ตำรวจจับกุมแรงงานเมียนมาและผู้นำพา 80 ราย ที่สุไหงโก-ลก

มาตาฮารี อิสมาแอ
2022.05.19
นราธิวาส
ตำรวจจับกุมแรงงานเมียนมาและผู้นำพา 80 ราย ที่สุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบแรงงานจากเมียนมาที่นายหน้าลักลอบนำพาผ่านประเทศไทย เพื่อไปทำงานในมาเลเซีย วันที่ 19 พฤษภาคม 2565
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวแรงงานเมียนมา ซึ่งเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 75 คน และผู้นำพา 5 คน ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนที่กลุ่มแรงงานจะลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนธรรมชาติไปยังประเทศมาเลเซียได้สำเร็จ

ด้าน นักสิทธิแรงงานแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่สูง เพื่อแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย

พ.ต.อ. พงษ์ปณต ชูแก้ว ผกก.กก.6 บก.ป. เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสกัดขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งแอบลักลอบขนย้ายบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ขณะเดินทางจากพื้นที่อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เพื่อลักลอบใช้ช่องทางธรรมชาติในพื้นที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส และหวังจะเดินทางต่อไปทำงานในประเทศมาเลเซีย

“เจ้าหน้าที่วางกำลังดักซุ่มอยู่ที่หน้าบ้านตันหยงมะลิ เยื้องกับสนามกอล์ฟคลับแอนด์รีสอร์ท สุไหงโก-ลก พบรถต้องสงสัยมีรั้วกระบะหลังที่ใช้ผ้าพลาสติกสีฟ้าคลุมมิดชิด 3 คัน เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัว เพื่อให้รถจอดและขอตรวจค้น พบบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาอัดแน่นอยู่ในกระบะหลัง คันละ 20-30 คน แบ่งเป็นคนขับและผู้นำพา 5 คน และชาวเมียนมา 75 คน ช่วงอายุ 18 ถึง 35 ปี โดยในนั้นเป็นผู้หญิง 12 คน”​ พ.ต.อ. พงษ์ปณต กล่าว

พ.ต.อ. พงษ์ปณต กล่าวเพิ่มเติมว่า นายนุรดิง อาลี 1 ใน 5 ผู้นำพาให้การว่า ตนรับจ้างนำพาคนเมียนมาจากพื้นที่บางกล่ำ ได้ค่าหัวคนละ 1,000 บาท เพื่อไปส่งต่อที่ช่องทางข้ามธรรมชาติในพื้นที่อำเภอแว้ง ชาวเมียนมามีความประสงค์ที่จะแอบข้ามแดนไปทำงานในมาเลเซีย โดยตนไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเป็นนายหน้านำบุคคลต่างด้าวแอบลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยตรง เพียงรับจ้างนำพาในการขนย้ายเท่านั้น

ขณะที่ ชาวเมียนมา (สงวนชื่อและนามสกุล) ซึ่งถูกควบคุมตัวได้ให้ข้อมูลผ่านล่ามว่า ชาวเมียนมาทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านนายหน้า ซึ่งสัญญาว่าจะพาเข้าไปทำงานในมาเลเซีย

“ต้องจ่ายเงินค่าหัวให้นายหน้ารายละ 20,000-30,000 บาท โดยมีการขนย้ายพวกเราจากฝั่งตรงข้ามประเทศเมียนมาเป็นทอด ๆ โดยไม่ทราบว่าย้ายพวกเรามาจากจุดใดบ้าง การขนย้ายใช้ช่วงกลางคืนซึ่งจะไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบนท้องถนน” ชาวเมียนมารายดังกล่าว ระบุ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งข้อหาผู้นำพา 5 คน ฐานนำพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และชาวเมียนมา 75 คน ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รอง ผบช.สตม.) ในฐานะโฆษก สตม. เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2564 เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกว่า 1.8 หมื่นราย โดยสาเหตุของการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการแรงงานมากขึ้น แต่ด่านชายแดนยังไม่เปิดเป็นปกติ ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถูกลักลอบเข้ามา เพราะมีแรงจูงใจจากค่าแรงที่สูงกว่าในประเทศของตัวเอง

ต่อประเด็นดังกล่าว นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) ชี้ว่า หากชายแดนเปิดอย่างปกติ และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานถูกลง การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจะลดน้อยลง

“ไทยต้องการแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้าง จากการเปิดให้แรงงานเข้ามาเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งละ 300-500 คน ถ้าอัตราเร่งยังเป็นแบบนี้ถือว่าไม่ตอบโจทย์ รัฐบาลไทยควรหาแนวทางนำเข้าแรงงานแบบอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการ ระบบนำเข้าต้องสะดวก และมีราคาเหมาะสม ดูเหมือนฝ่ายเมียนมาต้องการจะเพิ่มค่าใช้จ่ายการข้ามแดน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งเจรจากับเมียนมาเพื่อลดค่าใช้จ่าย แนวทางการนำแรงงานนอกระบบในประเทศเข้าระบบก็น่าจะเป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง” นายอดิศร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง