ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ส.ต.ต. นรวิชญ์ คดีชนหมอกระต่าย 25 เมษายนนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.02.22
กรุงเทพฯ
ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ส.ต.ต. นรวิชญ์ คดีชนหมอกระต่าย 25 เมษายนนี้ ผู้สัญจรด้วยรถจักรยาน ขณะขี่จักรยานข้ามทางม้าลาย ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2564
เอเอฟพี

ศาลอาญาได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษา ในวันที่ 25 เมษายน 2565 คดีที่ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชน พญ. วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 หลังจากอัยการได้ฟ้อง ส.ต.ต. นรวิชญ์ 9 ข้อหา ซึ่งเจ้าตัวรับสารภาพ โดยศาลได้ให้ประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5 หมื่นบาท

นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา ได้นัด ส.ต.ต. นรวิชญ์ ฟังการนัดฟ้องในช่วงเช้า และแถลงข่าวที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก

“พนักงานอัยการได้นัดผู้ต้องหามาฟังคำสั่ง และได้พิจารณาแล้ว พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ผู้ต้องหา ทุกข้อหาที่พนักงานสอบสวนได้ตั้งไว้ ทั้ง 9 ข้อหา นอกจากมีคำสั่งฟ้องแล้ว พนักงานอัยการยังมีคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ ที่พนักงานสอบสวนเขายึดไว้เป็นของกลางด้วย และมีคำขอขอให้ศาลเพิกถอนหรือพักใช้ ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ต้องหาเสียด้วยตามกฎหมาย” นายอิทธิพร กล่าว

คดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ส.ต.ต.นรวิชญ์ เป็นจำเลย ใน 9 ข้อหาประกอบด้วย 1. นำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาใช้ 2. ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี 3. ใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย 4. นำรถไม่สมบูรณ์มาขับ(ไม่มีกระจกมองข้าง)

5. ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย 6. ขับรถจักรยานยนต์เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 7. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น 8. ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง และ 9. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งหากศาลพิพากษาว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ มีความผิดจริงอาจถูกลงโทษสูงสุดถึง จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

หลังจากนั้น ในช่วงบ่าย พนักงานอัยการได้นำตัว ส.ต.ต. นรวิชญ์ ไปส่งฟ้องที่ศาลอาญา ซึ่ง ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้ให้การรับสารภาพทุกข้อกล่าว และไม่ขอต่อสู้คดี ทำให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 เมษายน 2565 และได้ปล่อยตัวชั่วคราว ส.ต.ต. นรวิชญ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 5 หมื่นบาท

ทั้งนี้ ส.ต.ต. นรวิชญ์ และทนายความ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนที่มารอทำข่าว ที่ศาลอาญา และสำนักงานอัยการสูงสุด

ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน ครอบครัวของ พญ. วราลัคน์ ได้เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 72 ล้านบาท จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ ส.ต.ต. นรวิชญ์ และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเดียวกันจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงร้องให้ศาลปกครองสั่งให้ กรุงเทพฯ ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย ซึ่งศาลแพ่งนัดพูดคุยประเด็นข้อพิพาทครั้งแรก ในวันที่ 20 เมษายน 2565

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากช่วงบ่ายของ วันที่ 21 มกราคม 2565 ส.ต.ต. นรวิชญ์ ได้ขี่จักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชน พญ. วราลัคน์ ขณะกำลังข้ามทางม้าลาย หน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เขตพญาไท จนทำให้ร่างของ พญ. วราลัคน์ กระเด็นไปไกลกว่า 10 เมตร และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวใช้ความเร็วระหว่าง 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะที่ชน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้อง คดีของ ส.ต.ต. นรวิชญ์ ต่อพนักงานอัยการใน 9 ข้อหา และล่าสุดอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลในวันนี้

หลังเกิดเหตุ กรุงเทพฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่มาปรับปรุงทางม้าลายบริเวณดังกล่าว ด้วยการทาสีแดงรอบทางม้าลาย และปรับการควบคุมความเร็วจากเดิม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงให้เหลือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงที่สุดในเอเชีย ด้วยสถิติการเสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

ในทุกปี ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตบนท้องถนนถึงกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 WHO ยังประเมินว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยเฉพาะปี 2562 ปีเดียวมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

“มันเป็นเรื่องของความสูญเสียที่ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้ ไม่ว่าจำนวนเงินจะมากจะน้อย ทดแทนกันไม่ได้ อันนี้เป็นการคิดในเรื่องของการสูญเสียเบื้องต้นเท่านั้นเอง ส่วนการเยียวยาภาวะจิตใจ มันประเมินกันไม่ได้” นพ. อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดาของ พญ. วราลัคน์ กล่าวหลังจากยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง