สส. ยังโหวตไว้ใจ แพทองธาร แม้ฝ่ายค้านโจมตีประเด็นสิทธิ-แก้ปัญหาชายแดนใต้
2025.03.26
กรุงเทพฯ
สภาผู้แทนราษฎรยังลงคะแนนเสียงไว้วางใจให้ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 24-25 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมาจะถูก สส. พรรคฝ่ายค้านโจมตีในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน และการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้
“มติไม่เห็นด้วย 319 เสียง (ไว้วางใจ) เห็นด้วย 162 เสียง (ไม่ไว้วางใจ) งดออกเสียง 7 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 488 คน ถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เป็นอันว่าที่ประชุม ไว้วางใจ น.ส. แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร สรุปผลการลงคะแนนของ สส.
ในการเริ่มต้นอภิปรายวันแรก นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้กล่าวเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส. แพทองธาร โดย ปชน. มีการตั้งโจทย์การอภิปรายครั้งนี้ว่า “ดีลแลกประเทศ”
ดีลแลกประเทศ ในความหมายของ ปชน. หมายถึงการที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตกลงกับฝ่ายอำนาจเดิม คือ คณะรัฐประหาร ปี 2557 เพื่อให้ พท. สามารถเป็นรัฐบาล และนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศร่วม 16 ปี สามารถกลับบ้านได้ โดย พท. ยอมจับมือร่วมรัฐบาลกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และอดีตพรรครัฐบาลอื่นๆ
“พฤติกรรมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาจนถึงสมัยของ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้หลายคนวิจารณ์ว่ารัฐบาลเพื่อไทยยอมเป็นนั่งร้าน ให้กลุ่มอำนาจเดิมเพื่อกลับสู่อำนาจ แต่เวลาพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง อันที่จริง รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้เป็นนั่งร้านให้กับใคร เพราะพวกเขาได้หลอมรววมเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดแล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค. 2567 น.ส. แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกจาก สส. เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 หลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเดือนเดียวกัน ขณะที่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นายทักษิณ ก็มักมีบทบาท และเสนอแนวทางการทำงานให้กับรัฐบาลต่อสาธารณะจนมักถูกมองว่าเป็น “นายกฯตัวจริง”
หลังได้เป็นรัฐบาล หลายประเด็นที่ พท. เคยสัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ไม่ได้ถูกปฏิบัติจริง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมถึงยังไม่ได้แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอยู่
“ท่านนายกฯ เคยกล่าวเอาไว้ว่า ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล จะขอความเมตตาจากศาลที่มีน้อง ๆ ไปติดคุก ขอให้ศาลปล่อยตัว และพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้กฎหมาย ม. 112 เพราะว่าถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง
แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกับกลายเป็นถูกทิ้งไว้นอกกระดาน เกิดดีลล้มกระดาน ประชาชนที่หวังดีต่อประเทศเหล่านี้ถูกจับ ถูกดำเนินคดี ถูกซ้อมทรมาน บาดเจ็บ เสียชีวิตไปตั้งเท่าไหร่ บางคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกอุ้มไปที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร” น.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ ปชน. กล่าว
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2568 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 1,962 คน จาก 1,315 คดี ในนั้นเป็น คดี ม. 112 อย่างน้อย 278 คน จาก 310 คดี
ขณะเดียวกัน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 45 คน ในนั้นเป็นคดี ม. 112 จำนวน 29 คน โดยมีผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 27 คน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอ้างว่า ได้ทำงานอย่างเต็มที่ และสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมก็เป็นที่ประจักษ์ โดยหยิบยกดัชนีขององค์กรสิทธิมนุษยชนสากลมาตอบโต้การอภิปรายโจมตีการทำงานของรัฐบาล
“World Justice Project ได้วัดปี 66 เราอยู่ในอันดับที่ 82 แต่มาปี 67 เรามาอยู่อันดับที่ 78 นี่หลักนิติธรรมก็ดีขึ้น การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เคยอยู่อันดับที่ 64 ขึ้นมาอันดับที่ 58 การบังคับใช้กฎหมายยุติธรรม เสมอภาค มีประสิทธิ จากเดิมอยู่อันดับที่ 68 ขึ้นมาอันดับที่ 63” พ.ต.อ. ทวี กล่าวต่อที่ประชุม
พูดคุยสันติสุขฯ ไม่คืบ กระตุ้นความรุนแรงชายแดนใต้
ขณะเดียวกัน นายรอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ ปชน. ได้ชี้ว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไม่ได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะไม่มีความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ปัญหาไฟใต้ เริ่มต้นในรัฐบาลของพ่อท่าน ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ยืดเยื้อยาวนานกระทั่งถึงรุ่นลูก รัฐบาลชุดนี้มีบางอย่างผิดพลาดแน่ๆ จึงทำให้สถานการณ์กระตุกขึ้นแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา นักวิชาการหลายท่านบอกว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณะ มีส่วนอย่างยิ่งให้ตัวแสดงต่าง ๆ ปรับตัว รวมทั้งประชาชน รัฐบาลด้วย ขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย” นายรอมฎอน กล่าว
นายรอมฎอน ยกข้อมูลของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ที่ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 23,012 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,691 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย และชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการพูดคุยฯ กราฟเหตุรุนแรงในชายแดนใต้ลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเชิดหัวขึ้นอีกครั้งในปี 2563 และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกในปี 2567 โดยมีเหตุรุนแรง 632 ครั้ง และปี 2568 มีเหตุแล้ว 84 ครั้ง
“2-3 สัปดาห์ก่อน การบุกโจมตีที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก สร้างข่าวอันตื่นตระหนกให้เกิดขึ้น ยังไม่รวมว่า มีการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเพิ่มมากขึ้น การสูญเสียก็เพิ่มมากขึ้น ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มไม่รู้สึกปลอดภัยขึ้น บรรยากาศของเสรีภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจำกัดอยู่แล้วก็ยิ่งจำกัด ดูเหมือนรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีจะไม่ใส่ใจเท่าไหร่ บรรยากาศเหล่านี้ทำให้โอกาสที่จะใช้วิธีการต่อรอง ต่อสู้ด้วยสันติวิธีน้อยลง” นายรอมฎอน กล่าวเพิ่มเติม
สส. บัญชีรายชื่อ ปชน. ชี้ว่า ตลอด 21 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกว่า 5 หมื่นนายถูกส่งลงไปในพื้นที่ และยังคงใช้กฎหมายพิเศษเพื่อจัดการกับสถานการณ์
ต่อประเด็นที่รัฐบาลถูกอภิปราย น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ควรเดินหน้ากระบวนการสันติภาพโดยเร็ว
“เรื่องชายแดนใต้ถูกส่งต่อมาทุกรัฐบาล การไม่ยอมแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ อาจมีส่วนทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลควรรีบตั้งคณะพูดคุยฯ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และปรึกษาหารือคนในพื้นที่ สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
แพทองธาร ยืนยัน ทำงานเต็มที่ต่อไป
น.ส. แพทองธาร ยืนยันว่า ตนเองจะไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะทุ่มเททำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีของประชาชนทุกคน
“ตลอดการอภิปราย ท่านสมาชิกก็ได้มีการเรียกร้องให้ดิฉันลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสิทธิของทุกท่านที่ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ ทุกท่านทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกท่านทำไม่ได้คือ ขอให้ฉันลาออกจากความเป็นลูกสาว ดิฉันคือลูกสาวของท่าน ดร. ทักษิณ ชินวัตร พูดคำนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ขอให้ทุกท่านดูที่ความสามารถของดิฉัน และพร้อมที่จะทำงานให้กับคนทุกกลุ่มทุกคนทุกจังหวัด ทำงานอย่างเต็มที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี” น.ส. แพทองธาร กล่าว
ขณะเดียวกัน นายณัฐพงษ์ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวต่อสื่อมวลชนหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ต่อไป โดยระบุว่า ปชน. จะทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างเข้มข้น เพื่อดำเนินการกับนายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่เห็นว่า รัฐบาลดำเนินการผิดพลาด
“เรากำลังดูช่องทางที่เราคิดว่าถูกต้องตรงไปตรงมา ไม่ใช้กลไกที่เราไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องดูว่า รัฐบาลชุดนี้ที่ไม่มีความชอบธรรมมีช่องทางใดที่เราสามารถดำเนินการต่อได้บ้าง สิ่งที่พวกเราไม่อยากเห็นก็คือการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของพวกเรา จะนำมาสู่การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อกลั่นแกล้งปิดปากต่างๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นก็คงไม่ได้ยับยั้งให้เราทำหน้าที่ต่อไป” นายณัฐพงษ์ ระบุ
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน