ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้ โนรา

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.12.15
กรุงเทพฯ
ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้ โนรา นางรำโนรา การแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ ที่อำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส ก่อนที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” อย่างเป็นทางการ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศในวันพุธนี้ว่า “โนรา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสิ่งที่ 3 ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ด้านกระทรวงวัฒนธรรมเตรียมจัดแถลงข่าวแสดงความยินดีในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 นี้

ยูเนสโก ได้จัดประชุม คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส โดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทยได้เสนอ “โนรา” ในการขึ้นทะเบียน กระทั่งคณะกรรมการฯ ได้มีผลการพิจารณาในวันพุธนี้

“โนรา ศาสตร์การรำของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้ว”​ ยูเนสโก ประกาศผ่านเว็บไซต์

โนรา นับเป็นวัฒนธรรมของไทยอย่างที่ 3 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ “โขน” ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2561 และ “นวดไทย” ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี 2562 ทั้งนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะได้มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า “โนรา” หรือ “มโนห์รา” เป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ โดยเป็นการละเล่นที่ผสมระหว่างการร้อง การรำ บางครั้งมีการเล่นเป็นเรื่องราว และสะท้อนถึงความเชื่อและพิธีกรรม โดยสันนิษฐานว่า โนรา มีพัฒนาการมาจาก 3 แหล่งคือ

1. พัฒนาการหรือมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอินเดีย โดยพัฒนาการจากการเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่เกิดขึ้นในราชสำนักภาคใต้ และพอจะเชื่อได้ว่า โนรานั้นเป็นนาฏกรรมของราชสำนักและของท้าวพระยามหากษัตริย์ในภาคใต้มาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย เห็นได้จากชื่อสถานที่ ชื่อบุคคลที่เอ่ยถึงในตำนาน และบทไหว้ครูต่าง ๆ

2. เป็นวัฒนธรรมของคนภาคใต้ดั้งเดิม โดยคาดว่า โนรา เกิดขึ้นระหว่างช่วงปี 1958-2051 ในพื้นที่เมืองพัทลุงเดิม หรือ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง โดยเป็นการแสดงที่มีอยู่ในราชสำนักเดิม ด้วยการอ้างถึงตำนานโนราที่เชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองพัทลุงในโบราณกาล

 3. เป็นวัฒนธรรมภาคกลางที่ขยายมาสู่ภาคใต้ โดยเชื่อว่า โนรา เดิมอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและ “ชาตรี” เป็นชื่อเรียกการละเล่นของภาคใต้ที่มีมาก่อนชื่อโนรา ซึ่งชื่อชาตรีเป็นชื่อที่ชาวบางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี) สมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน เรียกการแสดงชนิดนี้

ในปี 2559 มีการขุดค้นทางโบราณคดี ณ พระวิหารหลวง (พระอุโบสถ) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พบชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา มีลายประทับเป็นกรอบวงกลมขนาดเล็ก แสดงรูปบุคคลทำท่ายกแขน กางขา สวมเครื่องประดับศีรษะ จึงมีการสันนิษฐานว่า อาจเป็นภาพการแสดงโนรา ซึ่งทำให้เชื่อว่า การแสดงโนราอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยมากว่า 500 ปี ปัจจุบันกระเบื้องดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ รำโนราในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากในอดีต แต่มีหลายส่วนที่ยังคล้ายคลึงการรำแบบดั้งเดิม เมื่อปี 2552 โนราได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และถูกเสนอชื่อขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก ในปี 2564 นี้

211215-TH-unesco-intangible-heritage-nora-inside.jpg

การรำโนรา รูปแบบหนึ่งของการแสดงพื้นเมืองดั้งเดิมของภาคใต้ ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส วันที่ 11 ธันวาคม 2564 (เอเอฟพี)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง