แรงงานข้ามชาติในไทยเสี่ยงไม่ได้รับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
2024.07.15
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

นักเคลื่อนไหวแรงงานกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญมากในประเทศไทย เนื่องจากประชากรไทยมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทยที่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ต่างก็ประสบปัญหาในการหาคนงาน แต่แรงงานเหล่านี้ ก็มักไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสิทธิที่ควรได้ และยังไม่คิดว่าจะเรียกร้องอะไรได้
ในปีนี้ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยไปแล้วสองครั้ง และอาจมีการปรับขึ้นอีกครั้ง แต่นายจ้างจำนวนมากไม่ปรับขึ้นค่าแรงให้คนงานข้ามชาติของตัวเอง ผู้นำอุตสาหกรรมบางคนถึงกับกล่าวว่า ไม่ควรให้ค่าแรงขั้นต่ำแก่แรงงานข้ามชาติ เพราะคนเหล่านี้ส่งเงินกลับไปประเทศตัวเอง
แม้ค่าแรงขั้นต่ำในไทยในแต่ละพื้นที่และประเภทงานจะไม่เท่ากัน แต่ขณะนี้ก็อยู่ที่ประมาณวันละ 370 บาท (10 ดอลลาร์สหรัฐ) แล้ว ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน
สำหรับแรงงานเมียนมาประมาณสองล้านคนในไทย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในไทย ตัวเลขนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมากถ้าได้รับในเมียนมา ที่ซึ่งความวุ่นวายจากการนองเลือดหลังการรัฐประหารปี 2564 ได้ทำลายเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างรุนแรง
ซิน นเว อู แรงงานชาวเมียนมา วัย 29 ปี ทำงานเป็นช่างเย็บผ้าในโรงงานทำกระเป๋าของไทย ยอมรับว่าแม้เธอจะไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะส่งเงินกลับไปจุนเจือครอบครัวของเธอ
เธอบอกว่าเธอได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำมาสิบปีแล้ว ในโรงงานที่อำเภอแม่สอด ชายแดนไทยติดทิศตะวันตกของประเทศเมียนมา
ค่าจ้างสูงสุดที่เธอได้ต่อวันไม่เกิน 200 บาท และตอนนี้เธอก็ห่วงว่า เงินจำนวนนี้มีมูลค่าน้อยลงทุกที เพราะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเมียนมา
“เราต้องปากกัดตีนถีบ... ถึงแม้รัฐบาลจะเพิ่มเงินเดือนพื้นฐาน แต่ถ้าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเราเลย” เธอกล่าว โดยหมายถึงเมียนมา ที่ซึ่งเธอส่งเงินค่าจ้างกลับไปให้ครอบครัว “ฉันอยากดูแลพ่อแม่ ถ้าน้อง ๆ ของฉันไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ที่สุดแล้วก็จะต้องเป็นกรรมกร เพราะอย่างนั้นฉันถึงได้เสียสละตัวเอง”
วันละสามสิบหกบาท
นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่า แรงงานเมียนมาจำนวนมากในไทยไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ แม้ข้อมูลจะหาได้ยาก เพราะมีจำนวนแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมากในไทย
“การบังคับใช้ นั่นเป็นปัญหาใหญ่” คอรีเยาะห์ มานูแช เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) พูดถึงความเป็นไปได้ที่แรงงานในบางพื้นที่จะได้รับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
แรงงานผิดกฎหมายอาจรู้สึกว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะร้องเรียน เพราะกลัวว่าการไปร้องเรียนกับทางการเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อาจทำให้ถูกส่งตัวกลับประเทศ
ปัญหานี้มีความรุนแรง โดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดน เช่น แม่สอด ซึ่งมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและไร่สวน ที่ใช้แรงงานชาวเมียนมาจำนวนมากและเอาเปรียบในการจ่ายค่าแรงถูก
เศรษฐกิจนอกระบบบางอย่าง เช่น เกษตรกรรม อาจจ่ายค่าจ้างเพียงวันละ 36 บาทเท่านั้น
นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานกล่าวว่า แม้แต่แรงงานที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายต่างก็รู้ว่า การร้องเรียนถึงองค์กรคุ้มครองแรงงานจะกินเวลานาน เพราะกระบวนการซักถามที่ยืดเยื้อ แรงงานเหล่านี้อาจตกงานหรือถูกนายจ้างข่มขู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนงานบางคนได้ยื่นคำร้องเรียน และแม้กระทั่งยื่นฟ้องต่อศาล แต่หลายปีต่อมา พวกเขาก็ยังรอคำวินิจฉัยอยู่
“คนงานไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะกว่าคดีจะสิ้นสุดก็กินเวลานานถึงหกเดือน หรือหนึ่งปี หรือมากกว่าหนึ่งปี” คอรีเยาะห์ กล่าว
เมื่อเดือนมกราคม ค่าแรงขั้นต่ำของไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศร้อยละ 2.4 และในเดือนเมษายน รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกสำหรับแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวบางจังหวัด โดยปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท สำหรับธุรกิจโรงแรมระดับสี่ดาวที่มีพนักงานมากกว่า 50 คน
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลพลเรือนที่เข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท
แต่การตัดสินใจนี้จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสามกลุ่ม คือ นายจ้าง คนงาน และกระทรวงแรงงาน แรงงานข้ามชาติไม่มีปากมีเสียงในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงาน
‘มาตรฐานต่ำสุด’
บรรดาสมาคมนายจ้างและสมาคมอุตสาหกรรมต่างออกมาเตือนว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นภาระแก่ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ขณะที่บางคนแย้งว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร หากให้ค่าแรงสูงขึ้นแก่แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่จะส่งเงินกลับไปประเทศตัวเอง
“ไม่มีเหตุผลที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” นายชัยยันต์ เจริญโชคทวี เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย กล่าว
เขากล่าวว่า การขึ้นค่าแรงจะส่งผลเสียต่อธุรกิจต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เกิดประโยชน์น้อยมากต่อเศรษฐกิจไทย
“การขึ้นค่าแรงจะเป็นประโยชน์ต่อคนงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่… [คนงานเหล่านี้] จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และจะโอนเงินที่ได้กลับบ้าน เงินนี้จะไม่หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทย ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาล”
เมื่อเดือนมิถุนายน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ได้เรียกร้องให้จำกัดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่เฉพาะแรงงานฝีมือใน “อุตสาหกรรมเก่า” บางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น ภาคชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แก่ทุกคนจะไม่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย
"แรงงานข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะนำเงินค่าจ้างของตัวเองมาใช้จ่ายที่นี่เพียงครึ่งเดียว และส่งเงินที่เหลือกลับไปให้ครอบครัว นี่หมายความว่าค่าจ้างที่สูงขึ้นจะส่งเสริมจีดีพีของประเทศเพื่อนบ้าน” นายวิวรรธน์บอกแก่ บางกอกโพสต์ เมื่อเดือนพฤษภาคม
นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานรู้สึกผิดหวังกับคำพูดดังกล่าว
“ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรฐานต่ำสุด มาตรฐานขั้นพื้นฐานในการรับประกันว่าคนสามารถอยู่รอดได้ เราจึงไม่ควรต่อต้านสิ่งนี้” คอรีเยาะห์ กล่าว
“ในฐานะเจ้าของกิจการหรือบริษัทหรือโรงงาน ถ้าคุณรับผิดชอบที่จะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ คุณก็ไม่ควรทำธุรกิจ”