คนไทย 80 คน กลับถึงมาตุภูมิ หลังพ้นนรกเล้าก์ก่าย
2023.12.04
กรุงเทพฯ

ในช่วงเช้าของวันจันทร์ คนไทยจำนวน 80 คน และชาวมาเลเซียอีก 3 คน ที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกลวงไปทำงานในประเทศเมียนมา ได้รับความช่วยเหลือจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ทั้งหมดจะถูกส่งต่อเข้ากระบวนการคัดกรองในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ต่อไป
ทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือ เดินทางออกจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เข้าสู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เพื่อโดยสารเครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบิน Thai Lion Air เที่ยวบิน SL7007 จากเมืองคุนหมิง สู่ท่าอากาศยานดอนเมือง ในเช้าวันจันทร์เวลา 02.00 น.
“สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศพันธมิตรประสบความสำเร็จในการเข้าช่วยเหลือคนไทยจำนวน 80 คน และชาวมาเลเซียอีกจำนวนหนึ่ง อพยพออกจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมาได้อย่างปลอดภัย” ข้อความจากกระทรวงการต่างประเทศระบุ
เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ทั้งหมดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ผ่านกลไกการส่งต่อระดับชาติ รวมถึงการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการคุ้มครอง และหากว่ามีความผิดก็จะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป
ทั้งนี้ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายชาวมาเลเซีย ที่มีรายงานว่ามีจำนวน 3 คน ที่เดินทางมาพร้อมกับคนไทยกลุ่มนี้
แม้ว่าในวันนี้ มีคนไทยจำนวนกว่า 400 คนที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาจากสถานที่หลายแห่งในเมืองเล้าก์ก่าย แต่ยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งถูกกักขังอยู่ในสถานที่ทำงานของนายจ้างชาวจีนทั้งในเมืองเล้าก์ก่ายและเมืองรอบ ๆ รอความช่วยเหลืออยู่ ส่วนใหญ่อ้างว่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่มีหัวหน้าเป็นชาวจีน ถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ สแกมเมอร์ รวมถึงบังคับขายบริการทางเพศ
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) ที่จะใช้ในdการคัดแยกบุคคลที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ออกจากผู้ที่อาจจะเป็นขบวนผู้ค้ามนุษย์ที่แอบแฝงอยู่ เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รัฐบาลไทย เมียนมา และจีน ได้ประสานความช่วยเหลือคนไทยและชาวต่างชาติ ออกมาจากเมืองเล้าก์ก่าย ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของคอลเซ็นเตอร์ บ่อนการพนัน และสถานบริการทางเพศ อยู่ในรัฐฉาน ได้กว่า 300 คน ในจำนวนนี้ รวมชาวฟิลิปปินส์ 6 คน และชาวสิงคโปร์ 1 คน
ในเวลานั้น นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยประสานร่วมมือกับหลายฝ่ายต่อไป เพราะยังมีคนไทยจำนวนไม่ถึง 100 คน ยังตกค้างอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของนายจ้างชาวจีนที่ไม่ยอมปล่อยตัวให้หลบหนีการโจมตี
ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายนและตุลาคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมา ได้ประกาศแจ้งเตือนให้คนไทยระมัดระวังจะถูกหลอกไปทำงานในประเทศเมียนมาผ่านการประกาศหางานออนไลน์ ผ่านชายแดนฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยระบุว่า จะมีลักษณะการล่อลวงว่าจะมีรายได้ 3-4 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งหากหลงเชื่อจะถูกขายต่อไปทำงานในเขตปกครองตนเอง ถูกบังคับขายบริการ บังคับให้เสพยา ถูกยึดหนังสือเดินทาง และเป็นหนี้
จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคม “พันธมิตรเหนือ” (Northern Alliance) หรือ “กองกำลังพันธมิตรสามพี่น้อง” (Three Brotherhood Alliance) ที่ประกอบด้วย กองกำลัง Ta’ang National Liberation Army, กองกำลัง Myanmar National Democratic Alliance Army และ กองกำลัง Arakan Army ได้ร่วมกันดำเนิน “ยุทธการ 1027” ด้วยการโจมตีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของทหารรัฐบาลเมียนมาในเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเล้าก์ก่าย ในเขตอิทธิพลของกลุ่มโกก้าง ในรัฐฉาน ซึ่งติดกับพรมแดนยูนนานของจีน
คนไทยที่ติดอยู่ที่เมืองเล้าก์ก่ายในขณะนั้น ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งนำตัวพวกเขากลับประเทศ เพราะพวกเขาได้รับข่าวว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยจะโจมตีกองทัพเมียนมาในตัวเมืองเล้าก์ก่ายอย่างขนานใหญ่