คนชายแดนรู้สึกปลอดภัยขึ้น หลังรัฐบาลมาเลเซียจัดการปัญหาลักลอบขนคนเข้าเมือง
2023.03.04
วัง เกอเลียน, มาเลเซีย

ชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนใกล้กับสถานที่ที่พบหลุมศพผู้อพยพจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งถูกค้นพบเมื่อ 8 ปีก่อน กล่าวว่า พื้นที่ชายแดนตอนนี้เงียบลงมาก และพวกเขาหวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้นต่อไป
เมื่อทศวรรษที่แล้ว มีคนต่างแดนที่ทุกข์ยากเดินโซมาเคาะประตูบ้านเพื่อขออาหาร ทั้งผู้คนจากต่างเมืองที่มักเดินทางโดยรถยนต์จากระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อมาหาซื้อสินค้าหนีภาษีราคาถูกที่ด่านชายแดนของมาเลเซีย
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในปี 2558 หลังจากทางการมาเลเซียค้นพบศพมากกว่า 100 ศพ – ที่เชื่อว่าเป็นชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ – ในบริเวณสองพื้นที่ป่า ทางตอนเหนือของรัฐปะลิส ใกล้กับค่ายที่มีกรงขังผู้อพยพ
หลังจากนั้น ทางการได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ และปิดด่านพรมแดนปลอดอากรนั้น
ประชาชนที่อาศัยอยู่ใน เฟลครา ลูบุก ซิเรห์ ชุมชนใกล้เคียงของหมู่บ้านวังเกอเลียนซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย 8 กิโลเมตร คือผู้เห็นผลกระทบของการลักลอบขนคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิดด้วยตนเอง
ยาน ฮาชิม คนในชุมชนวัย 65 ปี เล่าถึงการเคลื่อนย้ายผู้อพยพผิดกฎหมายในอดีตบริเวณภูมิภาคนี้
“ผมได้ยินว่าคนพวกนี้ออกมาจากป่าใกล้กับหมู่บ้านของเรา พวกเขาเดินเข้าประเทศผ่านทางชายแดนไทยตามเส้นทางที่รู้กันดีในป่า แล้วจะมีคนมารับพวกเขาขึ้นรถกระบะโฟร์วีลบริเวณปลายทางซึ่งอยู่ในฝั่งมาเลเซีย” ยาน ฮาชิม กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายหลายคนพาเด็กมาด้วย
“พวกเขาสกปรก ใส่เสื้อผ้าขาด ๆ บางคนไม่มีรองเท้าใส่ และคนส่วนใหญ่ดูหิวโหย บางคนเกือบจะเป็นลมเพราะความเหนื่อยล้า” ยาน กล่าว
“มีคนกลุ่มนั้นไม่กี่คนที่พอจะพูดภาษามาเลได้แบบตะกุกตะกัก ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะใช้ภาษามือเพื่อขอน้ำ อาหาร รองเท้าแตะ หรือเสื้อผ้า การที่ได้เห็นพวกเขาในสภาพนั้นทำให้เราใจสลายจริง ๆ และหลังจากการค้นพบหลุมศพ ก็ทำให้เราหวนนึกได้ว่ากลุ่มคนที่เราเจออาจเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความโหดร้ายใน...ค่ายที่ขุดพบตรงภูเขาวังเบอร์มา”
ยานพาหนะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยที่จุดตรวจ ซึ่งเป็นทางผ่านทางเดียวของมาเลเซียที่เชื่อมต่อกับตำบลวังประจัน จังหวัดสตูล ของไทย ที่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ป่าหนาแน่น และอยู่ห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร เขตกักกันและรักษาความปลอดภัย ในวังเกอเลียน ประมาณ 4 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 (อิลิ ชาซวานิ /เบนาร์นิวส์)
ยาน ฮาชิม กล่าวว่ามีผู้อพยพจำนวนไม่มากเดินทางผ่านหมู่บ้านในวันนี้
“ไม่มีใครเคาะประตูบ้านผมเพื่อขออาหารอีกแล้ว” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์ “แบบนี้ก็ดีขึ้นนะ และผมหวังว่าด่านปลอดอากรจะยังคงปิดอยู่แบบนั้น”
จุดผ่านแดนบริเวณดังกล่าวคือ ด่านปลอดอากรที่อนุญาตให้ชาวไทยเดินทางข้ามแดนไปเขตวังเกอเลียนในรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร และอนุญาตให้ชาวมาเลเดินทางข้ามมาที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล ในระยะทางเท่ากัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทาง ประชาชนในพื้นที่บอกว่าชาวไทยหลายคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ใช้ข้อได้เปรียบเรื่องจุดผ่อนปรนการข้ามแดน เพื่อข้ามไปซื้อน้ำมันในฝั่งมาเลเซียและนำน้ำมันข้ามกลับมายังไทย
“ก่อนที่ด่านปลอดอากรจะปิดในปี 2558 เมืองนี้พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศรวมถึงกัวลารลัมเปอร์เพียงเพื่อมาซื้อของใช้ต่าง ๆ เช่น ที่นอน เครื่องใช้ในครัว และเสื้อผ้า เพราะซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลจำนวนไม่น้อยที่ยินดีเดินทางมาไกลขนาดนั้นเพื่อได้ก้าวเท้าเข้าไปในประเทศไทยแบบไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง” พ่อค้าวัย 46 ปีคนหนึ่ง ที่ขอใช้นามสมมุติว่า คามาล เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย
ทุกวันนี้ ประชาชนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวบอกว่าพวกเขารู้สึกปลอดภัย เพราะการลักลอบขนคนเข้าเมืองและการหลั่งไหลมาของนักท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกว่า 525 กิโลเมตร จากกัวลาลัมเปอร์ มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“ตอนนั้นก็ดูมีชีวิตชีวาดี แต่มันก็มาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย” คามาล กล่าว
“อย่าเข้าใจผมผิด ผมไม่มีปัญหาอะไรกับคนไทย พวกเราต่างก็เป็นเหมือนครอบครัว เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่มันน่าตกใจนะที่เกิดการลักลอบขนคนเข้าเมืองทุกทิศทุกทาง และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมี ‘tonto’ (สายของแก๊งลักลอบขนคนเข้าเมือง) อยู่รอบ ๆ ตัวเรา”
คามาลบอกว่า เขาเห็นชายไทยคนหนึ่งขนน้ำมันพืชของมาเลเซียที่เขาซื้อในเขตปลอดอากร ซึ่งมีราคาถูกกว่าฝั่งไทย เพราะรัฐบาลมาเลเซียช่วยอุดหนุนราคา ชายคนนั้นนำน้ำมันพืชไปซ่อนใต้เบาะรถยนต์ ก่อนจะขับรถกลับไปยังฝั่งไทยโดยไม่มีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งคามาลบอกว่า ชายคนดังกล่าวสามารถนำน้ำมันพืชเหล่านั้นไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าเพื่อเอากำไรได้
คามาลบอกอีกว่า เขาไม่ได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพราะกลัวตัวเองและครอบครัวจะตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากแก๊งลักลอบขนคนเข้าเมืองอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
นายไซฟุดดิน นาซูเตน อิสมาอิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย กล่าวว่าเขตปลอดอากรซึ่งเกิดขึ้นในปี 2536 และถูกยกเลิกหลังจากการค้นพบหลุมศพขนาดใหญ่นั้น ไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไป เพราะภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
“ในตอนนี้ กระทรวงของเรามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขตชายแดนก่อน แล้วค่อยขยับไปพูดคุยเรื่องการเปิดเขตปลอดอากรอีกครั้งในอนาคต” นายไซฟุดดินกล่าว
“ผมไม่ได้บอกว่าวังเกอเลียนตกอยู่ใต้ภัยคุกคาม แต่ผมกำลังหมายถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศของเราในภาพรวม” เขากล่าว
ชาวบ้านเดินอยู่หน้าร้านขายของเบ็ดเตล็ด ในเฟลครา ลูบุก ซิเรห์ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 1 มีนาคม 2566 (อิลิ ชาซวานิ /เบนาร์นิวส์)
‘ต่อหน้าต่อตา’
คณะกรรมาธิการของรัฐบาลในปี 2565 รายงานว่าเจ้าหน้าที่มาเลเซียสามารถป้องกันการทรมานและการเสียชีวิตของเหยื่อชาวโรฮิงญาและชาวบังกลาเทศที่พบในหลุมฝังศพเมื่อ 7 ปีก่อน
รายงานดังกล่าวฉบับภาษาอังกฤษของคณะกรรมาธิการไต่สวน (Royal Commission of Inquiry - RCI) ปรากฏบนเว็บไซต์เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะถูกถอนออกไป หลังจากที่ประธานคณะกรรมาธิการกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การไต่สวนเสร็จสิ้นในปี 2562 แต่เป็นความลับและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการเก็บรักษาความลับทางราชการ
เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งที่เกษียณอายุราชการได้ยื่นรายงานในเดือนมกราคม 2558 ว่า ชาวบ้านรายหนึ่งให้เบาะแสเกี่ยวกับกลุ่มค้ามนุษย์ที่ติดต่อเขาและคนอื่น ๆ ให้ช่วยขนคนออกจากพื้นที่
ในวันแรกของการไต่สวนเหตุโศกนาฏกรรม สมาชิกคณะกรรมาธิการ RCI ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ติดตามร่องรอยของมนุษย์และกระแสน้ำสบู่ เพื่อค้นหาจุดตั้งแคมป์ที่มีสิ่งปลูกสร้างทำด้วยไม้ ลักษณะคล้ายป้อมยามและร้านค้า เจ้าหน้าที่ให้การว่าได้ยินเสียงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ค่ายใกล้จุดที่พบหลุมฝังศพ
รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า ค่ายดังกล่าวมีคอก ซึ่งน่าจะถูกใช้แทนกรงเพื่อขังเหยื่อค้ามนุษย์
รถยนต์แล่นไปตามถนนใน เฟลครา ลูบุก ซิเรห์ ประเทศมาเลเซีย พื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยป่าทึบ ที่พวกค้ามนุษย์ใช้ในการขนส่งผู้อพยพผิดกฎหมายที่เดินทางมาจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 (อิลิ ชาซวานิ /เบนาร์นิวส์)
เนื่องจากการค้นพบดังกล่าวเป็นที่สนใจไปทั่วโลก รัฐบาลจึงสั่งเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการปิดเส้นทางที่กลุ่มลักลอบขนคนเข้าเมืองเคยใช้
แหล่งข่าวจากตำรวจนายหนึ่งที่ขอให้เบนาร์นิวส์ปกปิดตัวตน เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ตำหนิเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อปี 2558 ว่าเป็นเพราะการขาดความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานบริเวณด่านพรมแดน การไม่มีรั้วกั้นบริเวณชายแดน และการขาดการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง
“ความโหดร้ายนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แล้วเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่บริเวณนั้น ใกล้กับจุดตั้งค่ายในเขตป่าสงวนแห่งชาติจะไม่ทันได้ยินเสียงเครื่องปั่นไฟที่ใช้ในค่ายตอนกลางคืน เป็นแบบนั้นได้ด้วยหรือ” เขาตั้งคำถาม
“พวกค้ามนุษย์ส่วนใหญ่จะรู้ได้อย่างไรว่า เส้นทางไหนที่สามารถลักลอบเข้าประเทศได้อย่างผิดกฎหมาย และจะรู้ได้อย่างไรว่า ช่วงเวลาตีสามถึงตี่สี่ คือช่วงที่ดีที่สุดในการลักลอบทำการโดยที่ไม่โดนจับได้"
“ใครเป็นคนแจ้งเตือนไปยังแก๊งค้ามนุษย์ หรือแก๊งลักลอบขนคนเข้าเมืองว่า ตอนไหนเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการหรือบุกค้น” เขาถาม
ขณะเดียวกัน โมห์ด มิซาน โมฮัมหมัด อัสลาม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งชาติมาเลเซีย กล่าวว่า การค้ามนุษย์และการลักลอบขนคนเข้าเมืองอาจกลับมาในระดับที่เล็กลง เขาชี้ว่ารั้วกั้นชายแดนที่ไม่แข็งแรง ทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถตัด หรือปีนข้ามมาได้
“ตราบใดที่ระบบยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือยกระดับให้ดีขึ้น ศักยภาพด้านความมั่นคงชายแดนที่ถูกอิทธิพลและถูกละเมิดยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิดระบาดที่มีความต้องการแรงงานข้ามชาติในบางภาคส่วน” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์
“มีผลประโยชน์มากมายจากการกระทำผิดกฎหมายที่กำลังมีอยู่ ไม่ใช่แค่ด้านความมั่นคงและยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจ เพราะเงินหลายพันล้านริงกิตถูกใช้ไปกับการอุดหนุนราคาน้ำมัน น้ำมันพืช และน้ำตาล เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนมาเลเซีย สิ่งเหล่านั้นอาจถูกลักลอบขนออกนอกประเทศ และนำไปขายต่อยังอีกฝั่งหนึ่งของชายแดน”