ศาลรธน. เตรียมหารือคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ส.ค.นี้

คุณวุฒิ บุญฤกษ์
2023.07.27
เชียงใหม่
ศาลรธน. เตรียมหารือคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ส.ค.นี้ ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถือภาพของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระหว่างการประท้วง ในกรุงเทพฯ วันที่ 27 กรกฎาคม 2566
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันพฤหัสบดีนี้ ว่าการประชุมรัฐสภาวาระการสรรหานายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เบื้องต้นทราบว่า ศาลจะพิจารณาในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องให้ศาล วินิจฉัยการประชุมรัฐสภาเมื่อ 19 กรกฎาคม ปฏิเสธการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุในแถลงการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งว่าจะพิจารณาในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ และอาจจะให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีรอบที่สามได้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นี้

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกวุฒิสภาปฏิเสธการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่สอง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในปมมติสภาเสนอชื่อนายพิธาครั้งที่ 2 เป็นการยื่นญัตติซ้ำ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญอาจเลือกที่จะไม่รับพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะถือว่าเป็นการยืนยันการตัดสินใจของรัฐสภาในครั้งแรก ในขณะเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เลื่อนการประชุมรัฐสภาที่ควรจะเกิดขึ้นในวันนี้ (27 กรกฎาคม 2566) ออกไปก่อน โดยระบุว่า การตัดสินใจนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีการดำเนินการที่รวดเร็ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจ

“การประชุมรัฐสภาต้องเลื่อนจากวันที่ 27 กรกฎาคม ออกไป เนื่องจากเราต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ศาลได้รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และจะพิจารณาเบื้องต้น ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ แล้วถ้ารับคำร้อง จะพิจารณาอย่างไร รวมทั้งจะสั่งให้ชะลอการพิจารณาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปอย่างไร” นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ

สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่รับพิจารณาในประเด็นนี้

“ท่าทีของศาลจะเป็นหนึ่งในตัวกำหนดว่าชนชั้นนำไทย อยากให้สถานการณ์ทางการเมืองออกมาเป็นแบบไหน” ดร. เอียชา ระบุ

ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเสนอเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นักวิชาการ และ สส. 17 คำร้อง เกี่ยวกับมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นญัตติซ้ำว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้ชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ในขณะที่ประชาชนกำลังจับตามองการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ การชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ยืนยันถึงความสำคัญของการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาถึง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเมืองในประเทศไทย

เมื่อวานนี้ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ เปิดเผยว่าบิดาของตนเองกำลังจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566

ทั้งนี้ การประกาศกลับประเทศครั้งแรกในรอบ 15 ปี ของนายทักษิณ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของการจัดตั้งรัฐบาล ที่นำโดยพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย กับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นายพิธา ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. 324 เสียง ยังไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเสียงสนับสนุนไม่ถึง 375 เสียง ซึ่งเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา 749 เสียง

เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้เพื่อไทย โดยเพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค ในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่า ไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง