ศาลสั่งจำคุก “อานนท์ นำภา” 4 ปี ฐานให้ร้ายรัชกาลที่ 10
2023.09.26
กรุงเทพฯ

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเวลา 4 ปี จากการปราศรัยที่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 ด้วยการให้ร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อสามปีก่อน
นายอานนท์ เดินทางมายังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ตามนัดในเวลา 09.00 น. และเข้าฟังคำพิพากษาพร้อมกับสมาชิกครอบครัว ทนายความ ผู้สนับสนุน นักสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชน
“การที่จำเลยปราศรัยว่า ถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จำเลยเป็นทนายความ รู้กฎหมาย รู้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจสั่งใช้กำลังควบคุมฝูงชนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ไม่ต้องสั่ง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
“ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า ปราศรัยเช่นนั้นเพื่อให้ตำรวจไม่สลายการชุมนุม จึงไม่มีน้ำหนัก บิดเบือน ให้ร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รับสั่ง สร้างความเสื่อมเสีย และถูกเกลียดชัง ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ศาลอ่านคำพิพากษา
ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 4 ปี สำหรับ ม.112 และปรับ 2 หมื่นบาท สำหรับการจัดชุมนุมที่ขัดต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ควบคุมโควิด-19
หลังทราบคำพิพากษา นายอานนท์ ถูกพาไปควบคุมตัวทันที โดยประชาชนที่มาให้กำลังใจหลายสิบคน ได้ตะโกนให้กำลังใจ “สู้ๆ” และ “เดี๋ยวก็ได้ประกัน”
“การที่วันนี้อาจจะสูญเสียเสรีภาพตามคำพิพากษา อาจจะหลายปีหน่อย แต่ก็คุ้มค่าที่ในวันที่ 14 ตุลา ปี 63 ที่เราเดินขบวนจากราชดำเนินไปล้อมทำเนียบไม่เกิดการสูญเสีย เป็นการเสียเสรีภาพโดยส่วนตัวที่คุ้มค่าต่อส่วนรวมมากด้วยความเต็มใจ” นายอานนท์ กล่าวกับสื่อมวลชนก่อนฟังคำพิพากษา "คำพิพากษาถ้ามันออกมาในทางที่เลวร้าย ก็คือไปติดคุก เราก็ต้องต่อสู้กันต่อไป... อยากให้ทุกคนต่อสู้ต่อไป เพราะบ้านเมืองเราเดินมาไกลมากแล้ว"
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าได้ยื่นหลักทรัพย์ 2 แสนบาท เพื่อขอประกันตัวนายอานนท์ ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ขณะที่นางลัดดา แจ่มจ่าย ประชาชนซึ่งไปให้กำลังใจนายอานนท์ที่ศาลอาญา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน
“เราไม่โอเคกับคำตัดสิน เพราะคำตัดสินเหมือนปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เราคิดว่าการพูดของอานนท์แค่นั้นไม่ควรถูกลงโทษให้ติดคุกถึง 4 ปี ถ้ารัฐบาลอยากจะปรองดองจริง ๆ ควรนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมือง คดีชุมนุมทั้งหมด นั่นจะเป็นการปรองดองที่แท้จริง” นางลัดดา กล่าว
สำหรับผลคำพิพากษา นักวิชาการมองว่า การดำเนินคดีทนายความอานนท์เป็นการสลายผู้เห็นต่างจากชนชั้นสูง
“กระบวนการของทนายอานนท์ เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าถ้าทำอะไรที่ขัดขวางผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จะถูกมาตรการแบบนี้กำจัดไปให้พ้นหน้ากระดานอำนาจ ไม่ว่าจะผิดหรือไม่ผิดสิทธิมนุษยชน ผมหวังใจให้ฝ่ายค้านต่างหาก โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ยืนยันต้องแก้มาตรา 112 ได้โปรดพิจารณานำปัญหาเหล่านี้... อย่าให้เขาใช้มาตรานี้ทำลายประชาชน ทำลายสิทธิมนุษยชน” ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว
นายอานนท์ เป็นหนึ่งในแกนนำชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเริ่มต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลเริ่มดำเนินคดี ม.112 กับแกนนำ และผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่ปราศรัยหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างปี 2563-2565 ทำให้อานนท์ ถูกดำเนินคดี ม.112 อย่างน้อย 14 คดี เคยถูกควบคุมตัวที่เรือนจำระหว่างการพิจารณาคดี ระหว่างเดือน ก.พ. - มิ.ย. 2564 เพราะผู้พิพากษาไม่ให้ประกันตัว
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,925 คน ใน 1,241 คดี ในนั้นเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี
และใน 1,241 คดี เป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 278 คดี มีผู้ต้องหา 257 คน
และในวันเดียวกันนี้ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีชุมนุม
“เราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะไม่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขาต้องได้รับการประกันตัว การชุมนุม เป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้อง ของการนำพาเพื่อประเทศชาติสังคมพัฒนา ฟรีราษฎร” นางปิยนุช กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน