การพูดคุยนอกรอบช่วยขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุข
2022.03.30
กรุงเทพฯ และปัตตานี

การพูดคุยเพื่อหาทางยุติปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบตัวต่อตัวระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์สัปดาห์นี้ แต่กระบวนการพูดคุยนี้ มีผลมาจากการพูดคุยนอกรอบของบีอาร์เอ็นกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่มีการบอกกล่าวให้มาเลเซีย ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุย ได้รับทราบ
ฝ่ายมาเลเซียไม่พอใจที่มีองค์กรเอ็นจีโอต่างชาติจัดการพูดคุยนอกรอบผ่านทางออนไลน์ระหว่างคณะของบีอาร์เอ็น ซึ่งบินไปที่อิสตันบูล กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ตามคำกล่าวของแหล่งข่าวที่เข้าถึงข้อมูลติดตามกระบวนการพูดคุยนี้
แต่ดูเหมือนว่าการพูดคุยครั้งนั้น จะช่วยผลักดันให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปได้ รวมทั้งได้ช่วยให้เกิดการตกลงในสามหัวข้อ ในการเจรจาของคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ไม่ได้มีการเจรจาเต็มคณะมาสองปี เพราะการระบาดของโควิด
การเจรจารอบใหม่นี้จะเริ่มต้นในวันพฤหัสบดีนี้จนถึงวันเสาร์ ในเวทีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศยืนยันกับเบนาร์นิวส์
พล.ท. ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยกับฝ่าย “ปาร์ตี้-บี” ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่ง “ปาร์ตี้-บี” หมายถึงขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม
เมื่อทางเบนาร์นิวส์ถาม พล.ท. ธิรา ว่าการพูดคุยนอกรอบโดยที่มาเลเซียไม่มีส่วนรับรู้นั้น จะทำให้มีผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยหลักหรือไม่ พล.ท. ธิรา กล่าวว่า “โดยรวมไม่น่ากังวล เพราะเราเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ใครมาช่วยมาดูก็ร่วมได้หมด”
ผู้ประสานการพูดคุยนอกรอบ คือ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามคำกล่าวของแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้
“ไม่เพียงว่ามาเลเซียจะขุ่นใจ ฝ่ายสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็นก็มีความไม่สบายใจเช่นกัน เมื่อรู้ว่ามีการพูดคุยโดยที่ทางแกนนำไม่ได้อนุมัติ” แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ตัวแทนของ Centre for Humanitarian Dialogue ยังไม่ได้ตอบรับการขอความคิดเห็นจากเบนาร์นิวส์
องค์กรนี้ระบุว่า เป็นองค์กรการทูตอิสระที่มีภารกิจในการ “ช่วยป้องกัน ขจัด และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ ด้วยวิถีทางการเจรจาและประสานงานกัน” ตามข้อมูลในเว็บไซต์ องค์กรจะไม่เปิดเผยกิจกรรมที่ทำ และจะแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมลับใด ๆ ในเชิงนโยบายทั่วไปเท่านั้น
เด็กนักเรียนถือลูกโป่งสีขาว ระหว่างประท้วงเพื่อยุติความรุนแรง หลังเหตุการณ์ปะทะล่าสุดระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้ต้องสงสัยแบ่งแยกดินแดน ที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 21 มีนาคม 2565 (เอเอฟพี)
การพูดคุยนอกรอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน ทำให้เกิด 'โรดแมป'
แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญเรื่องราวในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า การพูดคุยนอกรอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว ได้ช่วยให้เกิดการตกลงในสามหัวข้อในการเจรจาของคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขบวนการบีอาร์เอ็น ไปเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ทหารไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยถึง “กรอบการทำงานร่วมกันในสามประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้เป็น โรดแมป ในการพูดคุยหลังได้ข้อยุติร่วมกัน”
“กรอบการทำงานร่วมกันในสามประเด็น... การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่” แหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ระบุถึงข้อตกลงโดยผ่านทางเอกสารข่าว
อย่างไรก็ตาม พล.ท. ธิรา กล่าวว่า องค์กร Humanitarian Dialogue มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการตกลงกันได้
“เขาคงปรับความถี่กัน Humanitarian Dialogue คงสามารถคุยกับฝ่ายปาร์ตี้-บีได้ เขาคงคุยกัน ก็คงออกมาประเด็นว่าเขาโอเค เหมือนเขาประณีประนอม ทางโน้นแนะนำยังนี้ คุณจะไปดื้อทำไม แล้วก็ออกมาเป็นสามข้อที่ว่านั้นไง” พล.ท. ธิรา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แหล่งข่าวในกรุงเทพฯ อีกรายหนึ่งกล่าวว่า เอ็นจีโอจากสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ ได้ช่วยบีอาร์เอ็นเจรจากับทางการไทย และได้ให้คำแนะนำในการเจรจา
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า จะทำให้กรอบการทำงานที่ว่านั้นมีความเป็นทางการได้อย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ต้องมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในการเจรจาครั้งใหม่นี้ ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวคนดังกล่าว
“เมื่อคราวพูดคุยผ่านทางตุรกี สองฝ่ายได้ตกลงในเงื่อนไขนั้น และมีความประสงค์ให้นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา เซ็นเอกสารเพื่อทำให้เป็นแบบฟอร์มข้อตกลง แต่ไม่ต้องการลงนามในเอกสารนั้นร่วมด้วย” แหล่งข่าวคนเดียวกันระบุ
นายราฮิม นูร์ จึง “รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ที่เขาต้องลงนามในเอกสารนั้น ซึ่งทางมาเลเซียไม่ได้รับรู้มาตั้งแต่ต้น” แหล่งข่าวอีกรายระบุ
นายราฮิม นูร์ ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อคำถามเรื่องการพูดคุยนอกรอบดังกล่าวของทั้งสองฝ่าย
เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เข้าตรวจพิสูจน์หลักฐานซากรถ 2 คัน ของครูสอนศาสนาอิสลามที่ถูกเผา ในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 7 กันยายน 2562 (เอเอฟพี)
การลดความรุนแรงในเดือนรอมฎอน
Centre for Humanitarian Dialogue ได้เข้ามามีส่วนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพก่อนหน้านี้ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในปี 2562 ด้วยการจัดการให้มี การริเริ่มเบอร์ลิน (Berlin Initiative) ซึ่งเป็นการปูฐานให้กับกระบวนการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้ขบวนการบีอาร์เอ็นที่มีศักยภาพมากที่สุดในกระบวนการต่อต้านรัฐไทยได้เข้ามาสู่โต๊ะเจรจาโดยตรง
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งมีที่ตั้งในจังหวัดยะลา ได้กล่าวแสดงความเป็นกังวลต่อการแอบติดต่อระหว่างองค์กร CHD กับผู้แทนเจรจาของบีอาร์เอ็น โดยที่ทางสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น (DPP) ไม่ทราบและไม่มีการปรึกษากับระดับปฏิบัติการในพื้นที่
“ข้อเท็จจริงที่ว่าแกนนำบีอาร์เอ็นไม่ได้ปรึกษาเรื่องนี้กับทางกองกำลังในพื้นที่ ก่อนที่จะไปเจรจากับทางฝ่ายไทย อาจจะนำไปสู่การแตกร้าวขององค์กรได้ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คาดหวังได้ว่าจะเกิดเหตุรุนแรงพุ่งสูงอีกระลอก” อาเต็ฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นับตั้งแต่ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก่อความไม่สงบอีกระลอกใหญ่มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา รวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้บาดเจ็บกว่า 13,500 ราย โดยกระบวนการพูดคุยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2556 แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
เมื่อวันจันทร์นี้ บีอาร์เอ็นได้เผยแพร่วิดีโอผ่านทางช่องยูทูบก่อนเทศกาลถือศีลอด โดยได้เรียกร้องให้ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ฉลองเดือนศักดิ์สิทธิ์ที่จะเริ่มในต้นเดือนเมษายนนี้ ด้วยความสงบ
ด้าน พล.ท. ธิรา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ฝ่ายทางการไทยจะเสนอต่อโต๊ะเจรจาว่า จะมีการระงับการปิดล้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นการชั่วคราวในเดือนรอมฎอนปีนี้
พล.ท. ธิรา ระบุว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 รับคำสั่งจากคณะพูดคุยฯ ของไทยว่า จะทำให้รอมฎอนเป็นรอมฎอนสันติจริง ๆ
“ก็เลยเสนอเงื่อนไขขึ้นมาว่า เราจะไม่บังคับการใช้กฎหมายในช่วงรอมฎอน ใน 20 วันแรก และถ้าเขาไม่ก่อเหตุช่วง 10 วันสุดท้าย ก็จะเปิดให้เขาเข้ามาเอี๊ยะติกาฟที่มัสยิดด้วย เราก็ไม่บังคับใช้กฎหมาย เขาจะรับไม่รับเป็นสิทธิของเขา” พล.ท. ธิรา กล่าว
เอี๊ยะติกาฟ เป็นการที่ศาสนิกจะอยู่ที่มัสยิดเพื่ออุทิศตนในการละหมาด และปฏิบัติกิจทางศาสนาข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม ในวันพุธนี้กลับเกิดเหตุการณ์รุนแรงโดยที่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ได้วางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา จนเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บอีก 2 นาย เหตุเกิดในขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวเดินทางอยู่บนถนนสายบาเจาะ-เขื่อนบางลาง เป็นการวางระเบิดครั้งที่สองนับจากเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
“สำหรับเหตุการณ์วันนี้ ก็ยืนยันอย่างที่เคยย้ำมาตลอดว่า โอกาสมี กลุ่มผู้ก่อการร้ายเขาก็ก่อเหตุ เพราะคนเหล่านี้จ้องที่จะก่อเหตุอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องอดทน และเปิดโอกาสให้กลับมาทำดีช่วงรอมฎอน อย่างที่ท่านแม่ทัพได้กล่าว” พ.อ. เกียรติศักดิ์ ณีวงศ์ โฆษก กอ.รมน. ภาคสี่ ส่วนหน้า กล่าวกับเบนาร์นิวส์