ศาลฯ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 99 ผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.03.29
กรุงเทพฯ
ศาลฯ อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 99 ผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยชูสามนิ้ว ขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ระหว่างชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำประท้วงที่ถูกจับกุม และการยกเลิก ม.112 ในกรุงเทพฯ วันที่ 28 มีนาคม 2564
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้นำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการขอคืนพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล วานนี้ ไปขอฝากขังต่อศาลแขวงดุสิต แต่ทางศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 20,000 บาท

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวถึงปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ได้จับกุมตัวกลุ่มผู้ประท้วงสองชุด รวม 99 ราย

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า มีผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในช่วงเช้ารวม 67 คน ซึ่งมีเยาวชนจำนวน 6 คน และพระภิกษุที่ต่อมาถูกนำตัวไปสึกอีก 2 รูป ถูกตั้งข้อหา ชุมนุมมั่วสุมผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกอบ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ชุมนุมมั่วสุมเสี่ยงต่อการควบคุมโรค นอกจากนี้ โฆษกฯ บช.น. ระบุว่า การตรวจค้น เจ้าหน้าที่ยังพบกัญชาแท่งจำนวนหนึ่ง อุปกรณ์เซ็กซ์ทอย และถุงยางอนามัย พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานพิสูจน์ตัวผู้กระทำผิดดำเนินคดีตามกฎหมายอื่นต่อไป และถูกนำตัวไปควบคุมตัวที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1

หลังจากนั้น ในช่วงเย็นก็มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “ทะลุฟ้า2” มารวมตัวกันบริเวณที่เดิม โดยประกาศจะนอนค้างคืนบริเวณนั้นตลอดไป ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจับกุมรอบที่สอง ได้อีก 32 คน ซึ่งถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมมีผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไว้ทั้งหมด 99 คน ซึ่งทุกคนถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดี

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แยกกลุ่มผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชนจำนวน 6 ราย ออกจากคนอื่น ๆ โดยในจำนวนนี้ 5 ราย เป็นเยาวชนอายุ 15 ปี และ 1 ราย อายุ 17 ปี (หนึ่งรายเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองมาแล้วจากกิจกรรมหน้า สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ส่วนที่เหลือยังไม่เคยถูกดำเนินคดีใดมาก่อน) 

“เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย โดยมีการใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุม มีการชุมนุมในหลายพื้นที่ ละเมิดกฎหมายหลายมาตรา มีการลักทรัพย์สิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของราชการ ปิดเส้นทางเข้าออกของข้าราชการ และประชาชนได้รับความเดือดร้อน” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว

ต่อมา เฟซบุ๊ก UNME of Anarchy โพสต์ข้อความ ระบุว่าผู้ชุมนุมจำนวน 32 คน ถูกแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (จัดกิจกรรม/ชุมนุม), พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.รักษาความสะอาด, และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

ผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ได้ที่ปักหลักชุมนุมพักค้างคืน ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 โดยมีข้อเรียกร้อง ให้ปล่อยแกนนำราษฎรและแนวร่วมที่ถูกจับกุม, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ยกเลิกมาตรา 112 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ต้องลาออก

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า และหมู่บ้านทะลุฟ้า ชี้แจงการจัดกิจกรรมดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่มพีมูฟและบางกลอย เพราะต้องการเชื่อมผสานทัศนคติที่ก้าวหน้าทางการเมืองร่วมกัน ถึงแม้ว่าวันนี้ที่ผู้ชุมนุม กลุ่มพีมูฟ และบางกลอย จะได้กลับบ้านไปแล้ว แต่ยังคงมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับ ชาวบ้านบางกลอย ในหมู่บ้านทะลุฟ้าอยู่เรื่อย ๆ

ด้าน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ ประณามการเข้าขอคืนพื้นที่ว่า เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของมนุษยชน เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธและสันติวิธี ซึ่งเป็นไปตามสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย

“จากการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เมื่อเช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. 64 ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบเรื่อยมา และล่าสุด ในช่วงเย็นในวันเดียวกัน ซึ่งมีการจับกุมและคุมตัวผู้ชุมนุม ในการสลายการชุมนุมเมื่อเช้าตรู่ วันที่ 28 มี.ค.64 จำนวน 67 ราย และในช่วงเย็นในวันเดียวกันมีการจับกุมเพิ่มอีก 32 ราย รวมการสลายการชุมนุมโดยสงบในวันเดียว ผู้ชุมนุมถูกจับกุมเป็นจำนวน 99 ราย ซึ่งแต่ละรายนั้น ล้วนเป็นผู้มีสิทธิในการชุมนุมภายใต้สิทธิและเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ... และเรียกร้องการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศต่อรัฐ” แถลงการณ์ ระบุ

“ขอประณามรัฐบาลที่นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม การไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายบุกสลายการชุมนุม จับกุมโดยไม่มีหมายจับ ค้นข้าวของของผู้ชุมนุม โดยไม่มีหมายค้น เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 28 มี.ค. 64 และการสลายการชุมนุมเมื่อเย็นในวันเดียวกัน โดยมีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งที่มีการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการกระทำที่เกินแก่อำนาจ ไม่เคารพกฎหมาย และกระทำไปไม่เป็นไปตามครรลองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย” แถลงการณ์ระบุ

ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับการขอคืนพื้นที่ว่า ที่ผ่านมาได้มีการตักเตือนไปหลายครั้ง เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาผมก็อดทนมาหลายอาทิตย์แล้วไม่ใช่หรือ แต่วันนี้มันมีปัญหาผลกระทบกับการจราจร โรงเรียนที่เขาร้องเรียนเข้ามาจะทำอย่างไร สถานที่ราชการมีกำหนดไว้ว่า ต้องห่างเท่าไหร่ ท่านต้องดูกฎหมายอื่นด้วย ถ้าผมไม่ทำแล้วคนอื่นเดือดร้อนจะทำอย่างไร เมื่อปวงชนชาวไทยต้องการได้รับสิทธิการคุ้มครองของเขาเหมือนกัน ในการสัญจรไปมา ในการจราจรต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพียงการขอคืนพื้นที่ ก็เตือนกันไปหลายครั้งแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับสื่อมวลชน

ต่อมา มีการประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุมต่อต้านการขอคืนพื้นที่ และการจับกุมผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวโดยมีการนัดชุมนุมกัน ในวันที่ 29 มีนาคม ที่หน้า MBK และวันที่ 30 มีนาคม บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

“ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้จัดกำลังตามสถานการณ์ และการข่าวคาดว่าวันนี้ไม่น่าจะมีปัญหาใด ๆ และขอยืนยันว่าในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม การชุมนุมแม้ว่าจะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ก่อเหตุใด ๆ ตำรวจอาจจะไม่บังคับใช้กฎหมายทันที แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีการใช้กฎหมาย และมีการดำเนินคดีในโอกาสต่อไปอย่างแน่นอน” พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวเพิ่มเติม

ศาลอาญาชี้ กรมราชทัณฑ์ต้องคํานึงถึงสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขัง นายอานนท์และพวก

ในวันเดียวกัน ศาลอาญาได้ไต่สวนกรณีที่นายอานนท์ นำภา จำเลยในคดีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ร้องให้ศาลพิจารณาตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่พยายามแยกตัวผู้ต้องขังซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกันกลางดึก โดยอ้างว่า เพื่อต้องการตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยจะสั่งให้ เจ้าหน้าที่เรือนจำระมัดระวังในการดำเนินการไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ถูกฝากขัง

“การกระทําของเจ้าพนักงานเรือนจํา แม้จะไม่ถึงขนาดเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นการกระทําโดยไม่คํานึงถึงสิทธิของผู้ต้องขังอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่นานาอารยประเทศให้การรับรองและคุ้มครอง... การดําเนินการตรวจร่างกายผู้ต้องขัง หรือย้ายสถานที่คุมขังหรือกระทําการใด ๆ กรมราชทัณฑ์จึงต้องดําเนินการในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม สมควร และเป็นไปตามระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต ในฐานะผู้ต้องขัง” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยคำสั่งบางส่วนของศาลบนเว็บไซต์ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง