ศาลสั่งคุก 2 ปี ฟ้า-พรหมศร คดีร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรี ผิด ม.112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.12.28
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งคุก 2 ปี ฟ้า-พรหมศร คดีร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรี ผิด ม.112 ฟ้า พรหมศร ขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่ สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลจังหวัดธัญบุรี ตัดสินจำคุกนายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า เป็นเวลา 2 ปี จากความผิดข้อหาฝ่าฝืน ม.112 ในคดีที่เกี่ยวข้องกับร้องเพลง ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ประกันหลังวางเงินประกัน 3 แสนบาท ขณะที่ยกฟ้อง นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues ในคดีเดียวกัน

ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ในเวลาประมาณ 09.32 น. โดยนายพรหมศร และนายไชยอมร มาฟังคำพิพากษาตามนัด ศาลได้สั่งห้ามประชาชนที่มาให้กำลังใจจำเลยเข้าฟังการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่า เป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน แต่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw) สังเกตการณ์

บันทึกคดีของศูนย์ทนายฯ ระบุว่า นายอำนวย อำลอย พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย เพราะเห็นว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯโดยดัดแปลงเนื้อเพลงที่ร้องระหว่างการชุมนุม

พรหมศรให้การรับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี แม้จำเลยจะกระทำความผิดครั้งแรก แต่พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษศูนย์ทนายฯ ระบุ

ตามเพลงที่ไชยอมรร้องนั้น มีลักษณะร้องตามปกติทั่วไป เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมเตรียมการกับพวกเพื่อมีเจตนาทำความผิดมาตรา 112 ไม่ปรากฏว่ามีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำเลยเพียงร้องเพลงและไม่ปรากฏว่าตระเตรียมกับพวกให้ร้องรับว่าอย่างไร พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 2ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินให้ปรับ นายพรหมศร 100 บาท และนายไชยอมร 200 บาทจากความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และอนุญาตให้ประกันตัวนายพรหมศร หลังวางหลักทรัพย์ 3 แสนบาท

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ฟ้า และแอมมี่ ได้เดินทางไปชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสิริชัย นาถึง นักเคลื่อนไหวกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งถูกคุมตัวก่อนหน้านั้น

การชุมนุมในวันดังกล่าวมีการใช้เครื่องเสียง ปราศรัย และร้องเพลง โดยฟ้าได้ร้องเพลง “สดุดีจอมราชาและ ในหลวงของแผ่นดินขณะที่ แอมมี่ ร้องเพลง 1 2 3 4 5 I Love You” มีการดัดแปลงเนื้อร้องบางท่อนให้แตกต่างจากต้นฉบับ

เดือนมีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้ออกหมายเรียกฟ้า และแอมมี่ ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ม.112 จากการชุมนุมดังกล่าว ฟ้าถูกจำคุกระหว่างกระบวนการสอบสวนเป็นเวลา 55 วัน ก่อนที่จะได้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี 

มิถุนายน 2564 อัยการจังหวัดธัญบุรี มีความเห็นส่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 คนในข้อหา ม.112 และข้อหาอื่นๆ ศาลรับฟ้องและมีการสืบพยานในเดือนเมษายน 2565 - พฤศจิกายน 2566 ในชั้นสอบสวน ฟ้า และแอมมี่ได้ให้การปฏิเสธ แต่ในชั้นศาล ฟ้าตัดสินใจรับสารภาพ ขณะที่แอมมี่ ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา กระทั่งมีคำพิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้

ต่อประเด็นดังกล่าว นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการ สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การดำเนินคดีผู้เห็นต่างด้วยมาตรา 112 อย่างต่อเนื่องแม้จะมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล

"ผมเห็นว่าการเพิกเฉยของรัฐบาลเพื่อไทยต่อการดำเนินคดีมาตรา 112 กับเยาวชนผู้เห็นต่างนั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวล มันสะท้อนถึงความขาดหลักการประชาธิปไตยในการจัดการกับความเห็นที่ต่างกัน และอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม การเมืองที่มีสุขภาพดีควรประกอบด้วยการอภิปรายและการแสดงออกที่อิสระ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เปิดเผยและเป็นธรรม” นายวรชาติ ระบุ

ที่ผ่านมา ฟ้าและแอมมี่ เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 กระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,935 คน ในจำนวน 1,262 คดี เป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือ ม.112 อย่างน้อย 285 คดี มีผู้ต้องหา 262 คน มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดี ม.112 อย่างน้อย 7 คน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

ในวันที่ 15 มกราคม 2567 แอมมี่มีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยแอมมี่ตกเป็นจำเลยในข้อหา ม.112 และวางเพลิงเผาทรัพย์ 

ขณะเดียวกันที่เชียงราย ศาลจังหวัดเชียงรายได้พิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ ยกฟ้อง น.ส. สุปรียา ใจแก้ว หรืแแซน อดีตนักกิจกรรมการเมือง และทีมงานพรรคเพื่อไทย ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่ แซนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชนบริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564

ศาลเห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณแผ่นดิน ไม่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายทั้งการจัดการงบประมาณแผ่นดินเป็นหน้าที่รัฐบาล ไม่ใช่พระราชอำนาจ ไม่เป็นการใส่ความ-ให้ร้ายศูนย์ทนายฯ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง