ค่าแรงไทยขึ้นไม่ถึง 400 บาทตามคาด เป็นเรื่องน่ากังวลปีใหม่นี้
2024.01.04
กรุงเทพฯ

เป้าหมายของวงศกร เเก้วกาศร อายุ 18 ปี ในปีใหม่นี้คือ เขาต้องการเก็บเงินให้ได้เพียงพอจากการทำงานที่ซุ้มขายกาแฟเพื่อเข้าเรียนที่วิทยาลัยฝึกอาชีพ วงศกรหวังว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นน่าจะทำให้เขาทำตามความฝันได้
“ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายไม่ถึงร้อยครับ แต่ถ้าค่าแรงขึ้นเป็นวันละ 400 หรือ 450 บาทก็โอเค” วงศกรกล่าวกับเบนาร์นิวส์
วงศกรถือว่าตัวเองโชคดีที่รายรับจากการทำงานที่ร้านกาแฟทำให้เขามีรายได้เพียงพอ เขาย้ายมากรุงเทพฯ จากจังหวัดสงขลา และทุกวันนี้อาศัยอยู่กับพี่สาวโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าห้องและยังไม่ต้องส่งเงินให้พ่อกับแม่ที่ภาคใต้ด้วย
วงศกรมีรายรับวันละ 350 บาท และในวันทำงาน เจ้าของร้านยังมีอาหารให้รับประทานจึงไม่ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม โดยค่าใช้จ่ายอย่างเดียวคือ นั่งรถเมล์มาทำงานเท่านั้น แต่หากค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกราว 100 บาท ก็จะได้มีเงินไปเรียนเพิ่มขึ้น
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยหลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศทันที ในขณะที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาททั่วประเทศภายในปี 2570 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19
แต่คำมั่นดังกล่าวจากนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถเป็นไปได้ในทันที ในเดือนธันวาคม คณะกรรมการค่าจ้างซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีประกอบไปด้วย ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างโดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการได้มีมติขึ้นค่าแรงในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ 2-16 บาท ขึ้นเป็น 330 บาทถึง 370 บาท จากเดิม 328-354 บาท โดยนายกฯ กล่าวว่าอาจจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในเดือนมีนาคม
ข้อกังวลจากภาคธุรกิจ
นายจ้างในภาคธุรกิจของไทยได้แสดงความกังวลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการคาดหมายว่าจะมีการชะลอตัวทั่วโลกในปี 2567 และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์
กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ผู้ส่งออกผลไม้กระป๋องกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลต่อพนักงานราว 800 คนที่โรงงานของเธอสองแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย โดยเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์มีความท้าทายรอบด้าน
ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา กัณญภัคต้องเผชิญกับค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลแดง นอกเหนือจากเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งในไทยและทั่วโลก และยังมีภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอีก
“ต้องดูว่าศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง ไทยเริ่มเสียเปรียบเวียดนามเพราะสินค้าบางกลุ่มชนกัน ในขณะที่เวียดนามค่าแรงถูกกว่า ค่าเชื้อเพลิงค่าไฟฟ้าเขาก็ถูกกว่า อัตราแลกเปลี่ยนเขาก็ได้เปรียบ และตลาดส่งออกเขาก็ได้เปรียบเรื่อง FTA (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี) กับทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center หรือศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่าปัจจัยในการคำนวณค่าแรงได้แก่เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน และการบริโภค
“ปัจจุบันเงินเฟ้อเราต่ำถ้าเพิ่มค่าแรงก็ไม่ส่งผล อีกส่วนหนึ่งคือ อำนาจซื้อภายในประเทศ โดยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทำให้อำนาจซื้ออ่อนกำลังลง คือพูดง่าย ๆ ว่าคนไม่ค่อยมีรายได้”
พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าค่าแรงขั้นต่ำได้มีการปรับขึ้นครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย 300 บาทในยุคของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่หลังจากนั้นมาค่าแรงค่อนข้างหยุดนิ่ง ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า
“ดังนั้นหากเพิ่มค่าแรงโดยไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ทำให้เกิดกำลังซื้อก็จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ เช่นที่เห็นในปี 2555 สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ธุรกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ แต่ผลได้จากอำนาจซื้อมีมากกว่า” เดชรัตกล่าว
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในช่วงสัปดาห์การประชุมเอเปค ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 (เอเอฟพี)
พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรงจะทำให้แรงงานมีศักดิ์ศรีและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศโดยการขึ้นค่าแรงต้องขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยนายกฯ เศรษฐา ตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยเติบโตปีละ 5% ซึ่งเป็นอัตราที่ประเทศไทยไม่เคยทำได้แต่อย่างใดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ค่าแรงสูงสุดและต่ำสุด
ตัวแทนแรงงานกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า แม้ขึ้นค่าแรงไปกว่าเท่าตัวก็ยังแทบไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ลาเร่ อยู่เป็นสุข เลขาธิการสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่ากระบวนการเจรจาระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างก็มีส่วนในการขึ้นค่าแรง
“แต่ละจังหวัดก็จะมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำและแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมการเจรจาก็ไม่เหมือนกัน ยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ สหภาพแรงงานแข็งแรง ในการปรับเงินขึ้นก็เจรจาพูดคุยกับบริษัท” ลาเร่ ซึ่งทำงานในบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นมากว่า 30 ปี กล่าว
ลาเร่กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ได้มีการสำรวจแรงงานราว 2,000 รายทั่วประเทศ โดยสำรวจค่าใช้จ่ายประจำวันตั้งแต่ตื่นมา ค่าเดินทาง ค่าอาหารสามมื้อ ค่าใช้จ่ายรายเดือน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อุปโภคบริโภค เฉลี่ยแล้วตกวันละ 712 บาท โดยปัจจุบันมีแรงงานทั่วไทยทั้งในระบบและนอกระบบราว 40 ล้านคนทั้งในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้า ยานยนต์ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น
ลาเร่กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่มีการประกาศปรับขึ้นค่าแรง พ่อค้าแม่ค้ามักขึ้นค่าครองชีพดักหน้า ทำให้ชาวไร่ชาวนาได้รับผลกระทบทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ และเหตุผลในการคำนวณค่าแรงมักไม่ชัดเจน
“ในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ผมอยู่ ก็ไม่รู้ว่าทำไมบอร์ดค่าจ้างประกาศปรับขึ้นน้อยกว่าที่นายจ้างเสนอ”
เดชรัตเห็นความไม่ชัดเจนดังกล่าวเช่นกัน “อยากให้มีการเปิดผลการเจรจา ดูว่าแต่ละจังหวัดกรอบการเจรจาเป็นอย่างไร ผลลัพธ์ที่ได้ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น”
เดชรัตกล่าวว่าอำนาจการต่อรองที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัดอาจเป็นสาเหตุว่าทำไมค่าแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส จึงขึ้นเพียง 2 บาท ภูเก็ต เป็นจังหวัดเดียวที่ได้รับค่าแรงสูงที่สุดคือ 370 บาท ซึ่งมากกว่ากรุงเทพฯ เจ็ดบาท
ในกรุงเทพฯ นราเศรษฐ บุญวรรณ นายจ้างของวงศกรเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง “เห็นด้วย เพราะค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ปรับนานแล้วและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแต่ละวันมันขึ้น ถ้าจะให้ประชาชนอยู่ได้จริง ๆ ต้องไปลดค่าเดินทาง ค่าพาหนะ อาหาร สิ่งของเครื่องใช้ หากค่าแรงเพิ่มเป็น 400 คนธรรมดาก็มีเหลือเก็บ”