ศาลยกฟ้องตุน มิน ลัต และลูกเขย สว. อุปกิต คดียาเสพติด

นนทรัฐไผ่เจริญ
2024.01.30
กรุงเทพฯ
ศาลยกฟ้องตุน มิน ลัต และลูกเขย สว. อุปกิต คดียาเสพติด ศาลอาญา รัชดาภิเษก ในกรุงเทพฯ รับฟ้องนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ในข้อหาร่วมคบค้ากระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฟอกเงิน และข้อหาอื่น ๆ วันที่ 14 ธันวาคม 2566
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

ศาลอาญาพิพากษาในวันอังคารนี้ยกฟ้อง นายตุน มิน ลัต นักธุรกิจคนสนิทของ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย นายกรัฐมนตรีเมียนมา นายดีน ยัง ลูกเขยของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา และพวก ในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากศาลเห็นว่า พยานหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเอาผิดจำเลย

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีดำ ย1249/2565 ที่พนักงานอัยการคดียาเสพติด 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายตุน มิน ลัต, นายดีน ยัง จุลธุระ, น.ส. น้ำหอม (สงวนนามสกุล), น.ส. ปิยะดา (สงวนนามสกุล) และบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 3 ชั่วโมง

“ศาลพิจารณาแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องทุกข้อหา และพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยหักล้างได้ทั้งหมด พิพากษายกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 นายตุน มิน ลัต และพวกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 อัยการได้ส่งฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด องค์กรอาชญากรรม และการฟอกเงิน โดยจำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ขณะพิจารณาคดีในชั้นศาล

อัยการระบุว่า จำเลย และพวกได้ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปวางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำในการจัดหายาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า) โดยพวกจำเลยทำหน้าที่ดูแลรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงินซื้อขายค่ายาเสพติดเข้าบัญชีของบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (จำเลยที่ 5 ) ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-10 พฤษภาคม 2562

จำเลยอ้างว่า เงินดังกล่าวเป็นการชำระค่าไฟฟ้า ซึ่งอัยการเชื่อว่ามีลักษณะปกปิดอำพรางซึ่งการได้มาของเงินในการค้ายาเสพติด (ฟอกเงิน) ต่อมาจำเลยที่ 5 นำเงินดังกล่าวเปลี่ยนสภาพเป็นสินค้าประเภทกระแสไฟฟ้าส่งออกไปประเทศเมียนมา ในชั้นศาลจำเลยทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ กระทั่งได้รับการยกฟ้องในวันอังคารนี้

ทั้งนี้ จำเลยถูกพาตัวจากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน

ด้าน นายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความฝ่ายจำเลยเปิดเผยกับสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษาว่า คดีนี้ควรจะเป็นบรรทัดฐานให้แก่เจ้าหน้าที่เรื่องการรวบรวมหลักฐานก่อนการฟ้องคดี

“คดีนี้ควรเป็นบรรทัดฐานแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องการดูหลักฐานอย่างละเอียดก่อนออกหมายจับ เพราะศาลให้ความเห็นว่า หลักฐานค่อนข้างหละหลวม และจำเลยได้รับความเสียหายจากการถูกคุมขัง ทั้งรายได้ และอาชีพการงาน” นายเรืองศักดิ์ กล่าว

“คดีนี้เกิดจากเรา (จำเลย) ใช้บริการร้านแลกเปลี่ยนเงินในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบริษัทอื่น ๆ ก็ใช้บริการเช่นเดียวกัน เราจึงเอาหลักฐานนิติบุคคลอื่น ๆ ที่มีเส้นทางการเงินในลักษณะคล้ายกับเรามาหักล้างต่อศาล เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะถ้าพวกเราเกี่ยวข้อง บริษัทฯ อื่นก็ต้องโดนด้วย”​ นายเรืองศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ในคดีเดียวกัน ยังมีจำเลยอีกหนึ่งคนที่อัยการแยกฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566  คือ นายอุปกิต ปาจรียางกูร หลังจากศาลรับฟ้อง นายอุปกิตให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว หลังวางหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท

ระหว่างปี 2565-2566 สื่อมวลชนหลายสำนักระบุว่า นายอุปกิต มีความสนิทสนมกับ นายตุน มิน ลัต ซึ่งเชื่อว่าเป็นนักธุรกิจผู้ใกล้ชิดกับ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย นายกรัฐมนตรีเมียนมา และนายอุปกิต ได้ระบุว่า เคยทำธุรกิจร่วมกับนายตุน มิน ลัต หลายอย่าง

อย่างไรก็ตาม นายอุปกิต ยืนยันมาโดยตลอดว่า ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แม้จะรู้จักกับนายตุน มิน ลัตมาร่วม 20 ปี

สำหรับคดีของนายอุปกิต ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ส่วนคดีของนายตุน มิน ลัต และพวก อัยการมีเวลา 30 วันในการยื่นอุทธรณ์คดี เบื้องต้น ทั้งคู่จะได้รับปล่อยตัวหลังจากเรือนจำ หากอัยการเจ้าของคดีไม่ได้คัดค้านการประกันตัว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง