นักสิทธิร้องไม่ให้ส่งตัวหญิงข้ามเพศมาเลเซียกลับ ชี้อาจโดนข้อหาหมิ่นกฎหมาย
2021.09.21
กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยในวันอังคารนี้ว่า ได้จับกุมตัวนักธุรกิจหญิงข้ามเพศ ชาวมาเลเซีย ในพื้นที่เขตยานนาวาจริง หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า ทางการมาเลเซียต้องการตัวเพื่อไปพิพากษาในข้อหาหมิ่นศาสนาอิสลาม เนื่องจากแต่งกายด้วยชุดสตรี โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้นำตัว เนอร์ สาจจาด (ชื่อที่เธอใช้เรียกในปัจจุบัน) ขึ้นศาลแล้ว และอาจถูกส่งกลับประเทศ
พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายคามารัซ ซามาน มูฮัมมัด สาจจาด บิน (ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าหน้าที่ไทยใช้อย่างเป็นทางการ) เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง ชาวมาเลเซีย อายุ 36 ปี จริงตามที่เป็นข่าว
“การจับกุมตัวนายคามารัซ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ศปชก.สตม.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่คอนโดมีเนียมแห่งหนึ่ง ซอยนางลิ้นจี่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดยเป็นการจับกุมในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดซึ่งหน้า” พ.ต.อ. กฤษณะ ระบุผ่าน Police TV
ด้าน พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษก และรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า นายคามารัซ ได้รับการประกันตัวแล้ว หลังจากที่ถูกนำตัวขึ้นศาลอาญากรุงเทพใต้ และอาจจะถูกส่งตัวกลับประเทศ
“ได้ส่งศาลปรับ ตอนนี้ คดีเสร็จสิ้นแล้ว โดยขึ้นศาลทันทีหลังวันที่จับตัวหนึ่งวัน ระหว่างนี้เขาก็อยู่ระหว่างสัญญาประกันคือ 30 วัน หลังจากนั้น เราก็จะได้ดำเนินการส่งกลับมาเลเซีย เรื่องสถานะผู้ลี้ภัยถือว่า เราดำเนินตามกฎหมายไทย” พล.ต.ต. อาชยน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในเดือนมกราคม 2564 นายคามารัซ ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มเพศทางเลือก ตามกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลามในประเทศมาเลเซีย จากการแต่งตัวเป็นหญิงไปร่วมพิธีทางศาสนาอิสลาม เมื่อปี 2561 โดยหากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องถูกจำคุก 3 ปี ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นายคามารัซ ถูกออกหมายจับจากคดีดังกล่าว แต่ได้หลบหนีมายังประเทศไทย ก่อนถูกควบคุมตัว
ด้าน นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า “ผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เช่น คามารัซ ไม่ควรถูกส่งตัวกลับประเทศมาเลเซีย เธอสมควรจะถูกส่งตัวไปยังประเทศที่คุ้มครองด้านสิทธิของเธอ ถ้าเธอถูกส่งกลับมาเลเซีย เธอจะถูกดำเนินคดีเพราะการเป็น LGBTQ [กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ]”
ชารีอะห์ คือ กฎหมายที่อิงตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งเป็นการบันทึกคำพูดและการกระทำของศาสดามูฮัมหมัด โดยหลายประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รวมถึงมาเลเซีย ใช้หลักชารีอะห์เป็นกฎหมาย ทำให้การเป็น LGBT ขัดต่อกฎหมาย
ปัญหาที่แท้จริง
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Justice for Sisters ที่เป็นกลุ่มสิทธิคนข้ามเพศ กล่าวว่า การถูกปฏิเสธศักดิ์ศรีของชุมชนชาว LGBTQ เป็นปัญหาที่แท้จริงที่ต้องแก้ไขในมาเลเซีย
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ มาเลเซียได้ส่งสมาชิกชุมชนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBT) จำนวน 1,733 คน ไปยัง “ค่ายฟื้นฟูสมรรถภาพ” ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานพัฒนาศาสนาที่เรียกว่า JAKIM นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวกับรัฐสภา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“รัฐบาลจริงจังกับปัญหา LGBT ในประเทศ เนื่องจากมาเลเซียเป็นประเทศที่ยึดมั่นในศาสนาอิสลาม” นายอิสมาอิลระบุ
“บุคคลใดก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดี... พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการชี้นำและรับรู้ เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง”
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นายสุเรนทรา อานัน ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นขอให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับกฎหมายที่กีดกันทางเพศในมาเลเซีย แต่คำร้องดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตามวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลมาเลเซียได้ตัดสินไม่ลงโทษ ชายอายุ 30 ปีรายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นจำเลยในข้อหาพยายามมีเพศสัมพันธ์กับชายอีกคนหนึ่ง โดยศาลพิพากษาว่า ข้อกฎหมายที่กีดกันทางเพศไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถออกกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้