น จำนวน 16 คน
พล.ต.อ. สุวัฒน์ แถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มนายทุน 2. กลุ่มนายดนุพล หรือเบล (สงวนนามสกุล) ซึ่งมีหน้าที่หาคนทำใบ ป.3 และขนส่งอาวุธ 3. กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 4. กลุ่มร้านปืน โดยสามารถตรวจยึดของกลางเป็นอาวุธปืนในขบวนการนี้ได้ทั้งหมด 100 กระบอก แบ่งเป็น ปืนที่ตรวจยึดได้ในพื้นที่ จ.หนองคาย จำนวน 35 กระบอก, ปืนที่ ตรวจยึดได้ในพื้นที่ สภ.พลูตาหลวง และ สภ.สัตหีบ จำนวนรวม 48 กระบอก และการตรวจยึดครั้งนี้ (13 มิ.ย.2565) จำนวน 17 กระบอก รวมทั้งยึดกระสุนประมาณ 10,000 นัด
“ใช้ชื่อชาวบ้านไม่รู้เรื่อง เอามาทำใบ ป. 3 ปลอม ได้ปืนมาก็ไปขายต่างประเทศ มีทั้งเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งที่อยู่ในราชการ และเกษียณอายุไปแล้วก็มี ทรัพย์สินที่ตามยึดก็ได้จากการกระทำผิด มีทั้งเรือ อาคาร เงินในบัญชีด้วย ส่วนใหญ่เป็นปืนสวัสดิการ 2-3 หมื่นบาท เวลาขายขายเป็นแสน… ปลายทางเอาเป็นว่าประเทศเพื่อนบ้าน” พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าว
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีอาวุธไว้ในครอบครอง จึงมีประชาชนส่วนหนึ่งซื้อปืนที่ผลิตจากโรงงานในประเทศตะวันตกที่มีการซื้อขายในประเทศไทย
เจ้าหน้าที่ระบุว่า หนึ่งในผู้ต้องหา Ms. FAY (น.ส. ฝ้าย สงวนนามสกุล) สัญชาติลาว อายุ 32 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ร่วมกันจำหน่ายซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และร่วมกันส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ผ่านพิธีศุลกากร นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังโดนหมายจับของศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินอีกด้วย
สำหรับ นายดนุพล อายุ 32 ปี เป็นอดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลแสมสารหมู่ 1 เป็นหนึ่งในขบวนการขายปืนเถื่อนข้ามชาติ ถูกควบคุมตัวที่บ้านพักในพื้นที่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยนายดนุพลเป็นหนึ่งในหมายจับ 16 หมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในอดีตมีฉายาว่า เบล 100 กระบอก แต่ปัจจุบันถูกเรียกว่า เบล 1,000 กระบอก
โดยในผู้ต้องหา 16 ราย ที่จับกุมได้คราวนี้นั้น มีรายชื่อเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ราย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
พ.ต.อ. วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผู้กำกับการ 3 บก. ป. เปิดเผยว่า เริ่มติดตามขบวนการนายดนุพล ตั้งแต่ปี 2563 หลังจากสามารถตรวจยึดปืนเถื่อนที่จังหวัดตาก ถูกออกหมายจับจากหมายจับศาลจังหวัดหนองคาย เลขที่ 1207/2564
“ตอนปี 63 ได้มีการตรวจยึดอาวุธสงคราม ในพื้นที่แม่สอด เราก็พบความเชื่อมโยงตอนนั้นว่า เบล 100 กระบอก ก็มีพฤติการณ์ส่งอาวุธบางส่วนให้กับกลุ่มแม่สอดอยู่ 10 เดือนถัดมาในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ศุลกากรก็ได้ไปจับกุมอาวุธปืนออีก 35 กระบอก ก่อนส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน ในครั้งนั้น ก็ได้ขยายผลร่วมกับตำรวจภูธรภาค 4 ก็ได้ออกหมายจับเบลกับลูกน้องได้ ข้อหาเรื่องมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และ พ.ร.บ. ศุลกากร เราเห็นความเชื่อมโยงว่า เบลมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน ทั้งปืนในต่างประเทศและในบ้านเรา” พ.ต.อ. วิวัฒน์ กล่าว
“จะมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไปว่า ปืนโครงการซื้อได้อย่างไรใช้ชื่อคนที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ เป็นการตรวจ จะดำเนินคดีหมด ไม่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหน” พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.) กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 16 ราย จะถูกดำเนินคดีตามความผิดฐาน ร่วมกันส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร และร่วมกันมีอาวุธปืนครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ร่วมกันนำอาวุธปืนผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ส่วนนายดนุพล ถูกจับด้วยความผิดฐานฟอกเงินด้วย