มาเลเซีย : นายกฯ กัมพูชาน่าจะปรึกษาสมาชิกอาเซียนก่อนเยือนเมียนมา
2022.01.13
กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา

ในวันพฤหัสบดีนี้ ผู้ก่อตั้งอาเซียนทั้งสองคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่เดินทางไปเยือนเมียนมาที่ประสบปัญหาวิกฤตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน น่าที่จะปรึกษาสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ก่อน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียขอให้กัมพูชายึดตามสิ่งที่สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนได้ตกลงกันไว้ในการประชุม รวมทั้งฉันทามติห้าข้อ เพื่อนำเมียนมากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
คำกล่าวของเจ้าหน้าที่ของสองประเทศนั้น เป็นความคิดเห็นแรกที่แสดงออกมาโดยประเทศสมาชิกอาเซียน นอกเหนือจากกัมพูชาและเมียนมา หลังจากที่สมเด็จฯ ฮุน เซน เดินทางเยือนกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวงของเมียนมา เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม
“มาเลเซียเห็นว่า [ฮุน เซน] มีสิทธิ์ที่จะไปเยือนเมียนมาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกัมพูชา” นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อถูกถามเรื่องการเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน
“แต่เรายังรู้สึกด้วยว่า เพราะสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้รับหน้าที่ประธานอาเซียนไปแล้ว เขาน่าที่จะปรึกษากับผู้นำอาเซียนคนอื่น ๆ อย่างน้อยสองสามคนก่อน ถ้าไม่ใช่ทุกคน เพื่อขอความเห็นว่าควรทำอย่างไรในกรณีที่เขาเดินทางไปเมียนมา” นายไซฟุดดินกล่าวเสริม โดยหมายถึงหน้าที่ของกัมพูชาในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2565
เมื่อปลายปีที่แล้ว อาเซียนแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเมียนมา โดยห้ามพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนของปีที่แล้ว เพราะเขาไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อ นอกจากนี้ ก่อนหน้านั้น ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมาได้ยกเลิกการเดินทางไปยังเมียนมา หลังถูกบอกว่าไม่สามารถพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการขัดแย้งได้ รวมทั้งผู้นำฝ่ายพลเรือน เช่น นางอองซาน ซูจี
ทว่า เมื่อรับตำแหน่งประธานอาเซียน สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็บอกทันทีว่า ควรให้ผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมด้วย จากนั้น เขาก็รีบเดินทางไปเมียนมา พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหาร แต่ไม่ได้พบกับผู้นำฝ่ายพลเรือน
สมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องสามัคคีกันในการทำงาน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการหาหนทางแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา นายอับดุล กาดีร์ ไจลานี อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา สังกัดกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย บอกผู้สื่อข่าวในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดี
“เราหวังว่าในฐานะประธานอาเซียน กัมพูชาจะสามารถดำเนินการตามที่ได้ตกลง [กัน] ไว้ในการประชุมอาเซียนครั้งก่อน นั่นคือ การปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อ และใช้ความพยายามเพื่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” เขากล่าว
“นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมกันทำ”
ขณะเดียวกัน ดร.โนลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา ย้ำถึงประเด็นเดียวกันนี้ในการสนทนากับสมเด็จฯ ฮุน เซน เมื่อวันพฤหัสบดี
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาเลเซีย เป็นสองประเทศสมาชิกดั้งเดิมของอาเซียนจากทั้งหมดห้าประเทศ เมื่อมีการก่อตั้งอาเซียนขึ้น ในปีพ.ศ. 2510 การกระทำและนโยบายต่าง ๆ ของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของหลักฉันทามติมาโดยตลอด
คำกล่าวข้างต้นของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียและมาเลเซียมีขึ้นในวันหนึ่ง หลังจากที่กัมพูชายกเลิกการประชุมแบบพบหน้ากันของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งกำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 มกราคม ที่จังหวัดเสียมราฐ โดยให้เหตุผลว่ารัฐมนตรีบางคนลำบากที่จะเดินทางไปร่วมการประชุม แต่นักวิเคราะห์สถานการณ์บอกว่า การยกเลิกการประชุมน่าจะเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชุม เพื่อประท้วงการที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ดำเนินการเกี่ยวกับเมียนมาโดยไม่ปรึกษาสมาชิกประเทศอื่นก่อน
ก่อนหน้านี้ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ได้สนับสนุนให้ห้ามตัวแทนจากรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมอาเซียน เนื่องจากผู้นำรัฐบาลทหารไม่ยอมปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียนตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว สองเดือนหลังเหตุรัฐประหาร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง
เมื่อถูกถามว่าประเทศใดบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับการเยือนเมียนมาของ สมเด็จฯ ฮุน เซน ในครั้งนี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ ปฏิเสธที่จะระบุชื่อ แต่บอกว่ามีบางประเทศที่บอกว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน มีสิทธิ์ที่จะไปเยือนเมียนมา
“มีคนที่คิดว่าเขาไม่ควรไปเยือนเมียนมา เพราะการเยือนของเขาถูกมองว่าเป็นการยอมรับรัฐบาลทหารของเมียนมาในระดับหนึ่ง” นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ กล่าว
“แต่ก็มีคนอื่นที่คิดว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกัมพูชา เขามีสิทธิ์ไปเยือนเมียนมา เพราะถือเป็นการเยือนระดับทวิภาคีตามปกติ ประธานาธิบดีโจโกวีได้โทรศัพท์ถึงเขาก่อนหน้าการเยือน และผมแน่ใจว่าคุณได้อ่านการพูดคุยระหว่างสมเด็จฯ ฮุน เซน และประธานาธิบดีโจโกวีแล้ว”
นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ หมายถึงข้อความที่ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด โพสต์ในทวิตเตอร์ หลังจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน
“หากไร้ความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อ ผู้แทนของเมียนมาที่จะเข้าร่วมการประชุมของอาเซียนควรเป็นผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น” ประธานาธิบดีโจโกวีได้กล่าวไว้
และเมื่อถูกถามว่า การเยือนเมียนมาของสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ผลอะไรหรือไม่ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ ตอบว่า “ไม่”
เกี่ยวกับการที่กัมพูชาเลื่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกไป นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนและการติดภารกิจอื่น ๆ ของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศทำให้บางคนไม่สามารถเดินทางไปร่วมการประชุมได้
ส่วนนายอับดุล กาดีร์ อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียเข้าใจว่าการเลื่อนการประชุมออกไปมีสาเหตุจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง หลังเกิดการแพร่ของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
“แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับด้วยว่า ภายในอาเซียนเองยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้บรรลุจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้แทนของเมียนมา” เขากล่าว
“เรารู้ว่า จนถึงตอนนี้ยังขาดความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ... ดังนั้น อินโดนีเซียจึงยึดในคำตัดสินใจก่อนหน้านี้ของอาเซียนที่ว่า ผู้แทนของเมียนมาที่จะเข้าร่วมการประชุมของอาเซียน ควรเป็นผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น”
กัมพูชาไม่ได้ประกาศกำหนดการใหม่สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และนายอับดุล กาดีร์ อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาของอินโดนีเซีย ยังบอกด้วยว่า เขาก็ไม่ทราบเช่นกัน
“สิ่งที่เราทราบคือ การประชุมแบบพบหน้ากันจะถูกเลื่อนออกไป สำหรับกำหนดการใหม่ หรือการจะจัดประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลหรือไม่นั้น เรากำลังพูดคุยกันอยู่” เขากล่าว
ดร.โนลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา (จอทีวีด้านขวา) พูดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (จอทีวีด้านซ้าย) ในการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกล ที่กรุงพนมเปญ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา)
‘จะอยู่ที่ทางตันไม่ได้’
มูฮัมหมัด อารีฟ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า การประชุมอาเซียนที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความคืบหน้าเกี่ยวกับเมียนมา
“หากในการประชุมอาเซียนครั้งต่อไป มีผู้แทนรัฐบาลอย่างเป็นทางการจากเมียนมาที่มีคุณสมบัติพร้อมทางการทูตเข้าร่วมด้วยแล้วล่ะก็ จะเป็นปัญหาอย่างเห็นได้ชัดสำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งปฏิเสธรัฐบาลทหารในเมียนมา” เขาบอกกับเบนาร์นิวส์
ความแตกแยกภายในอาเซียนยังจะยิ่งทำให้ผู้นำรัฐบาลทหารมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เขากล่าว
“เขา [ฮุน เซน] ควรพูดตามหน้าที่ของเขาในฐานะประธานอาเซียน และข้อแนะนำของเขาควรสอดคล้องกับฉันทามติห้าข้อ ความสำคัญควรอยู่ที่การหาทางเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” มูฮัมหมัด อารีฟ กล่าว
ทางฝ่ายสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันพฤหัสบดี เขาได้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อชี้แจงข้อแก้ตัวสำหรับการพบปะกับพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า
เขากล่าวว่า การพบปะของเขากับผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติและฉันทามติห้าข้อของอาเซียน
“แผนของกัมพูชาเกี่ยวกับการเยือนพม่าในฐานะประธานอาเซียนคือ เพื่อหาวิธียุติความรุนแรง และ [ให้แน่ใจ] ว่าจะมีการหยุดยิง ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติห้าข้อ นอกจากนี้ [การพบปะนั้นมีเป้าหมาย] เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นแก่เมียนมาในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้” เขาเขียน
“เราจะอยู่ที่ทางตันไม่ได้ และเราจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขจุดติดขัดนี้ เพื่อหาโอกาสสำหรับการเจรจา”
เดเร็ก กรอสส์แมน นักวิเคราะห์สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวทางทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาคิดว่าความแตกแยกในอาเซียนมีความรุนแรง
“การเยือนเมียนมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ของฮุน เซน แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกอย่างรุนแรงในอาเซียน บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่อต้านการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลทหารพม่า แต่กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ต่างก็คิดว่าคงไม่มีทางเลือกอื่น” เขากล่าว
“อาเซียนกำลังมีปัญหา”