นายกฯ สั่งย้ายต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์ ชั่วคราว เพื่อสะสางปัญหาใน สตช.

นักวิชาการชี้ รัฐต้องเข้มงวดในการตรวจสอบตำรวจ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.20
กรุงเทพฯ
นายกฯ สั่งย้ายต่อศักดิ์-สุรเชษฐ์ ชั่วคราว เพื่อสะสางปัญหาใน สตช. พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ซ้าย) และ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กอดเอวกันหลังจบการแถลงข่าวร่วมกัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567
เอพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งในวันพุธนี้ให้ย้าย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้ามาช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี หลังเกิดกรณีพิพาทภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นักวิชาการชี้ รัฐบาลต้องเข้มงวดในการตรวจสอบตำรวจ

“มีประเด็นเรื่องคดีความทั้งหลาย ซึ่งต้องให้คดีความดำเนินไปได้ด้วยความเป็นธรรมไม่มีการแทรกแซง ท่านทั้งสองก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ว่าเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยสะดวก แล้วก็ดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรมเนี่ย ขอโอนท่านทั้งสองมาช่วยราชการสำนักนายกฯ เป็นเวลาชั่วคราวน่าจะเป็นเวลา 60 วัน ระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” นายเศรษฐา กล่าวแก่สื่อมวลชน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การสั่งย้ายครั้งนี้ไม่ใช่การลงโทษทั้งคู่ โดยระหว่างนี้จะให้ พล.ต.อ. กิตติรัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. รักษาราชการตำแหน่ง ผบ.ตร. แทนไปพลางก่อน และจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นด้วย

“ถ้าเกิดภายใน 60 วันแล้ว ตรวจสอบมาแล้วว่า กระบวนการยุติธรรมสามารถเดินไปได้โดยที่ไม่มีการก้าวก่าย หรือแทรกแซง ก็เดี๋ยวพิจารณาโอนย้ายกลับมาได้” นายกรัฐมนตรี ระบุ

หลังมีคำสั่ง พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า “ท่านนายกฯ ก็บอกแล้วเดี๋ยวมีคำสั่ง ไม่ได้มีทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อน ก็เนื่องจากมันมีเหตุขัดแย้งกันเยอะ เราไม่สามารถบริหารได้ เราเป็นระดับสูง ก็ให้ท่านรักษาการท่านมาดู เพราะไม่ได้มีส่วนได้เสีย คนคิดว่า ผมกับพี่โจ๊ก (พล.ต.อ. สุรเชษฐ์) มีปัญหา ก็บอกตั้งแต่ทีแรกแล้ว เราไม่ได้มีปัญหากันเลย”

ขณะที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า พร้อมถูกตรวจสอบ และพร้อมทำหน้าที่ทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

“ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะเราเป็นข้าราชการประจำ ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาเรา พร้อมอยู่แล้ว ผมมองว่ามันไม่มีเรื่องแพ้เรื่องชนะ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว

240320-th-police-online-gambling-investigation.jpg

พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวร่วมกัน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 (ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

กรณีความขัดแย้งใน สตช. สืบเนื่องจากการที่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค. ในขณะนั้น) ได้นำตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพัก และจับกุมลูกน้องคนสนิทสองคนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยอ้างว่า เป็นการขยายผลการจับกุมเว็บพนันเครือข่าย มินนี่-น.ส. ธันยนันท์ สุจริตชินศรี โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยืนยัน ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนัน

การจับกุมครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ไม่ถึงหนึ่งเดือน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในตัวเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ด้วย แต่ท้ายที่สุด พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลายเป็นผู้ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ไป แม้มีความอาวุโสด้านงานตำรวจน้อยกว่า ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่า การบุกค้นบ้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ อาจเป็นการเมืองภายใน สตช. และมีกระแสว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ขัดแย้งกัน

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ เปิดเผยว่า ได้แยกสำนวนคดีเป็นสองส่วน คือ สำนวนคดีแรกซึ่งมีผู้ต้องหา 61 ราย ได้ส่งฟ้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)

ขณะที่สำนวนคดีที่สอง ผู้ต้องหาห้าราย ซึ่งมีชื่อ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ รวมอยู่ด้วยจะส่งฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สิน เนื่องจากพบความเชื่อมโยงกับเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ มูลค่า 300 ล้านบาท

ด้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังการดำเนินคดีกับตนเอง และต่อมาได้ให้ทนายความไปฟ้องร้อง พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ต่อศาลอาญาข้อหาหมิ่นประมาท และร้องต่อ ป.ป.ช. และสำนักงานนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบว่า การดำเนินคดีของตำรวจต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ขณะเดียวกัน ทนายความของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้ออกมาแถลงข่าวว่า มีนายตำรวจหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเว็บพนัน และตั้งคำถามกับสังคมว่า เหตุใดจึงมีการดำเนินคดีแค่เพียง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และลูกน้องเท่านั้น

การตอบโต้กันผ่านสื่อของคนภายใน สตช. ทำให้ นายกรัฐมนตรีเรียก พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล เข้าพบในเช้าวันพุธ และแม้ว่าทั้งคู่จะยืนยันว่า ไม่มีปัญหาขัดแย้ง แต่นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งย้ายนายตำรวจทั้งคู่มาช่วยราชการชั่วคราวในที่สุด

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนปัญหาภายใน สตช.

“เหตุการณ์นี้เป็นการเมืองภายในวงการตำรวจ ที่แม้จะมีความพยายามจะแก้ไข มีการพยายามปฏิรูปตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ทำให้ปัญหายังส่งต่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ในการตรวจสอบตำรวจนั้น รัฐบาลควรมีความเข้มงวดอย่างมาก เพราะถ้ามีการปล่อยปละละเลย แล้วตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต ก็จะทำให้มีโอกาสที่เครือข่ายที่มีสัมพันธ์กับตำรวจไม่ถูกดำเนินคดี” นายวรชาติ กล่าว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง