ตำรวจจับ 3 ผู้ต้องสงสัยขายปืนให้ผู้ก่อเหตุที่สยามพารากอน

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.10.05
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
ตำรวจจับ 3 ผู้ต้องสงสัยขายปืนให้ผู้ก่อเหตุที่สยามพารากอน เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นบ้านนายสุวรรณหงษ์ (สงวนนามสกุล) ใน อ.เมือง จ.ยะลา หลังสืบสวนพบหลักฐานเชื่อมโยงว่าได้ขายปืนแบลงค์กันและอุปกรณ์ให้กับเยาวชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียิงคนตาย ที่ห้างพารากอน เจ้าหน้าที่เบลอใบหน้าผู้ต้องหาเพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคล วันที่ 5 ธันวาคม 2566
เจ้าหน้าที่ตำรวจยะลา

เจ้าหน้าที่ตำรวจ เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาในยะลา 2 ราย และในกรุงเทพอีกหนึ่งราย ที่เชื่อว่าเป็นผู้ขายปืนแบลงค์กันดัดแปลงและเครื่องกระสุนให้กับเยาวชนที่ก่อเหตุยิงคนเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จะใช้มาตรการห้ามนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธ รวมถึงแบลงค์กัน งดออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน ตรวจสอบสุขภาพจิตผู้ที่ต้องการซื้อปืน และมาตรการอื่น ๆ หลังเกิดเหตุเขย่าขวัญคนทั้งประเทศ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้

พล.ต.ต. เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผบก.ภ.จว.ยะลา เปิดเผยว่า สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 ราย ในพื้นที่ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อหลังเที่ยงคืนวันพุธ ซึ่งมีหลักฐานพัวพันการรับเงินโอนจากการขายอุปกรณ์ปืนให้กับมือปืนวัย 14 ปีคนดังกล่าว

“พบหลักฐานการโอนเงินในการสั่งซื้ออาวุธปืนกล็อก 19 แบลงค์กัน ดัดแปลงจากนายสุวรรณหงษ์ หลังตรวจค้น พบอุปกรณ์ปืนที่เป็นลำกล้องและที่เป็นโลหะที่ใช้ในการผลิตดัดแปลงอาวุธปืน ได้สอบถามทั้งสองคน ให้การรับสารภาพว่าร่วมกันผลิตอาวุธปืนดัดแปลงแบลงค์กัน เพื่อนำไปจำหน่ายจริง เบื้องต้นเขาแจ้งว่าได้ทำมาประมาณ 1 ปี” พล.ต.ต. เสกสันต์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้ที่ถูกจับกุมตัว คือ นายสุวรรณพงษ์ อายุ 45 ปี และนายอัครวิชญ์ อายุ 22 ปี ทั้งสองเป็นพ่อ-ลูก อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน

“ที่ผ่านมาคดีความมั่นคง เป็นอาวุธปืนจริง ๆ ในการก่อเหตุ อาวุธชนิดนี้ไม่มีการใช้ไปก่อเหตุในพื้นที่และไม่มีการแจ้งเบาะแสใดเข้ามา ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายให้คนในยะลาด้วยหรือไม่ หรือขายให้เฉพาะต่างจังหวัดตามที่เป็นข่าว” พล.ต.ต. เสกสันต์ กล่าวเพิ่มเติม

ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ พบของกลาง คือ ลูกกระสุนแบลงค์กัน 209 นัด, ท่อเหล็กตัดท่อน (ลำกล้องปืน) 33 ท่อน, แมกกาซีนปืน 9 อัน และอุปกรณ์ดัดแปลงอาวุธปืนอื่น ๆ รวม 27 รายการ หลังการจับกุมผู้ต้องหาถูกนำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ยะลา และส่งตัวไปยัง สน.ยานนาวา กรุงเทพฯ โดยทันที  

ส่วนในกรุงเทพ ในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายปิยบุตร อายุ 31 ปีได้ในกรุงเทพ ทั้งสามคนถูกนำตัวไปสอบปากคำที่ สถานีตำรวจยานนาวา และถูกแจ้งข้อหาครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต

เจ้าหน้าที่ระบุว่า นายอัครวิชญ์ ขายแบลงค์กัน ส่วนนายปิยบุตรขายกระสุนให้กันมือปืนที่ก่อเหตุที่สยามาพารกอน

การจับกุมตัวครั้งนี้ สืบเนื่องจากช่วงเย็นวันอังคารที่ผ่านมา เกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนแบลงค์กันดัดแปลง ยิงประชาชนในสยามพารากอน เป็นเหตุให้มีชาวจีน 1 คน และชาวเมียนมา 1 คน เสียชีวิต ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ก่อนที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถเข้าควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

231005-th-police-arrest-suspects-gun-selling-mall-shooting-2.jpg

แมกกาซีนสำหรับบรรจุกระสุนปืนสั้น และอุปกรณ์ดัดแปลงปืนแบลงค์กันวางอยู่บนพื้นในบ้านนายสุวรรณหงษ์ ใน อ.เมือง จ.ยะลา วันที่ 5 ธันวาคม 2566 (เจ้าหน้าที่ตำรวจยะลา)

นายอนุทินกำหนดมาตรการควบคุม

ด้าน นายอนุทิน แถลงผลการประชุมพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการครอบครอง การพกพา และการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน โดยได้มีการเสนอมาตรการระยะสั้น คือ 1. ให้นายทะเบียนอาวุธปืน งดออกใบอนุญาตขายสิ่งเทียมอาวุธปืน 2. ให้ผู้ครอบครองสิ่งเทียมอาวุธปืนมาแสดงและทำบันทึกต่อนายทะเบียน 3. ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน

4. ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้นได้รับการอนุญาตตามระเบียบ เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ อาวุธปืนที่ใช้ต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนาม 5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว 6. กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินโครงการอาวุธปืนสวัสดิการให้ประชาชนทั่วไป ยกเว้น เจ้าพนักงานของรัฐ มีได้คนละ 1 กระบอก ห้ามโอน

7. ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และ 8. ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปราบปรามและปิดเว็บไซต์-เพจ ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืน

มาตรการระยะยาว จะแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 1.ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์เรื่องสุขภาพจิต ประกอบการยื่นคำขอซื้อปืนและเครื่องกระสุน 2. ให้นิยามสิ่งเทียมอาวุธปีนเสียใหม่ ไม่รวมแบลงค์กัน บีบีกัน ที่ดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย 3. ผู้ซื้อสิ่งเทียมอาวุธต้องขออนุญาตกับนายทะเบียน 4. ผู้ครอบครองอาวุธปืน ต้องนำปืนมายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุน และ 5. ให้ผู้มีใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน (ป.4) รายงานตัวทุก 5 หรือ 10 ปี เพื่อพิจารณาต่ออายุ

รายงานของ Small Arms Survey (SAS) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธเบา เปิดเผยในปี 2561 ว่าประเทศไทยมีปืนประมาณ 10.3 ล้านกระบอก หรือ 15 กระบอกต่อประชากร 1 แสนคน มากที่สุดเป็นอันดับ 48 ของโลก แต่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังระบุอีกว่า ในจำนวน 10.3 ล้านกระบอก มีเพียง 6.2 ล้านกระบอก เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย

ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับ 2,000-20,000 บาท โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า ช่วงปี 2559-2562 มีคดีที่เกิดจากอาวุธปืนมีทะเบียน 25,034 คดี และเกิดจากอาวุธปืนไม่มีทะเบียนมากถึง 91,376 คดี 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง