กองทัพทหารเมียนมา ‘ปั่นป่วน’ ทั้งยังถูกบีบให้ดิ้นรนหาทางรอด
2024.04.30

เพียงสามปีกว่าหลังจากที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 การบริหารอำนาจของรัฐบาลทหารชุดนี้ก็เริ่มอ่อนพลังลงเรื่อย ๆ ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ลุกลามไปทั่วเมียนมา
แผนการปกครองของรัฐบาลที่แรกเริ่มมุ่งหวังที่จะสร้างความแข็งแรงให้กับกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมเขตชายแดนห่างไกล กลับกลายเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของกองทัพทหารเอง หลังจากกองกำลังฝ่ายต่อต้านเริ่มเกาะกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่นและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้งได้ดีขึ้น ซ้ำยังต่อสู้กับกองทัพเมียนมาจนได้รับชัยชนะจากสนามรบหลายต่อหลายครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่ามุมมองทางการเมืองของรัฐบาลในปัจจุบันมืดมนกว่าที่เคยเป็นมา
ซาคารี อาบูซา นักวิเคราะห์จากวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เมืองวอชิงตัน และผู้เขียนบทวิเคราะห์ให้กับเรดิโอฟรีเอเชีย ให้ข้อมูลว่า ผู้นำกองทัพเมียนมากำลัง “ปฏิเสธความเป็นจริงอันโหดร้าย” ว่ารัฐบาลได้บริหารประเทศมาจนถึงจุดตกต่ำ
“เศรษฐกิจได้ล่มสลายลงแล้ว” เขากล่าว “รัฐบาลรบแพ้และเมืองต่าง ๆ ก็ถูกแวดล้อมไปด้วยความรุนแรงที่ยกระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมืองหลวงถูกโดรนโจมตี และเหล่านายพลก็กำลังหวาดระแวงอยู่กับความกดดันที่มีแต่จะรุนแรงมากขึ้นจากรัฐบาลเงาคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และพันธมิตรฝ่ายตรงข้าม ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ และมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกจำนวนมาก”
รัฐบาลทหารสูญเสียเมืองทั่วประเทศจำนวนมากจากการสู้รบให้กับฝ่ายต่อต้าน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ รัฐคะฉิ่นที่มีชายแดนตอนเหนือติดกับประเทศจีน รัฐยะไข่ที่มีชายแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศบังกลาเทศ และรัฐกะเหรี่ยงทางด้านตะวันออก ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย

ผู้สังเกตการณ์กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียเมียนมาว่า กองทัพเมียนมากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังพลอย่างร้ายแรง และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายบังคับให้พลเรือนเข้ามาสมัครเป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน ก็อาจจะเพิ่มกำลังพลใหม่ได้เพียง 50,000 นายเท่านั้น
กองทัพอาระกันยึดครองรัฐในยะไข่ได้สำเร็จถึง 8 จาก 17 เมือง รวมไปถึงเมืองที่มีอาณาเขตติดกับรัฐชินด้วย นับตั้งแต่ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาไปในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
ภายใต้สถานการณ์จนตรอกเช่นนี้ รัฐบาลทหารเดินหน้าเปิดเกณฑ์ทหารยกใหญ่ แม้แต่กับชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยที่ถูกรัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายและปฏิเสธที่จะให้สัญชาติกับพวกเขามาโดยตลอด เพื่อเสริมทัพให้พร้อมปราบปรามกองกำลังของฝ่ายต่อต้าน
มีมี่ วิน เบิร์ด อดีตทหารเกษียณผู้เคยทำงานในเมียนมากล่าวว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่สะท้อนให้เห็นว่ากองกำลังเมียนมากำลังจะแพ้พ่าย
“นับจากนี้ไปอีก 6 เดือน กองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาจะยิ่งเจอศึกหนักยิ่งไปกว่าเดิม” เธอกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย เมียนมา “ยิ่งรัฐบาลออกกฎหมายเกณฑ์ทหาร ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่หลบเลี่ยงได้ยาก นั่นคือ ‘กำลังพลของกองทัพเมียนมามีไม่เพียงพอ’”

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยโครงการเมียนมาของสถาบันสันติภาพสหรัฐฯ ในเมืองวอชิงตันเผยมุมมองว่า การขาดแคลนกำลังพลในการรบเริ่มกลายเป็นข้อวิตกสำคัญที่รัฐบาลทหารกำลังเผชิญ
“การออกกฎหมายควบคุมให้ประชาชนเข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่สามารถเติมช่องโหว่ของทหารจำนวนมากที่รัฐบาลสูญเสียไปได้” เขากล่าว “เมื่อทหารเกณฑ์หน้าใหม่ถูกบังคับให้ออกไปสู้รบ พวกเขามีแนวโน้มที่จะยอมแพ้หรือทิ้งกองกำลังไปในทันทีที่ถึงสนามรบ”
สงครามชิงเมืองเมียวดี
รัฐบาลเผด็จการมีเมืองเมียวดีทางตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง ข้ามพรมแดนจาก อ.แม่สอด ของประเทศไทย ที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นเดิมพันที่สำคัญในการกู้คืนอำนาจ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) สู้รบกับกองทัพของรัฐบาลไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อยึดครองเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าเอาไว้
วันที่ 10 เมษายน กองกำลัง KNLA และพันธมิตรได้เข้ายึดกองพันทหารราบที่ 275 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของรัฐบาลทหารในเขตเมืองเมียวดี ที่ท้ายที่สุดต้องตกไปอยู่ในการควบคุมของฝ่ายต่อต้าน แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้กลับเข้ายึดฐานทัพหลายแห่งในเมืองเมียวดีกลับคืนมาอีกครั้ง
เบิร์ดให้ข้อมูลว่า กลุ่มต่อต้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอย่าง KNLA เริ่มร่วมมือกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหารและฝักใฝ่ฝ่ายรัฐบาลเงา NUG

ยิ่งไปกว่านั้น เธอกล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ยังคงคุกรุ่นต่อเนื่อง กองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งที่ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิง หรือกำลังอยู่ในช่วงเจรจากับรัฐบาลทหาร ได้ “เริ่มขยับเปลี่ยนแปลงจุดยืน”
“เวลานี้ พวกเขาวางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และกำลังจับทางลมต่อการคานอำนาจ” เบิร์ดกล่าว
“ท้ายที่สุดพวกเขาจะสวามิภักดิ์กับผู้ที่กุมชัยชนะ แนวทางการเคลื่อนไหวที่เอนเอียงไปทาง [ฝ่ายต่อต้าน] นั้นส่งสัญญาณบวก ให้เชื่อมั่นได้ว่า จุดแตกหักแห่งการปฏิวัตินั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”
ไซ จี ซิน โซ นักวิจารณ์ด้านการทหารและการเมืองออกความเห็นว่า กองกำลังต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาที่ก่อกำเนิดมาจากการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และกลุ่ม PDF มีแนวโน้มที่จะพุ่งเป้าไปที่การยึดเมืองแถบชายแดนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อควบคุมสายธารการค้า
“องค์กรจำนวนมากมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อยึดครองอำนาจในครั้งนี้” เขาเสริม พร้อมย้ำว่าหัวใจสำคัญในการดำเนินภารกิจนี้ให้สำเร็จคือ การประสานความร่วมมือ แม้ว่าผู้เคลื่อนไหวแต่ละกลุ่มจะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไปก็ตาม “เมื่อการสู้รบเริ่มขึ้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะจับตาดูกันและกัน...ท่ามกลางสายสัมพันธ์ทางเครือข่ายที่ซับซ้อน เราจะเห็นได้ว่าการจับตาดูอย่างระแวดระวังและการควบคุมสถานการณ์ร่วมกันจะช่วยรื้อสร้าง พลวัตทางความขัดแย้งนี้ได้”
ฝ่ายต่อต้านร่วมแรงร่วมใจ
ไกลออกไปทางตอนเหนือ ณ รัฐคะฉิ่น กองกำลังอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ลงมือเปิดฉากโจมตีกองทัพทหารเมียนมาหลายแห่งด้วยกัน ในวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา
ท่ามกลางการสู้รบที่ยาวนานกว่าหนึ่งเดือน กองทัพของรัฐบาลก็เริ่มถอนกำลังออกไปจากฐานทัพในพื้นที่สู้รบนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กองพลของกะเหรี่ยงควบคุมฐานทัพได้มากกว่า 60 แห่ง ตามข้อมูลจาก พันเอก นอว์ บู โฆษกของ KIA
ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มต่อต้าน KIA ยังได้เข้ายึดเมืองลีเกล ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญบริเวณชายแดนระหว่างประเทศเมียนมาและจีน รวมไปถึงพื้นที่เขตชายแดนสำคัญอื่น ๆ และถนนสายหลักหลายสาย
ในขณะเดียวกันที่รัฐฉาน พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) เข้าสู้รบกับกองกำลังทหารของรัฐบาลเผด็จการจนแตกพ่ายไปหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยการโจมตีของพวกเขาควบคุมเมืองและหมู่บ้านสำคัญได้ทั้งหมด 32 แห่ง รวมไปถึงเมืองระดับอำเภอ
เบิร์ดนิยามการโจมตีของพันธมิตรสามภราดรภาพ ที่รู้จักในนามปฏิบัติการ 1027 เนื่องจากเริ่มโจมตีครั้งแรกในวันที่ 27 ตุลาคม ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการปฏิวัติ ซึ่งเธอเชื่อว่าการปะทะครั้งนี้จะ “นำมาซึ่งความสมดุลทางอำนาจ”
“กองกำลังฝ่ายต่อต้านมีพัฒนาการในการประสานความร่วมมือเพื่อลงมือปฏิบัติการ การรวบรวมข่าวกรองก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน” เธอกล่าว
เบิร์ดยังเสริมอีกว่า การข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ได้ช่วยยกระดับการใช้โดรนอย่างเห็นได้ชัด ทำให้นี่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่กองกำลังต่อต้านปรับใช้การโจมตีที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพทัดเทียมกับรัฐบาลทหารที่ใช้กลยุทธ์โจมตีทางอากาศและการใช้ปืนใหญ่
“ถ้าหน่วยข่าวกรองไร้ประสิทธิภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะครอบครองโดรนมากเท่าไหร่ก็ไร้ความหมาย เพราะเป้าหมายไม่คุ้มค่ามากพอที่จะสั่งการโจมตี” เธอวิเคราะห์

ณ รัฐคะยา กองกำลังกะเหรี่ยงแดง (Karenni Army) และพันธมิตรชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีรัฐบาลเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน และเข้ายึดเมืองได้สำเร็จหลายเมืองด้วยกัน รวมไปถึงเมืองแม่แสะที่ติดกับชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย ซึ่งกองกำลังต่อต้านอ้างว่า พวกเขายึดเมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลักของรัฐคะยาได้สำเร็จแล้วถึง 80%
ไซ จี ซิน โซเสริมว่า กองกำลังกะเหรี่ยงแดงหลากหลายกลุ่มแสดงให้เห็นชัดเจนถึงศักยภาพในการประสานงานร่วมมือกับกองกำลังต่อต้านด้วยกันเอง และสามารถใช้ประโยชน์จากความยับยั้งชั่งใจของกองทัพเมียนมาที่พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศ บริเวณชายแดนให้เป็นคุณกับการเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน
นอกจากนี้ กองกำลังต่อต้านแต่ละกลุ่มยังได้จัดตั้งหน่วยงานด้านการบริหารและระบบยุติธรรม รวมถึงสร้างมาตรการด้านระเบียบและกฎหมายเพื่อการปกครองในพื้นที่ของตน
“จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พวกเขาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูบูรณะ การศึกษา และสาธารณสุข” เขาเอ่ย “การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้เป็นประโยชน์กับโครงสร้างทางภูมิภาคที่แตกต่างกัน จำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อย และสายสัมพันธ์ที่แต่ละกลุ่มเชื่อมโยงกันอยู่”
สงครามและการปกครอง
ณ ภูมิภาคสะกาย ทางชายแดนตอนเหนือที่ติดกับประเทศอินเดีย กลุ่ม PDF เปิดศึกสู้รบกับกองกำลังทหารเมียนมาในเมืองกะเล่ กะนี มิ่นกิ้น เตดิม ปีนแลบู้ เกาลิน และติกเยียงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กองกำลังทหารของรัฐบาลสามารถยึดเมืองเกาลิน ซึ่งเป็นเมืองแรกที่กลุ่ม PDF ยึดไปในภูมิภาคสะกายกลับคืนมาได้สำเร็จ และในขณะที่ภูมิภาคสะกายกลายเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้าน ไซ จี ซิน โซ เผยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางกลุ่มต่อต้านในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่แนวคิดเดียวกันกับ NUG ได้กลายเป็นอุปสรรคของการร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลขององคาพยพ
“พวกเขาฆ่าฟันกันเอง จับกุม (กันเอง) และดำเนินการอื่น ๆ (เพียงลำพัง) ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้มีความสับสนปะปนอยู่” เขากล่าว
ไซ จี ซิน โซออกความเห็นว่า กลุ่มต่อต้านควรจะพัฒนาระบบการบริหารต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองขึ้นมานอกเหนือไปจากการสู้รบกับรัฐบาลทหาร
“การต่อสู้ทางการทหารต้องสร้างความเสียหายให้น้อยที่สุดและปกป้องประชาชนให้มากที่สุด ประชาชนจึงจะเข้าใจและยอมรับการปฏิวัติทางการทหาร” เขาเสริม “ถ้ายังสร้างแนวคิดแบบนี้ไม่สำเร็จ สถานการณ์จะไม่ฟื้นฟูไปในทางที่ดีขึ้น”
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็เผยว่า กองทัพเมียนมายังกุมอำนาจส่วนใหญ่ในภูมิภาคส่วนกลางไว้ได้ นั่นคือ ภูมิภาคสะกาย มาเกว และมัณฑเลย์ และเมืองหลักต่าง ๆ ซึ่งเป็นถิ่นหลักของกลุ่มชาติพันธุ์พม่า แต่คำถามสำคัญคือ รัฐบาลทหารจะสามารถหล่อเลี้ยงอำนาจที่ยังมีอยู่ในมือได้อย่างยืนระยะหรือไม่ในสภาวการณ์ที่รัฐบาลไม่มีศักยภาพในการนำการปกครองทั้งในทางทหารและทางการเมือง

เจ้าหน้าที่ทหารเกษียณชาวเมียนมาผู้ไม่ประสงค์ออกนามเนื่องจากมีข้อกังวลด้านความปลอดภัยสะท้อนความเห็นว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการในการปราบปรามเอาชนะสงครามในสนามรบ มาจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย และเหล่านายพลในสังกัดของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย
“ประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการ เช่น การเสริมกำลังพลทางทหาร ก็ยังไม่ถูกจัดการ นอกจากนั้นยังดูเหมือนว่ารัฐบาลขาดการวางแผนเชิงกลยุทธ์และการป้องกันอีกด้วย ผมไม่เคยเห็นการจัดการ (ที่แย่) แบบนี้มาก่อน...ในประวัติศาสตร์กองทัพของเรา”
ท่ามกลางสถานการณ์ที่สิ้นหวังมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับรัฐบาลทหาร อาบูซาสะท้อนว่าผู้นำของกองกำลังทหารเมียนมา “ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ว่าได้สั่งการแต่ส่งที่ไม่เป็นประโยชน์”
“ท่ามกลางความโกลาหล ชัยชนะที่สำคัญที่สุด (สำหรับฝ่ายต่อต้าน) อาจจะแฝงอยู่ในความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นตอนนี้นั่นเอง”