ทบ. ปฏิเสธข่าวส่งข้าวให้กองทัพเมียนมา ชี้เป็นการค้าชายแดนตามปกติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.03.22
กรุงเทพฯ
ทบ. ปฏิเสธข่าวส่งข้าวให้กองทัพเมียนมา ชี้เป็นการค้าชายแดนตามปกติ เจ้าหน้าที่ทหารชายแดนไทยเดินลาดตระเวน ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 18 มีนาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ กองทัพบก ได้แถลงปฏิเสธข่าวที่ระบุว่า กองทัพไทยได้ส่งข้าวสารให้กับกองทัพเมียนมา โดยชี้ว่าข่าวที่ปรากฏในสื่อเป็นการซื้อขายสินค้าบริเวณชายแดนปกติ ด้านชาวเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทยชี้ว่า หากรัฐบาลไทยส่งเสบียงช่วยเหลือกองทัพเมียนมาจริงตามที่เป็นข่าว ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

ทีมประชาสัมพันธ์กองทัพบก ได้เปิดเผยถ้อยแถลงโดย พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ซึ่งได้ระบุว่า การซื้อขายสินค้าชายแดนไทย-เมียนมา ปัจจุบัน ยังคงดำเนินการได้อย่างปกติ และกองทัพมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

“การค้าขายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ในขณะนี้นั้น เป็นเรื่องของผู้ประกอบการโดยตรง เป็นการค้าชายแดนตามปกติ กองทัพไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไปดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดกั้นการค้าขายชายแดน หากดำเนินการในกรอบของกฎหมายและเป็นไปตามขั้นตอนของศุลกากร” พล.ท.สันติพงศ์ ระบุ

“ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนสามารถดำเนินการค้าขาย ขนส่งสินค้าข้ามแดนได้ตามระเบียบและกฎหมายตามความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ตามปกติ... ทั้งนี้ ต้องไม่ได้เป็นสิ่งของต้องห้ามตามกฎหมายหรือยุทธภัณฑ์ที่อยู่ในการควบคุม ทั้งนี้ ประชาชนตามแนวชายแดน รวมถึงการค้าขายของผู้ประกอบการที่มีการส่งสินค้าตามช่องทางต่าง ๆ ก็ยังคงต้องผ่านการตรวจสอบและกำกับดูแลจากทหารเมียนมาตามระเบียบปฏิบัติของทางการเมียนมา ตามปกติเช่นกัน” พล.ท.สันติพงศ์ กล่าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า รัฐบาลเมียนมาได้ร้องขอความช่วยเหลือใด ๆ มายังรัฐบาลไทยหรือไม่ โดยได้ระบุว่ายังไม่ได้มีการร้องขอ

“ยังไม่มี ไม่มีหรอกนะ ก็เป็นเรื่องภายในของเขา นี่คือกฎบัตรของอาเซียนกำหนดไว้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่อะไรที่มันเป็นความห่วงใยจากต่างประเทศเราก็เตือนไปอะไรไป โดยมติของอาเซียนอยู่แล้วนะ ปัญหามันไม่เหมือนกัน ต้องมีกระบวนการบริหารของเขาเอง ทำยังไงจะปลอดภัย ทำยังไงจะสงบเรียบร้อย ผมคิดว่าเขาก็ต้องการอย่างงั้นอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล

การชี้แจงของ กองทัพบก และนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากเมื่อวันที่เสาร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวชายขอบ ได้เปิดเผยว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยแห่งหนึ่ง ได้จัดส่งมอบข้าวสาร 700 กระสอบ ให้แก่กองกำลังทหารเมียนมา ที่ตั้งที่ฐานปฏิบัติการอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ริมแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) ได้ตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของหน่วยทหารเมียนมาตามจุดต่าง ๆ ในรัฐกะเหรี่ยง

“การขนเสบียงครั้งนี้ทราบว่าได้รับคำสั่งมาจากส่วนกลางของรัฐบาลไทย และรถบรรทุกขนข้าวเหล่านี้มาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก การที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยยอมส่งเสบียงให้ทหารพม่าครั้งนี้ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นปัญหาภายในพม่าที่สำคัญคือ สังคมโลกกำลังจับตาดูการระทำอันรุนแรงที่กองทัพพม่ากำลังทำกับประชาชน ดังนั้นการส่งเบียงให้ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ทหารพม่าทำร้ายประชาชน” แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยกับ สำนักข่าวชายขอบ

ต่อมาในวันอาทิตย์ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ออกแถลงการณ์ คัดค้านการที่กลุ่มคนกลุ่มใดก็ตามส่งเสบียงให้กับกองทัพเมียนมา ซึ่งกำลังเข่นฆ่าและจับกุมประชาชนในหลายพื้นที่

“พวกเรากองพล 5 ไม่ยอมรับกองทัพพม่า ว่าเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้วประชาชนชาวพม่าและประชาคมนานาชาติ ก็ไม่ยอมรับเผด็จการทหารพม่าเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มหรือบุคคลใดก็ตามที่พยายามจะจัดส่งเสบียงให้แก่กองทัพพม่า จะถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนและช่วยเหลือทหารพม่าให้อยู่บนแผ่นดินของเราได้นานขึ้นอีก และจะนำไปสู่การสังหารโหดประชาชนชาวกะเหรี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ไม่เชื่อฟังคำเตือนนี้ ผลลัพธ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นถือเป็นความรับผิดชอบของผู้บุกรุกแต่เพียงฝ่ายเดียว” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนร่วมกันเป็นระยะทางยาว และประชาชนไทยและประชาชนเมียนมามีการปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในหลากหลายมิติ ไทยยังคงติดตามในเมียนมาด้วยความห่วงกังวล และหวังว่าสถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาจะไม่บานปลาย

“เราเรียกร้องให้มีการคลี่คลายสถานการณ์ และการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งของกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธี ด้วยการพูดคุยกันผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใด ๆ เพื่อเมียนมาและประชาชนเมียนมา” นายธานี ระบุ

ขณะที่นายแสง สุริยะวัน ประชาชนชาวพม่า เชื้อสายไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในชายแดนแม่สอด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองไม่แน่ใจว่าใครเป็นเจ้าของเสบียงต่าง ๆ รวมถึงข้าวสาร แต่จากภาพที่เห็นเป็นรถบรรทุกของกองทัพ ทั้งไทยและพม่า

“เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อเพื่อนพี่น้องในพม่ากำลังเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเพื่อน ให้กับญาติ ๆ ของเรา บางส่วนก็หวังจะหาทางลี้ภัยชั่วคราวมาอยู่ฝั่งไทย ซึ่งมีพี่น้องอาศัยอยู่ แต่พอเรารู้ว่ามีคนจากฝั่งไทยคอยส่งเสบียงให้กับทหารพม่า ที่ยังออกตรวจอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง เราก็เสียใจมาก ไม่คิดว่าเขาจะให้ความช่วยเหลือกัน โดยไม่คิดถึงประชาชนที่กำลังประท้วงอยู่ในตอนนี้” นายแสง กล่าว

นายแสง ยังระบุอีกว่า กองทัพพม่าได้เข้าตรวจค้นบ้านของชาวบ้าน ในเมืองเมียวดีฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด เป็นเวลาหลายวันติดกันเกินหนึ่งสัปดาห์มาแล้ว โดยทราบภายหลังว่า มีการติดต่อสื่อสารระหว่างทหารพม่าที่ลาดตระเวนอยู่ ในรัฐกะเหรี่ยงกับกองทัพไทย ในชายแดนแม่สอด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง