กกต. สั่ง 47 หน่วยใน 16 จังหวัด นับคะแนนใหม่
2023.06.08
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำสั่งในวันพฤหัสบดีนี้ ให้นับคะแนนการเลือกตั้งใหม่ 47 หน่วย ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ หลังพบหลักฐานว่า การนับคะแนนในหน่วยนั้น ๆ ไม่ถูกต้อง ขณะที่ภาคประชาชนบุกยื่นหนังสือถึงกกต. ให้เร่งรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ไปยังหน่วยเลือกตั้งที่พบปัญหา
“คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อแล้ว ปรากฏว่า การนับคะแนนไม่ถูกต้อง จึงได้มีคำสั่งให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ จำนวน 16 จังหวัด 47 หน่วยเลือกตั้ง” จดหมายข่าว กกต. ระบุ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมี 77 จังหวัด 9.5 หมื่นหน่วยเลือกตั้ง โดยจังหวัดที่ถูกให้นับคะแนนใหม่ประกอบด้วย ลพบุรี 8 หน่วย ประจวบคีรีขันธ์ 7 หน่วย กรุงเทพฯ และตรัง 6 หน่วย ชุมพร 3 หน่วย ชลบุรี, หนองคาย, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, พังงา และสระบุรี 2 หน่วย ฉะเชิงเทรา, สุโขทัย, เพชรบุรี, นครนายก และแพร่ 1 หน่วย อย่างไรก็ตาม กกต. ไม่ได้ระบุว่า หน่วยที่ต้องนับคะแนนใหม่มีคะแนนทั้งหมดกี่คะแนน
โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงเหตุผลของการนับคะแนนใหม่ว่า “คือเคสที่คนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง กับ (จำนวน) บัตรตรงกัน แต่การอ่าน ขาน ขีด คะแนนไม่ตรงกับ 2 อย่างเนี่ย นี่คือทำให้ต้องมีการนับคะแนนใหม่ จะนับภายในอาทิตย์นี้จะเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อนำมาคำนวณ ส.ส.”
ต่อเรื่องดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ชี้ว่า แม้จะมีคำสั่งนับคะแนนใหม่ก็จะไม่มีผลกระทบกับระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากการประกาศผลยังยึดเงื่อนไขเดิม
“คงไม่กระทบ (การจัดตั้งรัฐบาล) เพราะว่า กกต. ต้องประกาศผล ภายในไม่เกิน 60 วัน ซึ่งคือวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 อยู่แล้ว ส่วนจะเร็วขึ้น 2 สัปดาห์อย่างที่พูดกันหรือไม่นั้น ไม่ทราบ” นายวิษณุ กล่าว
ด้าน พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคที่ได้คะแนนสูงที่สุดจากการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลกับการนับคะแนนใหม่
“เรื่องนี้จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องที่น่าจะมีการตรวจสอบกันเร็ว ๆ หน่อย เพราะนี่มันก็ทิ้งเวลามาพอสมควร ในมุมของก้าวไกล ไม่กังวลใจ เพราะมีภาคประชาชนมีส่วนร่วมเยอะ เพราะฉะนั้นมีคนที่ถ่ายรูปไว้ทั้งหมด ประชาชนก็จะตรวจสอบคู่ขนาน และเราไม่มีเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงอยู่แล้ว ถ้ามีเลือกตั้งใหม่พรรคก้าวไกลก็พร้อมอยู่แล้วครับ” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวกับสื่อมวลชนในวันพฤหัสบดี
ต่อการนับคะแนนใหม่ น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่าเป็นการสะท้อนถึงความเพิกเฉยในการรับผิดชอบ และความไม่พร้อมของ กกต.
“หลายครั้ง กกต. แก้ตัวทีหลัง มากกว่าการเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหา ทั้งที่ในความเป็นจริง กกต. มีระยะเวลาในการเตรียมการ และมีบทเรียนจากครั้งที่แล้วมากพอสมควร เหตุการณ์ที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นหลังการนับคะแนนใหม่ในวันอาทิตย์นี้ คือ จำนวนคะแนนกับผู้มาใช้สิทธิ์ก็ยังจะไม่ตรงกัน พูดให้ถึงที่สุด กกต.ชุดนี้ต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่องค์กรอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความคาดหวังของประชาชน” น.ส. นวพร กล่าว
ในวันเดียวกัน ประชาชนในนามกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย หลายสิบคน เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ให้รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทันที และไม่รับพิจารณา กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาด้วย
“ความล่าช้าในการรับรองผลการเลือกตั้งจะก่อความเสียหายให้กับประชาชน โดยที่ผ่านมาหนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง กกต. ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ แต่พยายามนำเรื่องของนักร้องเรียนสกัดกั้นกระบวนการประชาธิปไตยและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มาพิจารณาแทน ดังนั้นภายในวัน 20 มิถุนายน นี้ กกต. ควรจะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง” น.ส. ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าว
ปัจจุบัน นับเป็นเวลา 25 วันแล้ว ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งตามกฎหมาย กกต. มีเวลา 60 วัน ในการรับรอง ส.ส. หลังจากนั้นภายใน 15 วัน สภาผู้แทนราษฎรต้องมีการเปิดประชุม เพื่อเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล และการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาในกฎหมาย ซึ่งระหว่างนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรีเดิมจะทำหน้าที่รักษาการไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
ขณะกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ให้พิจารณากรณีที่นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชนว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ กกต. ยืนยันว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และตรวจสอบพยานหลักฐาน ยังไม่มีการลงมติว่าจะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่
“กกต. ทำงานตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด สิ่งที่เราทำก็คือ ต้องเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปด้วยสุจริตและเที่ยงธรรม ทยอยประกาศไม่ได้ ต้องประกาศให้ได้อย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ ของแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้อง 380 จาก 400 คน” นายแสวง ชี้แจงต่อสื่อมวลชน
ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้ง กกต. ได้ประกาศผลคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการรระบุว่า ก้าวไกลได้ ส.ส. 113 คน เพื่อไทย 112 คน ภูมิใจไทย 67 คน พลังประชารัฐ 39 คน รวมไทยสร้างชาติ 23 คน ประชาธิปัตย์ 22 คน และพรรคอื่น ๆ ลดหลั่นตามลงไป ขณะที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเมื่อคำนวณแล้ว ก้าวไกลจะได้ 35 คน เพื่อไทยได้ 27 คน รวมไทยสร้างชาติ 11 คน ภูมิใจไทย 2 คน และพลังประชารัฐ 1 คน
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน