คณะพูดคุย, บีอาร์เอ็น จะเจรจารอบใหม่ที่มาเลเซียต้นปีหน้า แหล่งข่าวกล่าว

ฮาดี อัซมี และมารียัม อัฮหมัด
2021.12.23
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
คณะพูดคุย, บีอาร์เอ็น จะเจรจารอบใหม่ที่มาเลเซียต้นปีหน้า แหล่งข่าวกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบซากรถคาร์บอมบ์ หน้าสำนักงานศอ.บต. ในจังหวัดยะลา วันที่ 17 มีนาคม 2563
เอเอฟพี

คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขบวนการบีอาร์เอ็นจะพบปะพูดคุยตัวต่อตัวอีกครั้ง ในเดือนมกราคม ปี 2565 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย หลังจากที่ต้องยุติลงไปเกือบสองปี เพราะการระบาดของโควิด-19 แหล่งข่าวในทั้งสองประเทศกล่าวในวันพฤหัสบดีนี้

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาทางออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ โดยมีนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ประสานงานเช่นเดิม

“เราจะดำเนินการ (พูดคุย) ต่อ ในเดือนมกราคม หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี” แหล่งข่าวจากมาเลเซีย ที่ใกล้ชิดกับการกระบวนการพูดคุยฯ (ขอสงวนนาม เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อ) บอกกับเบนาร์นิวส์

“มันจะเป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ในกรุงกัวลาลัมเปอร์” แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

ผู้แทนคณะพูดคุยสันติสุขไทย และตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น - ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกองกำลังมากที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ - ได้พบปะกันผ่านทางออนไลน์ครั้งสุดท้าย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 นี้ และการพบปะแบบตัวต่อตัวสองครั้งสุดท้าย มีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในเดือนมีนาคม ปี 2563 ในช่วงเวลาของการระบาดใหญ่ไวรัสโคโรนาครั้งแรก ในประเทศมาเลเซีย

ในวันนี้เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพภาคที่สี่ ก็ไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้

นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ได้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยแล้วกว่า 7,000 ราย 

การปะทะโจมตีมากขึ้น ตั้งแต่เดือนกันยายน

อย่างไรก็ตาม นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งมีองค์กรร่วมเป็นสมาชิก 32 องค์กร กล่าวว่า การเจรจารอบหน้าจะมีขึ้นก่อนกลางเดือนมกราคม ปี 2565 นี้

“จากการที่ประชาสังคมทำงานร่วมกับหลายฝ่ายในพื้นที่ชายแดนใต้ เราทราบจากวงในว่า จะมีการเจรจาระหว่างคณะพูดคุยฯ กับบีอาร์เอ็น ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ น่าจะเป็นวันที่ 11 มกราคม ปีหน้า” นายรักชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“ผมไม่คาดหวังอะไรเพราะเขาต้องลดความรุนแรงลงในพื้นที่ คงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้ากำหนดกรอบพื้นที่แล้วให้ทุกฝ่ายรวมทั้งบีอาร์เอ็นเข้ามามีส่วนร่วมติดตาม อาจจะเห็นผล อาจจะทำโดยไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะก็ได้” นายรักชาติ กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนั้น นายรักชาติได้เดินทางไปยังรัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อเสนอให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาหนึ่งคณะเพื่อติดตามผลการเจรจาระหว่างสองฝ่าย

“เราคิดว่าควรจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาหรือติดตามในเรื่องกระบวนการพูดคุย เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนการพูดคุยบ่อยครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น” นายรักชาติกล่าวที่รัฐสภา

ด้าน นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ทางประธานรัฐสภาอาจจะบรรจุเรื่องนี้เพื่อการพิจารณาในการประชุมรัฐสภาต้นปีหน้า

หนึ่งเดือนหลังจากการพูดคุยแบบตัวต่อตัวระหว่างคณะผู้แทน-เจ้าหน้าที่ไทย และตัวแทนของบีอาร์เอ็น กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว ในเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยจัดการรับมือกับการระบาดโควิด-19

แม้จะมีการหยุดยิง ซึ่งไม่เคยมีการประกาศอย่างเป็นทางการมาก่อน แต่การโจมตีประปราย จากผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบก็เกิดขึ้น เมื่อต้นปีนี้

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มขึ้นหลังจากข้อความที่เชื่อมโยงกับกลุ่มบีอาร์เอ็นถูกโพสต์บนเฟซบุ๊ก กระตุ้นให้นักสู้บีอาร์เอ็น “กลับมาใช้วิถีการป้องกันตัวเองอีกครั้ง”

ต่อมาในเดือนนั้น เจ้าหน้าที่ไทยสามนาย และผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะกันที่จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่กล่าว

ในเดือนตุลาคม เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่า พวกเขาได้กวาดล้างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าพรุแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนราธิวาส เป็นเวลา 17 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 4 นาย และผู้ต้องสงสัยกลุ่มกบฏ 6 ราย ถูกสังหารในระหว่างการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่กล่าว

ต่อมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ บีอาร์เอ็นประกาศสนับสนุนชาวสงขลา ในการประท้วงโครงการอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะ โดยเกิดเหตุลอบวางระเบิดสี่ครั้ง ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ในครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มีเป้าหมายการโจมตีที่รถไฟโดยสาร ในจังหวัดปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตในการโจมตีครั้งล่าสุดนี้

เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 กันยายน 2564) พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษก กอ รมน ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงว่า ในปี 2563 เกิดเหตุความไม่สงบ 53 ครั้ง เสียชีวิต 63 คน บาดเจ็บ 105 คน ส่วนในปี 2564 เกิดเหตุ 84 ครั้ง เสียชีวิต 38 คน บาดเจ็บ 85 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง