ครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ คนรุ่นใหม่ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีลาออก และแก้รัฐธรรมนูญ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.10.06
กรุงเทพฯ
ครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ คนรุ่นใหม่ยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย บอร์ดแสดงภาพนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพวันที่ 6 ตุลาคม 2564
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ผู้สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยกว่าหนึ่งพันคน ร่วมงานครบรอบการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งผู้สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นใหม่ยังคงดำเนินการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเฉกเช่น รุ่นพี่” 

ในวันนี้เมื่อ 45 ปีก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจราว 8,000 นาย ได้ปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ใช้อาวุธสงครามยิงใส่เพื่อสลายการชุมนุมของนักศึกษาราว 4,000 คน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 ราย และบาดเจ็บอีก 67 ราย ตามการสรุปของทางการ โดยการชุมนุมครั้งนั้น เพื่อขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้บวชเป็นสามเณรแล้วเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทย หลังจากถูกนักศึกษาชุมนุมขับไล่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนต้องหนีไปอยู่ในต่างประเทศ

ในวันนี้ กลุ่มผู้ประท้วงได้จัดกิจกรรมแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์ที่มีการทุบตีนักศึกษา พร้อมทำหุ่นจำลองผู้เสียชีวิตวางทั่วบริเวณหอประชุมใหญ่ และสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นการสะท้อนภาพเหตุการณ์ในอดีต

th-oct6-massacre-stage-1000-4.jpg

ผู้จัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 วางหุ่นจำลองเหตุการณ์ที่นักศึกษาถูกสังหาร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาพวันที่ 6 ตุลาคม 2564 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

นายวิโรจน์ (ขอสงวนนามสกุลเพื่อความเป็นส่วนตัว) ชาวจังหวัดขอนแก่น ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ และกล่าวว่า ตนเองมีความประสงค์ในการจะร่วมสานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผมอยากเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ตั้งนายกฯ รักษาการ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชนที่สถาบันฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อรัฐธรรมนูญ และนายกฯ จะมาจากประชาชนจริง ๆ สิ่งที่เด็กธรรมศาสตร์เขาเรียกร้องมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มันถูกต้องทั้งหมดนายวิโรจน์ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์  

ด้าน นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ถึงปัจจุบัน ยังคงลอยนวลพ้นผิด และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์ยังแนบแน่นกับกองทัพ ในปี 2499 มีการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นมาตรา 112 การแก้ไขนี้ไม่ได้มีประโยชน์กับประชาชนเลย ทำให้ตั้งแต่ 2499-2564 กฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ยังมีอยู่มาถึงทุกวันนี้นายเกียรติชัย กล่าวในการปราศรัย

th-oct6-massacre-crowd-1000-6.jpg

ธัชพงษ์ "บอย" แกดำ (เสื้อสีน้ำเงิน) ขณะปราศรัยต่อหน้าประชาชนที่มาร่วมงานรำลึก 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาพวันที่ 6 ตุลาคม 2564 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

นายธัชพงษ์ “บอยแกดำ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวในระหว่างการปราศรัยบนเวที หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตราบใดที่ประเทศนี้ ยังมี ม.112 เราจะไม่สามารถชำระประวัติศาสตร์ได้เลย ฉะนั้นเราต้องยกเลิก ม.112”

th-oct6-massacre-umbrella-1000-5.jpg

หญิงสาวเดินกางร่มท่ามกลางสายฝน ผ่านใบปลิวที่มีทั้งข้อความและภาพถ่าย โปรยทั่วสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สังหารนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ภาพวันที่ 6 ตุลาคม 2564 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเดือนพฤษภาคม 2557 และได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ขณะนี้ ยังคงเผชิญกับการประท้วงของเยาวชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน และในการประท้วงหลายครั้งมีการใช้อาวุธปะทะกัน จนได้รับบาดเจ็บทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์อาจจะบานปลาย

th-oct6-massacre-leaflet-1000-3.jpg

ใบปลิวภาพคนทุบตีศพที่ถูกแขวนคอบนต้นมะขาม ที่ท้องสนามหลวง เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ถูกโปรยบนสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ในวันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ซึ่งถูกยุบพรรคไปเมื่อต้นปี 2563 กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้สิ่งใด ๆ จากเหตุการณ์รุนแรงเอาเสียเลย

ประการแรก คือผู้ที่สั่งการไม่เคยต้องรับผิดชอบทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, พฤษภา 53 วัฒนธรรมแบบนี้ต้องหมดไป ต้องไม่มีการสังหารหมู่ประชาชนเกิดขึ้นอีก คืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้สูญเสีย

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหนึ่งในทหารระดับบังคับบัญชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการประท้วงของคนเสื้อแดงที่ยึดพื้นที่ของกรุงเทพชั้นใน เพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 โดยการสลายชุมนุมครั้งดังกล่าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 94 ราย

th-oct6-massacre-fire-1000-7.jpg

นักกิจกรรมเผาหุ่นฟาง เพื่อรำลึกถึงนักศึกษาที่เสียชีวิตจากการจับกุมและรุมทำร้าย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพวันที่ 6 ตุลาคม 2564 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง