มาเลเซีย-ไทย เห็นพ้องสร้างสะพานข้ามแดนเพิ่มเติม ในชายแดนใต้

มารียัม อัฮหมัด และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.08.26
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
มาเลเซีย-ไทย เห็นพ้องสร้างสะพานข้ามแดนเพิ่มเติม ในชายแดนใต้ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (ที่สองจากซ้าย) สมาชิกวุฒิสภา พร้อมคณะสมาชิกฯ รับฟังแผนการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย ที่เชื่อมต่อด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก และด่านเมืองรันเตาปันยัง วันที่ 18 สิงหาคม 2565
เบนาร์นิวส์

รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการของมาเลเซีย และรองนายกรัฐมนตรีของไทย เห็นพ้องที่จะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดน ในนราธิวาส และสตูล รวม 3 แห่ง และขยายความเชื่อมโยงที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงของประชาชนและการค้าของพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของสองประเทศ

ในวันนี้ ดาโต๊ะ ศรีฮัจญี ฟาดิลละห์ บิน ฮัจญี ยูโซ๊ะ รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อพูดคุยถึงโครงการสร้างสะพานในอำเภอตากใบเชื่อมโยงกับเมืองตุมปัต รัฐกลันตัน, สะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่สอง คู่ขนานกับสะพานเดิมในอำเภอสุไหงโกลกเชื่อมโยงเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน, สะพานเชื่อมจังหวัดสตูลกับรัฐปะลิส และการสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ กับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัม รัฐเคดะห์

การพบปะในครั้งนี้ เป็นการติดตามข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกันไว้ เมื่อครั้งที่ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

“ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า โครงการความเชื่อมโยงเหล่านี้ จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ” เอกสารข่าวของสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งร่วมต้อนรับรัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการมาเลเซีย กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ฝ่ายไทยและมาเลเซีย จะแบ่งงานการออกแบบการก่อสร้าง รวมทั้งออกงบประมาณในการก่อสร้างโครงการทั้งสี่แห่งคนละครึ่ง โดยจะก่อสร้างในเวลาไล่เลี่ยกัน

“โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อม 4 จุดนี้ เป็นโครงการที่มีแผนมานานแล้ว แต่มีการหารือกันอีกครั้ง... หลังจากนี้ บางจุด อย่างโกลกเนี่ย ธันวาก็คงจะหารือในเรื่องของฝ่ายเทคนิค” พล.ร.ต. สมเกียรติ กล่าว

เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวว่า โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่ ที่อำเภอตากใบนั้น ต้องใช้งบประมาณ 165 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ราว 5,280 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายกรมทางหลวงของไทยออกแบบแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการหารือเพื่อสรุปแบบก่อสร้างกับรัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงโยธาธิการของมาเลเซีย และโครงการสร้างสะพานในสตูล มีมูลค่าประมาณ 64 ล้านบาท

ส่วนโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่สอง ในอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาสนั้น ฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้ออกแบบเสร็จสิ้นแล้วในปี 2559 แต่ไม่ได้เปิดมูลค่า ขณะที่โครงการเชื่อมด่านสะเดา จังหวัดสงขลานั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เจ้าหน้าที่รายเดียวกันกล่าว

รัฐบาลไทย พยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ที่ประชากรมีรายได้ต่ำติดอันดับท้าย ๆ ของประเทศ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส และพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน กับพื้นที่ทางฝั่งภาคตะวันออก (East Coast Economic Region: ECER) ของมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ระบุ

ด้านประธานหอการค้า จังหวัดนราธิวาส เห็นว่าหากสามารถดำเนินโครงการได้จริงก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่

“เรื่องสะพานที่จะสร้างพูดกันมา 10 ปีแล้ว ไม่รู้กี่รัฐบาลกี่คณะมาดู ถ้าสามารถสร้างได้ก็ดี เพราะตอนนี้มาเลเซียกำลังสร้างรถไฟความเร็วสูง เมื่อสะพานทางมาเลเซียเสร็จก็พอดีมาต่อกับสะพานไทยมาเลเซียของเรา ก็ถือเป็นเรื่องดีถ้าทำได้ ถ้าทำไม่ได้เขาก็อยู่อย่างนั้นได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร” ดร. นิเมธ พรหมพยัต กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ ชาวอำเภอสุไหงโกลกบางรายเชื่อว่า โครงการดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

“ได้ยินโครงการนี้ ตั้งแต่สาว ๆ ตอนนี้ลูก 4 คนแล้ว สิบกว่าปีแล้ว พอชุดใหม่มาก็สร้างภาพแล้วก็หาย เชื่อว่าเดี๋ยวก็หายอีกตามเคย รัฐไม่ได้มีความจริงใจกับชาวบ้าน ถ้าโครงการนี้เสร็จมันก็สามารถช่วยชาวบ้านได้เยอะพอสมควร” น.ส. ปาอีซะ ลาเตะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนไทยมาเลเซียมีมูลค่า 335,996 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36 เปอร์เซ็นต์ เป็นมูลค่าส่งออก 182,464 ล้านบาท และนำเข้า 153,532 ล้านบาท ตามรายงานของกรมการค้าต่างประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง