รมว. ยุติธรรมระบุ อนุมัติพักโทษทักษิณแล้ว
2024.02.13
กรุงเทพฯ

นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการเซ็นอนุมัติให้พักโทษแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การพักโทษของนายทักษิณเป็นไปตามกฎหมาย ขณะที่ น.ส. แพรทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ บุตรสาวของนายทักษิณ ชี้ว่า ข่าวการพักโทษนายทักษิณเป็นข่าวดีของครอบครัว
“ในรายงานการประชุมมี (ชื่อทักษิณ ชินวัตร) ด้วยครับ คณะกรรมการพักโทษก็ได้พิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดี (กรมราชทัณฑ์) เสนอ เนื่องจากเกณฑ์ของท่านอยู่ในกลุ่มเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ท่านโทษ 1 ปี พอครบ 6 เดือนของเกณฑ์ท่าน ก็เป็นอัตโนมัติได้รับการพักโทษแล้ว” นายทวี กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อถูกถามถึงการพักโทษนายทักษิณในวัย 74 ปี
คณะอนุกรรมการพักโทษได้อนุมัติให้ผู้ต้องขัง 930 คนได้พักโทษตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ มาตรา 52 โดยผู้ต้องขังต้องรับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 อันใดอันหนึ่ง และต้องมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี การพักโทษในเกณฑ์ดังกล่าว มีมาตั้งแต่ปี 2546 มีการพักโทษไปแล้ว 2,440 คน
นายทักษิณ ถูกทำรัฐประหาร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน ปี 2549 และตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 แล้วตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ระหว่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังพิจารณาคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งนายทักษิณเป็นจำเลย
หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศหลายปี วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทำให้นายทักษิณถูกตัดสินจำคุก 8 ปี จาก 3 คดี ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิบวันต่อมา นายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณไม่เคยนอนในเรือนจำ เพราะถูกพาตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรกของการเป็นนักโทษ หลังจากเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน “นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ” กรมราชทัณฑ์ระบุ นับตั้งแต่นั้นมา นายทักษิณยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่อง จนเกิดเสียงวิจารณ์และมีการตั้งคำถามถึงอาการป่วย
การพักโทษดังกล่าว นายเศรษฐา กล่าวว่า “คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายปี เป็นบุคคลที่มีประโยชน์กับประเทศชาติ ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ในอดีตก็เป็นเรื่องในอดีต ได้เข้ากระบวนการกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว เราทำตามกฏหมาย คุณทักษิณกลับมาก็รับโทษ เข้าเกณฑ์หมดทุกอย่าง"
ด้าน น.ส. แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะบุตรสาว กล่าวว่า ครอบครัวได้เตรียมพร้อมสำหรับการพ้นโทษของนายทักษิณแล้ว
“นับว่าเป็นข่าวดีของเช้านี้ ก่อนหน้านี้ที่เคยคุยกันว่า ถ้าได้รับการพักโทษก็มีนัดให้คุณหมอไปหาที่บ้านเช็คอาการและคอนเฟิร์มเรื่องต่าง ๆ ว่าโอเคยังไงบ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีว่าจะเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ส่วนตัวเตรียมบ้านทำความสะอาดบ้านเตรียมพร้อม” น.ส. แพทองธาร กล่าว
“หลักเกณฑ์การพักโทษ มีการพิจารณาซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงานหลายองค์กร ไม่ได้เป็นองค์กรใดองค์กรหนึ่ง และผู้ที่มีสิทธิได้รับพักโทษไม่ใช่นายทักษิณเพียงคนเดียว ซึ่งก็ผ่านกระบวนการเหมือนทุก ๆ คนเช่นกัน” น.ส. แพทองธาร กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับกรณีนี้ นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า การพักโทษของนายทักษิณทำให้สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม
“รัฐบาลไทยและกระทรวงยุติธรรมตอกย้ำความสงสัยด้วยการให้นายทักษิณได้รับการพักโทษ เรายืนยันจะคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะนายทักษิณเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ต้องได้รับการคุมขังในเรือนจำไม่ใช่โรงพยาบาล” นายพิชิต กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ระบุว่า อัยการได้ตอบรับคำขออายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อดำเนินคดีตามความผิดมาตรา 112 แล้วหากพ้นโทษจำคุก สื่อมวลชนหลายสำนักเชื่อว่า นายทักษิณ จะได้รับการปล่อยตัว 18 หรือ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ หลังจากถูกคุมตัวตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ด้วยโทษจำคุก 1 ปีจากคดีที่เกี่ยวข้อง 3 คดี
สำหรับคดีที่นายทักษิณ ถูกแจ้งข้อหาในมาตรา 112 สืบเนื่องจาก นายทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อสส. รับฟ้องคดีของนายทักษิณ ในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน