นายกฯ ประกาศใช้มาตรการแก้ปัญหาปืน-ยาเสพติด

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.10.12
กรุงเทพฯ
นายกฯ ประกาศใช้มาตรการแก้ปัญหาปืน-ยาเสพติด ครอบครัว ญาติ ๆ และประชาชนรวมตัวกันรายรอบบริเวณเตาเผาศพ ในวันพิธีพระราชทานเพลิงศพเหยื่อเคราะห์ร้ายจากเหตุกราดยิงและแทง ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในตำบลอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 11 ตุลาคม 2565
รอยเตอร์

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในวันพุธนี้ว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการแก้ปัญหาการครอบครองอาวุธปืนและยาเสพติด หลังเหตุฆาตกรรมหมู่ 37 ราย ในจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อสัปดาห์ก่อน ด้าน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปภายในองค์กรตำรวจเช่นกัน

ในวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“โดยมาตรการสำคัญที่ได้มีการหารือกันในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาของอาวุธปืนและปัญหายาเสพติด โดยเรื่องแรกเกี่ยวกับอาวุธปืน เราจะมีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุน อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องของการออกใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาตและการพกพาทั้งหมด” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม

“ในส่วนของผู้ยื่นขอใบอนุญาตนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีการตรวจสอบและรับรองทางจิต ไม่วิกลจริต ฟั่นเฟือน มีการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ให้มีมาตรการตรวจสอบและทบทวน เพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุก ๆ รอบ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปมาตรการแก้ไขปัญหา 4 แนวทางหลักดังนี้ คือ 1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน รัฐบาลจะเข้มงวดการขออนุญาต และผู้ขออนุญาตครอบครองปืนต้องผ่านการรับรองสภาพจิตใจ และจะเพิกถอนใบอนุญาตทันที หากผู้ได้รับใบอนุญาตมีปัญหาสุภาพจิตและยาเสพติด รวมทั้งจริงจังกับการกวาดล้างปืนเถื่อน 2. มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รัฐบาลจะควบคุมการนำเข้าโซเดียมไซยาไนต์ ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญของยาเสพติด เร่งทำลายเครือข่ายยาเสพติด และทบทวนการให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อให้เข้าสู่การบำบัด

3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รัฐบาลจะใช้การค้นหาและคัดกรองผู้ป่วย โดยจัดตั้งศูนย์ให้ครอบคลุมทุกตำบล และสร้างสถานบำบัดมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนานิสัย บำบัดฟื้นฟู และติดตามกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงอย่างใกล้ชิด และ 4. การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต รัฐบาลจะตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษา สถานประกอบการ และตั้งหน่วยจิตเวชในทุกอำเภอ

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ซึ่งเข้าประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประชาชนสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ และในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เชื่อว่าภายใน 3 เดือนนี้จะรู้ข้อมูลกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป

“ต่อไปนี้ก็จะกวาดบ้านตัวเองด้วยนะครับ คือตำรวจ 2 แสนคน ถ้าใครมีข่าวหรือใครมีเบาะแสอะไรก็แจ้งมาได้เลย เราเน้นให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงลงพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจ ถ้าเกิดเจ้าหน้าที่คนไหนไม่ดี เราก็ยินดีที่จะรับ ถ้ามีตำรวจเกี่ยวข้อง ผมจะไม่ดำเนินคดีเฉพาะตำรวจ จะดำเนินคดีผู้บังคับบัญชาอีก 2 ระดับเพราะถือว่าควบคุมลูกน้องไม่ดี” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าว

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 โดย ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ใช้อาวุธปืนและมีด สังหารนักเรียน, ครู และประชาชนในบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 37 ราย และได้บาดเจ็บ 10 ราย โดยหลังก่อเหตุ ส.ต.อ. ปัญญา ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิต จากการสอบสวน ส.ต.อ. ปัญญา ถูกไล่ออกจากราชการเนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด นำมาสู่เสียงวิพากษ์-วิจารณ์เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนและยาเสพติดโดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการ

ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น นางวาสนา (สงวนนามสกุล) นักจิตวิทยาปฏิบัติการ และรองหัวหน้าศูนย์บริการด้านสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการบำบัดสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่

“กรณีที่เกิดขึ้น การให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด สามารถทำงานได้โดยไม่ยอมเร่งดำเนินคดี สะท้อนว่ามีปัญหานี้อยู่ในระบบราชการ ปัญหานี้จำเป็นต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานควรมีคนให้รับฟัง โดยไม่ตัดสินหรือไม่นำข้อมูลของเขาไปเผยแพร่ต่อ ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลทำได้ทันที และต้องค่อย ๆ ทำคือ การสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทยว่า การไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ และต้องสร้างความเข้าใจนี้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย” นางวาสนากล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เชื่อว่า การมีการเมืองที่เข้มแข็งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในวงการตำรวจอย่างยั่งยืน

“ปัญหาของตำรวจมีหลายจุดมากที่ต้องแก้ไข และที่ผ่านมาก็มีร่าง พ.ร.บ. ตำรวจฯ ที่พยายามจะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ แต่การเมืองต้องแข็งแรงกว่านี้ เพราะมันมีคนได้คนเสียชัดเจน ด้วยการเมืองไม่เข้มแข็งทำให้ที่ผ่านมาเราเห็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขน้อยมาก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในลักษณะถาวรหรือในเชิงโครงสร้าง แต่เป็นการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วสุดท้ายปัญหาก็จะวนกลับมาที่เดิม” ดร.ณัฐกร กล่าว

ปัญหาการใช้ความรุนแรงจากข้าราชการเคยเกิดขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดย จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา สังกัดกองพันกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้บังคับบัญชาของตนเอง และเดินทางไปใช้อาวุธปืนยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าว มีเสียชีวิตรวม 30 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 58 คน

ในปี 2560 องค์กร Small Arms Survey ซึ่งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายและความโปร่งใสในการครอบครองอาวุธปืนที่พลเรือนครอบครองได้ ระบุว่า ไทยมีผู้ครอบครองอาวุธปืนราว 10.3 ล้านกระบอก โดยนับเป็นอยู่ในอันดับ 13 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ ปีงบประมาณ 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถตรวจยึดยาเสพติด ยาบ้าได้ 541 ล้านเม็ด ไอซ์ 1.3 หมื่นกิโลกรัม เฮโรอีน 794 กิโลกรัม เคตามี 1,650 กิโลกรัม และสามารถยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับขบวนการยาเสพติดได้กว่า 7.08 พันล้านบาท

ขณะที่ พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจํานงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2551-2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าตัวตายถึง 443 นาย โดยสาเหตุการฆ่าตัวตาย มาจากปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว รวมถึงปัญหาหนี้ด้วย ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า ปี 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าตัวตาย 21 นาย มาจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย และรองลงมาคือ ปัญหาหนี้สิน 5 นาย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช จากกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง