นักวิเคราะห์ : อันวาร์ นายกมาเลเซียอาจกระตุ้นการพูดคุยสันติสุข
2022.12.15
กัวลาลัมเปอร์

การเจรจาสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เห็นผลใด ๆ นั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย ได้แสดงความสนใจอย่างยิ่งต่อประเด็นความขัดแย้งนี้ และอาจจะปรับเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนปัจจุบันที่เคยชกเบ้าตาของเขาจนเขียวคล้ำออกไปจากกระบวนการเจรจา
การพูดคุยระหว่างตัวแทนเจรจาทั้งรัฐบาลไทยและผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมชะงักงันไปโดยปริยาย โดยครั้งสุดท้ายมีขึ้นในมาเลเซียเมื่อเดือนสิงหาคม ขณะเดียวกันมาเลเซียซึ่งเป็นตัวแทนการเจรจาฯ มานานหลายปี เพิ่งมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำคนใหม่ของมาเลเซีย ได้พบกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีของไทยแล้ว แต่รัฐบาลทั้งสองยังคงปิดปากเงียบเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาสันติภาพในอนาคต โดยบอกแต่เพียงว่าพวกเขากำลังหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการที่จะหาคนแทน นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข และเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยหรือไม่
ส่วนวันที่ของการพูดคุยฯ รอบต่อไปยังไม่ได้รับการยืนยัน แม้ว่าผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซีย บอกกับเบนาร์นิวส์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะมีขึ้นในเดือนมกราคม เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ หัวหน้าตัวแทนการพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย และเลขาธิการคณะกรรมการสันติภาพ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ในขณะเดียวกัน สมาชิกอาวุโสของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใหญ่ที่สุดและมีกำลังพลมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าจะยอมรับการปกครองตนเอง แทนการมีเอกราช หากนั่นคือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการ
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาชิกของบีอาร์เอ็นรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ผ่านกล้องวิดีโอ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่หาได้ยาก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องปกปิดตัวตนและปรับเปลี่ยนเสียงพูดของเขาเอง
“เป้าหมายสูงสุดตอนนี้คือ เอกราช … การให้การสนับสนุนของประชาชนคือตัวแปรสำคัญ” ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเขาขอให้เรียกว่า “มุสตาคิม” กล่าว
“แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ในระหว่างทางของการต่อสู้เนี่ย ถ้าเกิดว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเอกราช หรือจะเป็นเหมือนอาเจะห์ หรือเหมือนในมินดาเนา อันนั้นก็เป็นเรื่องของฉันทามติร่วมของคนปาตานี”
กลุ่มกบฏในอาเจะห์ อินโดนีเซีย และมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เดิมทีต้องการเอกราช แต่ยอมตกลงที่การปกครองตนเอง เพื่อแลกกับความสงบสุข
มุสตาคิมกล่าวว่า การเจรจาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ไปถึงไหน
“การเจรจาโดยสรุปตอนนี้คือ ไม่สามารถที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จของกระบวนการเจรจาที่ควรจะเป็น ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ที่อาเจะห์ อินโดนีเซีย” เขากล่าว
“เขาก็มีกระบวนการ มีรายละเอียดที่สามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพได้ ในระยะเวลาที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากเกินไป ไม่จำเป็นต้องถึง 10 ปี หรือ 20 ปี”
บีอาร์เอ็นต่อสู้เพื่อก่อตั้งรัฐอิสระสำหรับชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย ไม่ชัดเจนว่า “มุสตาคิม” แสดงมุมมองของขบวนการอย่างเป็นทางการ หรือเป็นความคิดเห็นของเขาเอง และทางบีอาร์เอ็นอนุญาตให้เขาพูดคุยกับนักข่าวหรือไม่
อันวาร์ 'จะมีบทบาทสำคัญ'
ในขณะเดียวกัน ผู้สังเกตการณ์ต่อประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาค ยังเห็นว่าการเจรจาสันติภาพแทบจะไม่มีความคืบหน้า
รัฐบาลไทยและตัวแทนบีอาร์เอ็นเริ่มการเจรจาสันติภาพโดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เมื่อช่วงต้นปี 2563 ไม่นานก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน
การพูดคุยฯ เหล่านี้ เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาหลายปีระหว่างรัฐบาลและองค์การมาราปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มร่มที่รวบรวมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบีอาร์เอ็น
มิซาน โมฮัมหมัด อัสลาม จากมหาวิทยาลัยป้องกันดินแดนแห่งชาติมาเลเซีย กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ เพราะตามความเห็นของเขา ความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
มาเลเซียจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการเจรจาใหม่ทั้งหมด เพื่อหาทางออกที่นำมาปฏิบัติได้ และนั่นรวมถึงการหาคนใหม่มาแทนที่ อับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวก มิซาน กล่าว
“รัฐบาล [มาเลเซีย] มีสองทางเลือก : คุณต้องการคนที่มีความกระฉับกระเฉง อายุค่อนข้างน้อย และมีความตั้งใจที่จะทำงานให้เสร็จไป หรือคุณต้องการคนที่มีประสบการณ์สูง และมีสติปัญญาในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้” เขาบอกเบนาร์นิวส์
มิซาน เชื่อว่า อันวาร์จะเป็นแกนหลักที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
“เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่น่านับถือคนหนึ่ง ในประเทศไทย ผมรู้ว่าในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ได้ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาวมาดราซในภาคใต้ของไทย ผมจึงเชื่อว่าเขาจะมีส่วนสำคัญในการนี้” เขากล่าว
อัลตาฟ เดวิยาติ นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการ IMAN Research ซึ่งเป็นศูนย์ระดมสมองของกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า มาเลเซียไม่ได้แสดงท่าทีเชิงรุกในประเด็นปัญหาชายแดนภาคใต้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
“มาเลเซีย [ปัจจุบัน] ทำงานเหมือนสำนักงานเลขาธิการอย่างแท้จริง … [แต่] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันวาร์ อิบราฮิมได้แสดงความสนใจต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงในอาเซียน” เธอบอกกับเบนาร์นิวส์
“ฉันคิดว่า เขาจะนำความสนใจเป็นพิเศษส่วนตัวนี้ ไปต่อยอดให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาฯ …ฉันคาดว่าอาจจะมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก [ด้วย]”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไซฟุดดิน นาซูชัน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียกล่าวว่า หนึ่งในเรื่องที่หารือในการประชุมกับรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร ของไทย คือความเป็นไปได้ในการหาคนแทนที่ ราฮิม นูร์
“เมื่อถึงเวลาเราจะประกาศ [การเปลี่ยนแปลงใด ๆ] … ผมพูดได้ว่าเราคุยกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างการประชุมด้วย” เขาบอกกับนักข่าว ในเมืองปุตราจายา
“[มัน] เป็นการเจาะจงและลงรายละเอียดมากเกินไปเกี่ยวกับข้อผูกพันร่วมกันหลายประการที่ต้องหารือกัน แต่ตอนนี้ก็ยังเร็วเกินไปที่ฉันจะเปิดเผยรายละเอียดในเรื่องนี้”
ผู้สนับสนุน นายอันวาร์ อิบราฮิม (ผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น) ถือป้ายรูปอันวาร์ที่มีดวงตาช้ำดำ พร้อมข้อความว่า “ความยุติธรรมสำหรับอันวาร์” และตะโกนคำขวัญระหว่างประท้วง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 (ไล เซง สิน/เอพี)
ราฮิม นูร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทย ในเดือนกันยายน 2561 โดยมหาเธร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น
ส่วนพรรคแนวร่วมประชาชนของอันวาร์ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมของมหาเธร์ คัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าวอย่างหนัก เพราะสมาชิกพรรคไม่เคยลืมว่า ราฮิม นูร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจ เคยชกอันวาร์ในคุกเมื่อปี 2541 หลังจากที่มหาเธร์ไล่อันวาร์ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในกรณีฉาวโฉ่ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ตาเขียว”
สองปีต่อมา ราฮิม นูร์ถูกตัดสินจำคุกสองเดือนในข้อหาทำร้ายร่างกาย โดยในปี 2548 อดีตผู้บัญชาการตำรวจกล่าวคำขอโทษอันวาร์ต่อหน้าสาธารณะ ในศาล
เบนาร์นิวส์ติดต่อ ราฮิม นูร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อขอความคิดเห็น แต่เขาปฏิเสธที่จะตอบ
เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไม่ตอบคำถามเบนาร์นิวส์ว่า จะมีการเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกหรือไม่
ด้าน ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในไทย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง อันวาร์-ราฮิม นูร์ แต่กล่าวว่าผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ในการเจรจาสันติภาพอาจจะช่วยผลักดันประเด็นต่าง ๆ ได้
“เกี่ยวกับราฮิม นูร์ บางทีอาจถึงเวลาที่เขาต้องหลีกทาง เขาคือตัวเลือกในสมัย ดร. มหาเธร์” ดอน ปาทาน บอกเบนาร์นิวส์
“ตอนนี้ อันวาร์ เป็นนายกรัฐมนตรี และดูเหมือนว่าเขาจะลงมือปฏิบัติจริงจังมากขึ้น เขาเดินทางมากรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อพบกับ ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทย” ดอน ปาทาน กล่าวถึงการเยือนกรุงเทพฯ ของอันวาร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน
ในทศวรรษที่ 1960 (ช่วงพ.ศ. 2503) ขบวนการติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มปฏิบัติการต่อต้านประเทศไทยที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่
นับตั้งแต่การก่อความไม่สงบระอุขึ้นอีกครั้ง ในเดือนมกราคม 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,344 คน และอีก 13,641 คน ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รุนแรง ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้