นายกฯ พอใจการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2022.01.14
กรุงเทพฯ และปัตตานี
นายกฯ พอใจการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินร์ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เพื่อมีการประชุมคณะรัฐมนตรี
เอเอฟพี

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้เห็นต่างที่ช่วยผลักดันให้เกิด “บรรยากาศการพูดคุยที่ดี เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง” หลังจากที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้พบปะกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการพูดคุยระหว่างสองฝ่ายที่ยกประเด็นการลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงว่าจะทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่น่าพอใจ

“นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพูดคุยในครั้งนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเป็นข้อจำกัดในการเดินทางข้ามพรมแดน แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามติดต่อสื่อสาร สานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จนสามารถผลักดันให้เกิดการพบปะพูดคุยได้จริง รัฐบาลปรารถนาที่จะสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่ดี เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง การใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขตามความคาดหวังของประชาชน อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้" น.ส. รัชดาระบุ

การพูดคุยระหว่าง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับคณะผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2565 นับเป็นการพบตัวกันครั้งแรกหลังจากไม่ได้พบกันเพราะการระบาดของโควิด-19 เป็นเวลาร่วม 2 ปี ก่อนหน้านั้น ผู้แทนทั้งสองฝ่ายพบปะเต็มคณะครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2563 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และหลังจากนั้น เป็นการพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

หลังการพูดคุย อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หรือนายฮีพนี มะเร๊ะ หัวหน้าผู้แทนฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้แถลงข่าวในวันพุธว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกัน

“เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะตั้งคณะกรรมการนี้เมื่อไหร่ แต่ละฝ่ายจะต้องไปแต่งตั้งคนของตน เพื่อเป็นตัวแทนในคณะกรรมการนี้ หวังอย่างยิ่งว่า เราจะตั้งคณะกรรมการนี้ได้ก่อนการเจรจาคราวหน้าในปีนี้” อุสตาซอานัส กล่าวกับสื่อมวลชน

ขณะที่ นายราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในระหว่างการพูดคุยฯ ว่า การหาทางออกของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี

ด้าน พระสิริจริยาลังการ เจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร และรองเจ้าคณะภาค 18 เห็นว่า คณะพูดคุยฯ ควรเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้า และรายละเอียดการพูดคุยให้ผู้นำศาสนา และสาธารณะรับทราบด้วย

“การสูญเสียชีวิตยังไม่เห็นว่าจะจบได้อย่างไร เพราะยังมีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงอยู่ สำหรับพระอาจารย์เห็นว่า ที่รัฐบาลพยายามพัฒนาเรื่องการค้าชายแดน เพื่อเอื้อต่อการค้าการขาย หากทำสำเร็จน่าจะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น และปัญหาความรุนแรงอาจจะหมดไปได้” พระสิริจริยาลังการ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน นางตอฮีเราะ สาและ แม่ค้า ชาวจังหวัดยะลา อายุ 45 ปี เห็นว่าการพูดคุยฯ เป็นแนวทางที่ดี แต่ไม่ได้คาดหวังผลสำเร็จ

“ชาวบ้านก็ไม่ได้หวังอะไรมาก เพราะรู้ดีว่ามันแค่ละครลิง มั่นใจว่าถ้าใช้วิธีการที่ทำอยู่ไม่เกิดผลสำเร็จแน่ คณะพูดคุยชุดนี้เจอกันมา 3 รอบแล้วยังระแวงกันอยู่ แต่ละฝ่ายยังไม่มีความไว้วางใจกัน แล้วจะคุยให้เกิดสันติสุขยังไง” นางตอฮีเราะ กล่าว

“ใครจะทำอะไรก็ทำไป อย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อนพอ เพราะทุกครั้งที่จะมีการพูดคุยฯ จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหนักมาก แต่พูดคุยฯ ดีกว่าไม่ทำอะไร ดีกว่าเอางบประมาณไปซื้ออาวุธสงคราม ซื้อเครื่องบินรบ”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง