ศาลสั่งคุกผู้ชุมนุม กปปส. 16-24 เดือน คดีขวางเลือกตั้งปี 56
2023.03.28
กรุงเทพฯ

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษาจำคุก ผู้ชุมนุม กปปส. 13 คน เป็นเวลา 16 ถึง 24 เดือน จากคดีขัดขวางการรับสมัคร ส.ส. ที่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ในปี 2556 ซึ่งจัดขึ้นหลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเพราะฝ่ายต่อต้านทักษิณจัดประท้วงใหญ่จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ผลักดัน พรบ. นิรโทษกรรมสุดซอย
ในคดีนี้ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายชานนท์ ขันทอง กับพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นผู้ชุมนุม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จากการทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สินราชการ เพื่อขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ในวันที่ 26 ธันวาคม 2556
“จำเลยกับพวกร่วมกันมีและใช้อาวุธ ข่มขู่ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง ขว้างปา ยิงลูกแก้ว หัวน็อต ไม้หน้าสาม ก้อนซีเมนต์ตัวหนอน เข้าใส่เจ้าพนักงาน ถอยรถขนขยะชนประตูเพื่อเปิดทางแล้วปิดล้อมประตูทางเข้าศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ก่อนบุกเข้าไปในภายอาคาร กีฬาเวสน์ 2 ปิดล้อมอาคาร ขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่รับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ” ผู้พิพากษาศาลอาญาคดีดำที่ อ.231/2565 ระบุ
“การกระทำของจำเลยทั้ง 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และ พรป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550… พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้ง 13” ผู้พิพากษา กล่าว
ศาลสรุปว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3-9 และ 11-13 คนละ 18 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 24 เดือน และ จำเลยที่ 10 จำคุก 16 เดือน ทั้งนี้ หลังการอ่านคำพิพากษา ทั้งจำเลย และทนายความจำเลย ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน
การชุมนุมของ กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับการเมืองทุกคน ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งภายหลังสื่อเรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เพราะหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะลบล้างความผิดของ นายทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 จนมีคนเสียชีวิตร่วมร้อยคน
แม้สภาจะไม่พิจารณา พรบ.นิรโทษกรรมฯ ที่เป็นปัญหาแล้ว แต่การชุมนุมของ กปปส. ลุกลามไปถึงการยึดสถานที่ราชการ และขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง ในปี 2556 รวมถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กระทั่งการชุมนุมยุติ เมื่อมีการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ศาลอาญาสั่งจำคุกผู้ชุมนุมกลุ่ม REDEM
ในวันเดียวกัน ผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.1423/2564 ซึ่งมีพนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง นายร่อซีกิน นิยมเดชา, นายชาติชาย แกดำ กับพวกรวม 15 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จากการชุมนุมหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564
“จำเลยกับพวกรวม 50 คน ได้เดินข้ามถนนไปบริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้หนังสติ๊ก ลูกแก้ว อุปกรณ์โลหะ ประทัดยักษ์ ขว้างเข้าใส่ รวมทั้งใช้ท่อนไม้ หิน ขวดโซดา ขวดแก้วใส่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเศษผ้า ขว้างปาใส่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขับติดตามมา 4 คันได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 983,200 บาท และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอีก 4 คันได้รับความเสียหาย ในส่วนของจำเลยที่ 3-15 พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 3-15 กับพวกเป็นความผิดตามฟ้อง ” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า ศาลตัดสินยกฟ้องจำเลยที่ 1-2 แต่ให้จำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 3 ปี และปรับคนละ 33,300 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติและให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง
ส่วนนายชาติชาย (แกดำ) จำเลยที่ 15 นั้นทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่งในสาม รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 15 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 2,200 บาท ศูนย์ทนายฯ ระบุ
กรณีการชุมนุมของ REDEM เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน หนึ่งในแกนนำนักศึกษา
REDEM เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ที่เคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวในเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดี ในนั้นเป็นข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 233 คน
ผช. ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า รัฐปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มราษฎร และแกนนำ กปปส. โดยไม่เท่าเทียมกัน
“กลุ่มราษฎรถูกตัดผมตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ถูกควบคุมตัว ขณะที่แกนนำ กปปส. นั้นเข้าไปในเรือนจำเพียง 2 คืนเท่านั้น (กุมภาพันธ์ 2564) ก่อนจะกลับออกมาในทรงผมที่ยังเหมือนเดิม การปฏิบัติต่อจำเลยในหลายครั้ง อาจถูกวางอยู่บนคำถามว่า จำเลยเป็นใคร มากกว่าทำผิดเรื่องอะไร ในหลายคดีที่เกิดขึ้น” ผช.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน